เรายังอยู่ระหว่างการพูดคุยกันใน ยุทธศาสตร์ที่ 2 ว่าด้วยการพัฒนาทุนมนุษย์ด้านไอซีที ภายใต้กรอบนโยบายไอซีที ICT2020 ในสามตอนแรก เราพยายามพูดถึง การพัฒนาทุนมนุษย์ไอซีทีในยุคใหม่ว่า จำเป็นต้องเข้าใจทิศทางการเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจและสังคม ที่สืบเนื่องจากอิทธิพลของไอซีที และชี้ให้เห็นว่า ไอซีทีจากนี้ไป ไม่เพียงถูกใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรเหมือนอดีต แต่เป็นเรื่องการใช้ไอซีทีเพื่อเชื่อมโยงกับชุมชนของตลาด และชุมชนที่มีความรู้ เพื่อสร้างประสิทธิพลแก่ธุรกิจ ด้วยวิธีร่วมมือกัน อาศัยทรัพยากรของกันและกัน เพื่อร่วมสร้างคุณค่าในบริบทของบริการมากขึ้น ทำให้เห็นว่า เป้าหมายข้อที่ 2 ที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ที่ 2 เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก และต้องทำให้สำเร็จ เป้าหมายข้อที่ 2 เขียนไว้ว่า “ผู้ประกอบการและแรงงานทั่วไป (General Workforce) มีความรู้และทักษะในการใช้งาน ICT (ICT Literacy) มีความรอบรู้สารสนเทศ (Information Literacy) และรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) และสามารถใช้ ICT เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนธุรกิจและสร้างนวัตกรรมด้านสินค้าและบริการ”
เรากำลังให้ความสำคัญกับการศึกษา และการฝึกวิชาด้านไอซีที เพื่อให้ General Workforce ที่มีจำนวนหลายล้านคน ให้มี ICT Literacy, Information Literacy และ New Media Literacy เพื่อให้สามารถนำมาใช้ขับเคลื่อนธุรกิจและสร้างนวัตกรรมด้านสินค้าและบริการ ตามแนวคิดที่ได้กล่าวมาแล้วในสามตอนแรก สิ่งนี้ตรงกับ ความคิดของนักคิดคนอื่น ๆ ที่กำลังให้ความสำคัญกับเรื่อง Consumertization IT วิกิพีเดียให้ความหมายว่า Comsumertization IT เป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวโน้มที่ ICT กลุ่มใหม่ เริ่มถูกนำมาใช้จากตลาดของผู้บริโภค แล้วกระจายเข้าสู่ตลาดองค์กร ตัวอย่างเช่น โทรศัพท์สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตพีซี รวมทั้งเทคโนโลยีระดับผู้บริโภคอื่น ๆ เช่น Social computing, Shadow IT technology ฯลฯ ทั้งหมดนี้ จะต้องอาศัยเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ที่แตกต่างจากกลุ่มEnterprise software เดิม การใช้เทคโนโลยีกลุ่มใหม่นี้จะอยู่นอกเหนือการควบคุมและรับผิดชอบจากหน่วยงานดูแลไอทีขององค์กรซึ่งเป็นส่วนงานกลางเป็นส่วนใหญ่ หมายความว่า คนทำงานที่เป็น General Workforce จะต้องมีความรู้ด้านไอซีทีในระดับหนึ่ง มีความเข้าใจและทักษะใช้ไอซีทีขับเคลื่อนธุรกิจและสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจได้ วิธีที่ต้องจัดสอนให้คนกลุ่มนี้ จะเป็นวิชาแบบสหวิทยาการ ผสมผสานระหว่างบริหารทั่วไป บริหารธุรกิจ และไอซีทีเป็นแกนหลัก
