บทความตอนที่สามได้พูดถึงแนวคิดของการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ
(Economic Transformation) และการปฏิรูปแนวทางการทำธุรกิจ
(Business Transformation) ที่เกิดจากอิทธิพลของพัฒนาการด้านเทคโนโลยีดิจิทัล
ตอนที่ 4 นี้ ภายใต้หัวข้อ
“Cyber-Physical
System” จะกล่าวถึงเรื่องการปรับเปลี่ยนแนวทางการทำธุรกิจที่อาศัย
Internet
of Everything (IoE) ช่วยเชื่อมโยงการทำธุรกิจในโลกไซเบอร์และโลกกายภาพที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจครั้งใหญ่
อันเป็นวิธีหนึ่งที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการทำธุรกิจและการปฏิรูปทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญ
Cyber-Physical System
(CPS)
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าจากนี้ไปคนเราจะทำธุรกิจในโลกสองใบ คือโลกดิจิทัล
หรือโลกไซเบอร์ (Cyber World) และโลกกายภาพ (Physical World) โดยโลกไซเบอร์จะทำงานส่วนที่เกี่ยวกับข้อมูล เช่นข้อมูลเกี่ยวกับตัวสินค้าและลูกค้า
กระบวนการที่เกี่ยวกับการทำงานด้านต่าง ๆ ในรูปซอฟต์แวร์
เช่นกระบวนการสั่งซื้อสินค้าและกระบวนการชำระเงิน และบริการงานด้านต่าง ๆ
ที่อยู่รูปของซอฟต์แวร์เช่นบริการตรวจสอบสถานภาพสินค้าคงคลังและบริการสั่งจ่ายเงินจากบัญชีในธนาคาร โลกไซเบอร์มีรูปแบบที่ประกอบด้วยระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงกันและส่วนใหญ่เป็นการเชื่อมโยงผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
โดยเฉพาะเครือข่ายบริการที่มีลักษณะบริการคลาวด์ (Cloud services) หรือที่เรียกันว่า “Cyber in Cloud” โลกไซเบอร์ในอนาคตยังจะรวมทั้งส่วนที่ทำงานเป็นดิจิทัลภายในตัวเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง
ๆ ในลักษณะของ Embedded Systems เช่นระบบซอฟต์แวร์ที่ฝังตัวเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องจักรที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานส่วนต่าง
ๆ รวมทั้งเฝ้าติดตามการทำงานของตัวเครื่องจักร ระบบซอฟต์แวร์ที่ฝังตัวในเครื่องจักรถูกเรียกว่า
“Cyber on Devices” พัฒนาการด้านซอฟต์แวร์ฝังตัวในเครื่องจักรและอุปกรณ์จะก้าวหน้าต่อไปอย่างมากจนถึงขั้นที่เครื่องจักรและอุปกรณ์กลายเป็นส่วนหนึ่งของการบริการภายใต้การทำงานของ
Business processes ที่มีลักษณะเป็นระบบซอฟต์แวร์ ทำให้สามารถออกแบบกระบวนการผลิตให้มีลักษณะครบวงจรที่ทำให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพและประหยัดมากขึ้น
ในส่วนที่เป็นโลกกายภาพนั้น เป็นส่วนที่ประกอบด้วยสรรพสิ่งที่เป็นกายภาพ
ตั้งแต่เครื่องจักร อุปกรณ์ สินค้า วัสดุ สถานที่ทำงาน รวมทั้งคนด้วย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เช่น
Sensor (ทำหน้าที่รับและส่งสัญญาณข้อมูลจากอุปกรณ์ไปสู่ภายนอก)
หรือ Actuator (อุปกรณ์ที่ขับเคลื่อนให้อุปกรณ์ทำงาน
หรือกระตุ้นให้เกิดการทำงานได้) เป็นอุปกรณ์ฝังตัวชนิดหนึ่งที่ช่วยเชื่อมโยงสิ่งที่มีกายภาพเข้ากับระบบข้อมูลและระบบซอฟต์แวร์ในโลกไซเบอร์เพื่อทำให้กระบวนการในโลกทั้งสองใบทำงานเป็นระบบเดียวกัน
โดยสิ่งที่อยู่ในโลกกายภาพทำหน้าที่ผลิตสินค้าและประกอบกิจการต่าง ๆ
ที่เกี่ยวกับด้านกายภาพ เช่นผลิตสินค้าและขนส่งสินค้า
ในขณะที่ระบบข้อมูลและซอฟต์แวร์ในโลกไซเบอร์เป็นส่วนต่อเติมความฉลาดและกระบวนการอัตโนมัติเพื่อให้ระบบงานในโลกกายภาพมีประสิทธิภาพ
เพิ่มผลิตภาพและมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น
