บทความตอนที่ 4 ภายใต้หัวข้อ “Cyber-Physical
System” ได้กล่าวถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลยุคใหม่เชื่อมโยงสิ่งต่าง
ๆ ในโลกกายภาพด้วยซอฟต์แวร์ในวงกว้าง เป็นผลให้เกิดระบบทำงานแบบอัตโนมัติมิติใหม่ที่สามารถปรับรูปแบบการทำงานตามความเหมาะสมจนนำไปสู่การปฏิรูปธุรกิจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
เป้าหมายของการปฏิรูปนี้จะเน้นการปฏิสัมพันธ์กับเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดคุณค่า (Value creation) แก่ผู้บริโภคและผู้ที่เกี่ยวข้อง
บทความตอนที่ 5 นี้จะกล่าวถึงบทบาทของชั้น “Digital
Layer” หรือ “Digital World” ในโลกธุรกิจสมัยใหม่
3. บทบาทของชั้นดิจิทัล (Digital Layer) ในโลกธุรกิจสมัยใหม่
ตามที่ได้กล่าวมาตอนต้นว่าธุรกิจจากนี้ไปจะถูกออกแบบให้ทำงานอยู่ในโลกสองใบ
คือโลกดิจิทัล (Digital หรือ Cyber
World) และโลกกายภาพใบเดิม (Physical World) โลกชั้นดิจิทัลเป็นโลกของข้อมูลและซอฟต์แวร์ที่ถูกออกแบบให้ทำงานแทนมนุษย์และสามารถปฏิสัมพันธ์กับเครื่องจักรและสรรพสิ่งได้ผ่านอุปกรณ์เช่น
Sensors และ Actuators และเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์อื่น
ๆ ที่อยู่ในกลุ่ม Internet of Things (IoT)
ภาพที่แสดงข้างต้นสื่อให้เห็นว่า
IoT จะทำหน้าที่สร้างข้อมูลที่เกี่ยวกับสรรพสิ่งในโลกกายภาพโดยตรง
เช่นตัวสินค้า ส่วนประกอบในการบริการโลจิสติกส์ เครื่องจักรในโรงงาน ฯลฯ ตัวสินค้าสามารถบอกตำแหน่งของตนเองภายในคลังสินค้า
หรือสินค้าที่บรรทุกอยู่ในรถขนส่งสามารถระบุตำแหน่งในขณะขนส่งรวมทั้งประมาณการณ์ได้ว่าจะถึงตำแหน่งของผู้รับสินค้าภายในอีกกี่ชั่วโมง
ข้อมูลเหล่านี้เมื่อถูกสร้างขึ้นแล้วก็จะไปปรากฏอยู่ในโลกดิจิทัล ระบบซอฟต์แวร์ที่สร้างขึ้นเพื่อนำข้อมูลมาประมวลผลจะทำให้การประสานการทำงานในโลกกายภาพมีประสิทธิผลอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ข้อมูลในโลกดิจิทัลรวมกับระบบซอฟต์แวร์เมื่อเชื่อมโยงกับระบบการทำงานในโลกกายภาพที่แพร่กระจายอยู่ทั่วทั้งโลก
จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินการไปในลักษณะ Intelligent มากขึ้นและทำได้กว้างไกลมากขึ้นดังจะบรรยายต่อไป
ระบบ Cyber-Physical System
(CPS) นอกจากจะพบในระบบงานที่สลับสับซ้อนเช่นรถยนต์สมัยใหม่
ระบบบริการจ่ายกระแสไฟฟ้า ระบบบริการสุขภาพในโรงพยาบาลที่ทันสมัย
จนถึงระบบเครื่องจักรกลสมัยใหม่ที่พบในโรงงานขนาดใหญ่ ยังจะพบได้ในระบบงานโลจิสติกส์และระบบห่วงโซ่อุปทานห่วงโซ่อุปสงค์สมัยใหม่ด้วย
ที่ผ่านมาระบบห่วงโซ่อุปทานทำหน้าที่เพียงแค่จัดหาวัสดุป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิต
แล้วส่งผลผลิตต่อให้ลูกค้า การบริการโลจิสติกส์เน้นการขนส่งสินค้า
และห่วงโซ่อุปสงค์เน้นการจำหน่ายสินค้าและบริการหลังการขาย
แต่พัฒนาการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้ธุรกิจต้องทบทวนกลยุทธ์เพื่อการแข่งขันใหม่ด้วยมาตรการสร้างคุณค่า
(Value) ในทุกขั้นตอน มาตรการที่กล่าวรวมตั้งแต่การทำให้เครื่องมือและเครื่องจักรที่ทำงานด้านการผลิตและอื่น
ๆ รู้จักคิดด้วยตัวเอง