ในอดีต องค์กรส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องจัดทำยุทธศาสตร์ไอซีทีให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของธุรกิจ (ICT-Business Strategic Alignment) เนื่องจากองค์กรส่วนใหญ่ไม่มี CIO และผู้ทำแผนธุรกิจมักไม่มีความรู้ด้านไอซีที ในทำนองเดียวกัน คนไอซีทีกับไม่รู้เรื่องธุรกิจ แต่เราตั้งความหวังว่า จากนี้ไป นักธุรกิจที่จะรับผิดชอบเรื่องกำหนดยุทธศาสตร์ของธุรกิจ จะต้องมี ICT Literacy เพียงพอที่จะทำยุทธศาสตร์ของธุรกิจสอดคล้องกับไอซีที ในบริบทของการบริหารจัดการกับลูกค้าและชุมชนนอกองค์กรได้ นอกจากนี้ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ยังต้องเร่งสร้างซอฟต์แวร์ ระดับที่เรียกว่า Shadow IT Application ที่ใช้ง่าย และผู้ใช้ที่ไม่ใช่ ICT Professional สามารถทำ Configuration และ Integrate เพื่อใช้สำหรับตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญไอซีที ในขณะนี้ เรามีซอฟต์แวร์ประเภทที่กล่าว ใช้กับเครื่องสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตพีซี มากมาย “Shadow IT” หมายถึงกลุ่มซอฟต์แวร์ที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้กันเองภายในหน่วยงาน แบบง่าย ๆ โดยไม่ผ่านกระบวนการอนุมัติจากหน่วยงานกลาง ส่วนใหญ่ทำขึ้นตามความต้องการของผู้ใช้ และเป็นซอฟต์แวร์ประเภท “Good enough” คือลงทุนไม่มาก มีคุณภาพพอใช้งานได้ ไม่ต้องผ่านกระบวนการ Quality control และเพื่อวัตถุประสงค์เพื่อตอบโจทย์เฉพาะเรื่อง ตามเหตุการณ์ (Situational Application)
การส่งเสริมให้ใช้ Shadow IT มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ ทำให้คนทำงานมีความคล่องตัว ที่นำไปสู่การตอบสนองตลาด และตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีกว่า และรวดเร็วขึ้น อันเป็นคุณสมบัติของธุรกิจที่เริ่มเน้นความสำคัญของ “บริการ” ทำให้องค์กร “Nimble” ตามที่ได้กล่าวมากบ้างแล้วตอนต้น ๆ แต่ข้อเสีย คือปัญหาด้านการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของการใช้ไอซีทีในองค์กร เนื่องจากระบบงานแบบ Situational Application เหล่านี้ ไม่ได้ผ่านการควบคุมของหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบไอซีที เมื่อเป็นเช่นนี้ การเสริมสร้างความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ระดับปฎิบัติงานที่ไม่ใช้ ICT Professional จึงมีความสำคัญมาก ยิ่งมีโอกาสได้เรียนรู้มาก ยิ่งจะทำให้ลดความเสี่ยงในด้านปัญหาคุณภาพและความไม่ปลอดภัย แต่ถามว่า องค์กรจะหันหลังให้กับ Shadow IT ได้หรือไม่ เพื่อตัดปัญหา คำตอบคือ ไม่น่าเป็นทางเลือกที่ดี เพราะเราจะไม่ Nimble และเสียโอกาส และอาจแข่งขันกับคนอื่นยากภายใต้เศรษฐกิจยุคใหม่
ถ้าประเทศไทยจะส่งเสริมให้คนทำงานมี ICT Literacy ในระดับที่แข่งขันได้ ต้องมีแผนพัฒนาให้คนงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นระดับกลาง และระดับสูง เนื่องจากคนทำงานที่เข้าสู่ตลาดแรงงานยุคใหม่ หรือคนทำงานระดับเริ่มต้น จะมีทักษะด้านไอซีทีดีขึ้นกว่ารุ่นก่อน ๆ แต่เราจะพัฒนาคนทำงานระดับกลางและระดับสูงเป็นจำนวนหลาย ๆ แสนคน หรือหลายล้านคน ในช่วงสิบปีตามกรอบนโยบายไอซีที ICT2020 ได้อย่างไร ภายใต้เงื่อนไขว่า ต้องไม่รบกวนเวลาการทำงานมากเกินไป และมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูง คือไม่เป็นภาระจนทำให้คนหันหลังให้กับแนวคิดการพัฒนาแรงงานให้มี ICT Literacy ในระดับที่จำเป็นเพื่อการปฎิรูปธุรกิจตามแนวทางที่ได้กล่าวมาแล้วตอนต้น ๆ
คราวหน้า ผมจะเสนอวิธีการเพือพัฒนาองค์ความรู้ด้านไอทีให้ได้ Scale เป็นการ Kick off ให้ท่านได้ช่วยแสดงความคิดเห็น เผื่อจะได้ข้อแนะนำดี ๆ สำหรับคณะร่างแผนแม่บทไอซีทีฉบับใหม่
No comments:
Post a Comment