Sunday, September 25, 2011

การร่างแผนแม่บทไอซีทีฉบับใหม่ ภายใต้กรอบนโยบายไอซีที 2020 (ตอนที่ 1)

ประเทศไทยเริ่มทำแผนแม่บทไอซีทีเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน เริ่มต้นด้วย IT2000 ใช้เป็นกรอบการพัฒนาไอซีทีของประเทศระหว่างปี 1991-2000 กรอบนโยบายไอซีทีฉบับที่ 2 คือ IT2010 ซึ่งเป็นที่มาของแผนแม่บทไอทีสองฉบับ ใช้ในระหว่างปี 2001-2010 และกรอบนโยบายไอซีที 2020 เป็นกรอบไอซีทีฉบับที่ 3 ที่ได้ผ่านความเห็นชอบของครมเมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้ ขณะนี้ กระทรวงไอซีทีอยู่ในระหว่างร่างแผนแม่บทสำหรับปี 2011-2015 (2554-2558) ในช่วงของกรอบนโยบายไอซีที IT2000 มีคนเพียงส่วนน้อยที่รู้ว่าเรามีแผนพัฒนาไอทีอย่างเป็นทางการ เนื่องจากการใช้ไอทียังจำกัดอยู่ในวงแคบ ๆ สิบปีต่อมา ในช่วงของกรอบนโยบายไอที 2010 อินเทอร์เน็ตและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้ขยายความสนใจไอซีทีสู่ประชาชนมากขึ้น กระทรวงและกรมกองต่าง ๆ เริ่มให้ความสำคัญและนำไอซีทีมาใช้งานของทางราชการมากขึ้น และเริ่มอาศัยแผนแม่บทไอทีของชาติ เป็นกรอบการตั้งโครงการและงบประมาณ ภาคอุตสาหกรรมไอซีทีของไทยก็ได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา ถึงแม้จะชลอตัวลงบ้างในช่วงเศรษฐกิจถดถอย แต่โดยเฉลี่ยแล้ว ก็มีการขยายตัวอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงมาตลอด อย่างไรก็ตาม แผนแม่บทเพื่อการพัฒนาการใช้และพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีทีที่ผ่านมาเกิดจากความคิดเห็นของคนกลุ่มน้อย ถึงแม้คณะร่างแผนจะพยายามระดมความคิดเห็นจากคนทุกกลุ่มก็ตาม แต่ข้อมูลจากภาคประชาชนและกลุ่มที่มีส่วนได้เสียนั้นมีน้อยมาก แต่การร่างแผนแม่บทครั้งใหม่นี้ น่าจะแตกต่างกับครั้งก่อน ๆ เนื่องจากเราได้เข้ามาอยู่ในยุคของสื่อสังคม (Social Media) ที่การเชื่อมโยงกันในสังคมนั้น ทั่วถึงและใกล้ชิดกว่าครั้งก่อนมาก เราน่าจะได้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงนี้ เปิดโอกาส และชักชวนให้ร่วมกันเสนอความคิดเห็น เสนอสิ่งที่ตนเองคิดว่าน่าจะเป็นประเด็นสำคัญของการส่งเสริมการใช้ไอซีที ภายใต้กรอบนโยบายไอซีที 2020 ที่กล่าวข้างต้น ผู้ที่ยังไม่ได้ข้อมูลเกี่ยวกับกรอบนโยบายไอซีที 2020 อาจเข้าไปหาอ่านได้ที่เว็บไซท์ของกระทรวงไอซีที (http://www.mict.go.th) ถ้าท่านไม่ต้องการอ่านทั้งฉบับ ผมแนะนำให้อ่านจาก Presentation สั้น ๆ ที่ Slideshare http://slidesha.re/o23o4i

เป็นที่รู้กันว่า ไอซีทีในยุคจากนี้ไป ไม่ใช่ไอซีทีเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในองค์กรเหมือนอย่างเมื่อ 40-50 ปีก่อน แต่เป็นไอซีทีเพื่อการเสริมสร้างพลังให้แก่ปัจเจกบุคคล คือท่านกับผม ที่จะให้เรา ๆ ท่าน ๆ ทั้งหลายได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในทุก ๆ ด้านตั้งแต่การศึกษาของบุตรหลาน การมีส่วนร่วมในทางการเมือง และการค้าการขาย และอื่น ๆ ที่จะทำให้พวกเราสามารถอยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้อย่างสันติสุข ไอซีทีของยุคจากนี้ไป จึงไม่ใช่เป็นเรื่องของกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดโดยเฉพาะ แต่เป็นเรื่องของพวกเราทุกคน จึงจำเป็นที่พวกเราต้องมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นในสิ่งที่พวกเราคิดว่าน่าจะเป็นทิศทางของการพัฒนาศักยภาพด้านไอซีทีของไทยที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพของคนไทย

กรอบนโยบายไอซีที 2020 มีเจ็ดยุทธศาสตร์ และ 43 มาตรการ ครอบคลุมเรื่องตั้งแต่นโยบายโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม การศึกษา การพัฒนาอุตสาหกรรม ด้านเกี่ยวกับทางสังคม และการดูแลสิ่งแวดล้อม นับว่าครอบคลุมค่อนข้างทั่วถึง อย่างเดียวที่เห็นว่าไม่มี คือการใช้ไอซีทีเพื่อพัฒนาระบบการเมืองและประชาธิปไตย

คงยอมรับกันว่า จากนี้ไป อิทธิพลจากสื่อสังคม และเครือข่ายสังคมจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ สื่อสังคมบนพื้นฐานของอินเทอร์เน็ตทำให้รูปแบบการทำธุรกิจ การเรียนการสอน การปกครอง และการอยู่ร่วมกันในสังคมจะเปลืองแปลงอย่างมาก สิ่งที่พวกเรายังขาดมาก คือทักษะการอยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกัน คนเรายังขาดสมรรถนะของการทำอะไรต่ออะไรร่วมกัน และเป็นคุณสมบัติสำคัญของสังคมใหม่ภายใต้อิทธิพลของไอซีที หลายคนอาจถามว่า มันสำคัญอย่างไรที่ต้องทำงานร่วมกันกับคนอื่น เราอยู่ในสังคมที่ต่างคนต่างอยู่ก็ดีแล้ว ทุกวันนี้ เรามีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ ให้ทุกคนเพียงทำหน้าที่ที่รับผิดชอบให้ดีก็น่าจะเพียงพอ เราก็ได้อยู่กันแบบนี้มาเป็นร้อย ๆ ปีแล้วไม่ใช่หรือ ท่านที่คิดเช่นนี้ คงลืมไปว่า เมื่อก่อน สังคมเราไม่มี Twitter ไม่มี Foursquare ไม่มี Facebook และไม่มีอีกหลาย ๆ อย่างที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ภายใต้ชื่อว่าสื่อสังคม โลกเราไม่แคบเหมือนแต่ก่อน ยุคการทำงานโดยลำพัง คิดโดยลำพัง แก้ปัญหาโดยลำพัง ทำนวัตกรรมโดยลำพัง และอะไรต่อมิอะไรโดยลำพัง คงจะทำอะไรไม่รวดเร็วและทันที่จะแข่งขันกับคนอื่น คนนับล้าน ๆ คนที่มีความรู้และประสบการณ์หลากหลายทั่วโลกพร้อมที่จะให้เรานำมาสร้างประโยชน์ได้ ถ้าเรารู้วิธีที่จะเชื่อมโยงกับเขา และทำงานร่วมกันกับเขา ทรัพยากรเหล่านี้ มีคุณค่ามหาศาลถ้าเรารู้วิธีที่จะเข้าถึงและนำมาใช้ให้ก่อเกิดประโยชน์ ฝรั่งใช้คำว่า Nimble สื่อให้เห็นว่า ถ้าจะอยู่ในสังคมใหม่นี้ต่อไป เราต้องรวดเร็ว และเฉียบแหลม เราจะต้องวางกรอบพัฒนาภายในแผนแม่บทไอซีทีฉบับใหม่อย่างไร จึงจะทำให้คนไทยทั้งประเทศได้ตระหนักว่า จากนี้ไป เราต้อง Nimble กันทุกคน และในทุกโอกาส ไหน ๆ เราก็คงหนีไม่พ้นที่จะอยู่กับสื่อสังคมจากนี้เป็นต้นไป ทำไม่เราไม่ใช้สื่อสังคมเพื่อร่วมกันระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาแผนแม่บทไอซีทีฉบับใหม่ โดยไม่ต้องรอให้กระทรวงไอซีทีเรียกประชุมทุกครั้ง เราเริ่ม Nimble ด้วยกันเลยดีไหม

ผมจะเริ่มชวนท่านคุยเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ที่ 2 ผ่านสื่อสังคมในตอนต่อไป เป็นยุทธศาสตร์ว่าด้วยเรื่องการพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์และใช้สารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเรื่องใหญ่ที่ส่วนตัว คิดว่าสำคัญที่สุดในยุคนี้

No comments:

Post a Comment