ในขณะที่สินค้าที่ผลิตนั้นต้องรู้เส้นทางเดินของตนเองจากสายการผลิตไปสู่ผู้บริโภค หลักคิดของ “Self-Control” ทั้งในระดับเครื่องจักรกล เครื่องไม้เครื่องมือ และสินค้าที่รู้สถานภาพของตนเอง
และปรับสถานภาพของตนเองในกระบวนการธุรกิจให้เหมาะสมได้ เป็นจุดต่างที่สำคัญระหว่างรูปแบบธุรกิจเก่าและใหม่
IoT ทำหน้าที่ส่งข้อมูลบอกสถานภาพของสิ่งต่าง
ๆ ในโลกกายภาพไปประมวลผลในโลกดิจิทัลทำให้คุณลักษณะของระบบธุรกิจเริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างน้อยดังต่อไปนี้
1) ทรัพยากรทุกอย่างที่มีตัวตนจะถูกฝังด้วย Sensors, actuators, RFID, QR code และอื่น ๆ
ทำให้สิ่งที่มีตัวตนเหล่านี้มีความสามารถเพิ่มขึ้นจากข้อมูลและซอฟต์แวร์ที่เชื่อมโยงกัน
2) การเชื่อมโยงกันผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั้งระบบสายและไร้สาย
ทำให้กระบวนการทางธุรกิจสื่อสารกันกับทุกส่วนของธุรกิจในวงกว้างทั่วทั้งโลกได้ ทำให้ธุรกิจทุกชนิดและทุกขนาดเป็นส่วนหนึ่งของ
Global Value Chain
3) ด้วยความสามารถของซอฟต์แวร์ ทุกส่วนของธุรกิจสามารถปรับเปลี่ยนสถานภาพของตนเองได้อย่างเหมาะสม
(Dynamically Re-configuration) เช่นห้างสรรพสินค้าที่อยู่ในระหว่างรายการส่งเสริมการขายพิเศษ
(Sales Promotion) สามารถปรับเปลี่ยนสถานภาพของสินค้าคงคลังให้เหมาะสมร่วมกับโรงงานผู้ผลิตตามปริมาณที่ขายได้จริงแบบเรียลไทม์
4) กระบวนการทางธุรกิจสามารถเพิ่มความเป็นอัตโนมัติได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น
ระบบซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่จัดซื้อวัสดุอาศัยข้อมูลจากสายการผลิตร่วมกับข้อมูลจากคลังสินค้าและประวัติการสั่งซื้อจากระบบจัดซื้อ
แล้วพิจารณาสั่งซื้อสินค้าจากผู้จำหน่ายที่เหมาะสมที่สุดด้วยระบบซอฟต์แวร์เอง
ความสามารถเชื่อมโยงกันในระหว่างกระบวนการธุรกิจ และความสามารถสื่อสารข้อมูลในทุก
ๆ ขั้นตอนตลอดห่วงโซ่คุณค่า ทำให้ธุรกิจผลิตสินค้าตามสั่งในรูปแบบ Mass Customization ได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำพอ ๆ
กันกับ Mass Production ทั้งหมดนำไปสู่การบริหารจัดการธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นรายบุคคล
(Personalized value creation) ในที่สุด
ชั้นดิจิทัล (Digital
Layer) ในธุรกิจสมัยใหม่จึงมีบทบาทสำคัญมาก เพราะเป็นที่เกิดของนวัตกรรมใหม่
ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริการที่อาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Services) นวัตกรรมที่นำไปสู่การปฏิรูปทางธุรกิจอย่างหนึ่งคือการทำ “Servitization”
ซึ่งก็คือแนวความคิดเกี่ยวกับการเพิ่มบริการดิจิทัลบนสินค้าและบริการที่จัดจำหน่ายในปัจจุบัน
ทำให้ผู้บริโภคได้คุณค่ามากขึ้น เช่นร้านอาหารเพิ่มบริการจองโต๊ะด้วยการขอบัตรคิวผ่าน
Mobile apps การขอบัตรคิวจาก Mobile apps ถือได้ว่าเป็น Digital Service ที่ให้บริการบน Digital
Layer และเชื่อมโยงกับธุรกิจเดิมบน Physical layer (world) ผ่านโทรศัพท์มือถือ การให้บริการ Google map นำทางถือได้ว่าเป็น
Digital service ที่ช่วยให้คนใช้รถยนต์ได้คุณค่าเพิ่มขึ้นมหาศาล
การใช้ RFID ติดบนสินค้าระดับ SKU ช่วยการติดตามตำแหน่งของสินค้าในคลังสินค้าเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของ
Digital service ที่ช่วยการจัดการสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างที่กล่าวเป็นการสร้างบริการดิจิทัลทำงานด้วยข้อมูลบนระดับ Digital
layer เชื่อมโยงกับสินค้า เครื่องมือ เครื่องจักร โดยเฉพาะยานพาหนะบนโลกกายภาพทำให้กระบวนการทำธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปบนพื้นฐานการออกแบบระบบ
Cyber-Physical System
กระบวนการทำงานต่าง ๆ ภายใต้ห่วงโซ่คุณค่าเป็นกระบวนการหลัก
(Core processes) ที่สำคัญของธุรกิจทุกชนิดทุกขนาด
เมื่อนำความคิดของ Cyber-Physical System มาประยุกต์ใช้จะเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจได้อย่างมากอย่างน้อยดังนี้
1) ทำให้เกิด Visibility
หรือการมองเห็นในทุกขั้นตอนของกระบวนการทำงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า
ข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นด้วยเทคนิคของ IoT ที่ปรากฏอยู่ในระดับ
Digital layer นอกจากจะช่วยให้ธุรกิจรู้สถานภาพของวัสดุและสินค้าในระหว่างการผลิต
ยังสามารถรับรู้สถานภาพของวัสดุและสินค้าคงคลังของลูกค้าได้ด้วย ทำให้ธุรกิจเสนอบริการจัดการสินค้าคงคลังให้ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด
โดยเฉพาะเสนอให้บริการ Replenishment หรือบริการเติมเต็มวัสดุและสินค้าตามความจำเป็นแบบเรียวไทม์ได้
2) สร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดลูกค้า (Customer intimacy) ในยุคของดิจิทัลที่สามารถเชื่อมโยงกับทุกสิ่งทุกอย่างผ่านอินเทอร์เน็ต
Internet of Customers (IoC) กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของการแข่งขัน
IoC เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับลูกค้านอกจากจะช่วยให้รู้ความต้องการของรู้ค้าเพื่อจะได้จัดหา
Digital services ที่ช่วยสร้างคุณค่าให้ลูกค้าได้ ยังเปิดโอกาสให้ธุรกิจปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อบริการลูกค้าด้วยวิธี
Customization คือให้ลูกค้ามีโอกาสเสนอความต้องการในเชิงต้นแบบของสินค้าและบริการได้
3) ขยายขอบเขตธุรกิจสู่สากล (Globalization) ธุรกิจที่ออกแบบระบบให้ทำงานอยู่ในโลกสองใบสามารถขยาย
Market reach หรือขยายตลาดให้กว้างไกลสู่สากลได้โดยง่าย ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทและสินค้าและบริการของธุรกิจถูกค้นพบจากคนได้ทั่วทั้งโลก
เป็นเหตุให้ขยายตลาดได้อย่างไม่มีขอบเขตและไม่พึ่งพาพ่อค้าคนกลาง ห่วงโซ่อุปทานจากนี้ไปจะเป็นธุรกิจที่เข้าตรงได้ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
นำมาสู่การเพิ่มยอดขายและผลกำไรในที่สุด
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น IoT จึงถูกมองว่าเป็นพัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจอย่างมาก
IoT สนับสนุนแนวคิดของ Cyber-Physical System (CPS) ที่เชื่อมโยงเวทีของธุรกิจที่ปรากฏอยู่ในโลกสองใบ คือโลกดิจิทัลและโลกกายภาพ
นำไปสู่การพัฒนาเวทีการค้าโลกครั้งสำคัญคือเวทีการค้า “Global Value Chain (GVC)”
ของศตวรรษที่ 21
No comments:
Post a Comment