Cyber-Physical
System (CPS) จึงหมายถึงระบบงานที่รวมการทำงานในโลกไซเบอร์
คือ Cyber in Cloud และ Cyber on Devices และระบบงานที่ทำงานโดยอาศัยสรรพสิ่งที่มีกายภาพภายในโลกกายภาพตามที่กล่าวข้างต้น
เป้าหมายหลักของระบบ CPS คือทำให้ทุกสิ่งอย่างในโลกกายภาพอยู่ในรูปแบบที่จัดการได้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลหรือไอที
และเมื่อทำงานบูรณาการกับซอฟต์แวร์และข้อมูลในโลกไซเบอร์จะทำให้สรรพสิ่งบนโลกกายภาพมีความฉลาดมากขึ้น
นำไปสู่การสร้างผลผลิตใหม่ ๆ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน CPS จึงเป็นระบบงานที่จะถูกออกแบบให้รองรับแนวคิดใหม่ ๆ เพื่อช่วยพัฒนาระบบเศรษฐกิจของโลกไปในทิศทางที่จะช่วยแบ่งปันทรัพยากร
(Resource sharing) มีการร่วมมือกัน (Collaborative) และร่วมกันสร้างคุณค่า (Value co-creation) เพื่อทำให้ระบบเศรษฐกิจมีความยั่งยืนมากขึ้น
(A sustainable economy)
ตัวอย่างของ CPS: การบริการในร้านขายก๊วยเตี๋ยว
ร้านขายก๊วยเตี๋ยวยอดนิยมมักจะพบปัญหาช่วงที่มีลูกค้าเข้าร้านพร้อมกันจำนวนมาก
ๆ ความสับสนเกิดขึ้นตั้งแต่การรับใบสั่ง ซึ่งแต่ละคนมักมีความต้องการแตกต่างกัน
บ้างต้องการก๊วยเตี๋ยวแห้ง บ้างก๊วยเตี๋ยวน้ำ ใส่ถั่วงอก ไม่ใส่ถั่วงอก
ต้นยำบ้างไม่ยำบ้าง เส้นเล็กบ้าง เส้นใหญ่บ้าง หรือเกาเหลาไม่เส้นไม่งอก
นอกจากนี้ ยังมีบริการน้ำดื่มหลากหลายชนิดที่เพิ่มความสับสนมากยิงขึ้น
ทั้งหมดนี้เป็นการบริการ Customization เต็มรูปแบบ
ลูกค้านอกจากต้องยืนรอคิวคอยโต๊ะว่าง ยังมีปัญหาว่าเมื่อได้ที่นั่งแล้ว
อาจได้อาหารไม่ตรงตามสั่งเนื่องจากความสับสนที่เกิดจากคนทำและคนบริการ จุดสับสนที่สร้างความไม่พอใจให้ลูกค้ามีได้ในทุก
ๆ จุดตลอดทั้งกระบวนการบริการ ตั้งแต่ยืนรอคิว การรับใบสั่ง การบริการอาหารจนถึงการชำระเงิน
ปัญหาทั้งหมดเป็นจุดอ่อนของระบบงานที่ทำงานภายในโลกกายภาพตามลำพัง
และเกิดจากข้อจำกัดของมนุษย์
CPS ช่วยลดความสับสนได้ ในกรณีนี้เก้าอี้ทุกตัว โต๊ะทุกตัว
ชามก๊วยเตี๋ยวทุกใบในร้านจะถูกติดด้วย sensors ให้เป็นส่วนหนึ่งของ
Internet of Things (IoT) เมื่อลูกค้าเดินเข้าร้าน (เพื่อง่ายต่อการอธิบาย สมมุติว่าไม่มีการจองโต๊ะล่วงหน้า ลูกค้ามาคนเดียวและไม่ต้องรอคิว)
ทางร้านจะจับสัญญาณจากเครื่องโทรศัพท์มือถือ
และโยงชื่อหรือเลขรหัสลูกค้าเข้ากับเบอร์โต๊ะและเบอร์เก้าอี้
ข้อมูลทั้งหมดถูกส่งไปเก็บไว้ใน Cloud ลูกค้าเลือกรายการและสั่งซื้อได้จากเครื่องโทรศัพท์มือถือ
รายการที่สั่งจะเก็บรวมกับเลขรหัสเก้าอี้และโต๊ะ
รายการสั่งจะเข้าคิวก่อนหลังเพื่อรอการปรุงต่อไป คนปรุงก๊วยเตี๋ยวในครัวจะทำตามรายการในใบสั่งที่ปรากฏอยู่บนแผง
LED ชามหรือภาชนะที่ใส่อาหารจะทำหน้าที่เชื่อมโยงกับเลขที่เก้าอี้และเลขที่โต๊ะโดยอัตโนมัติ
เมื่อปรุงเสร็จและวางภาชนะในตำแหน่งที่มีตัวรับสัญญาณ ลูกค้าก็จะรับแจ้งว่าอาหารที่สั่งนั้นปรุงเสร็จแล้วและกำลังจะถูกนำมาเสิร์ฟ
พนักงานบริการก็จะอ่านข้อความได้จากตำแหน่งที่วางภาชนะว่าอาหารต้องนำไปเสิร์ฟที่เก้าอี้และโต๊ะตัวใด เมื่อบริโภคเสร็จ
ลูกค้าก็ชำระเงินได้ผ่านระบบ e-Payment จากเครื่องโทรศัพท์มือถือได้ทันที
การบริการตลอดทั้งกระบวนการจากต้นจนจบเป็นไปอย่างเรียบง่าย
รวดเร็วและไม่สับสนเป็นเพราะการทำงานร่วมกันระหว่าง Cyber และ
Physical
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นตัวอย่างสมมุติการทำงานของ CPS โดยมี IoT เป็นตัวกลางเชื่อมโยงการทำงานของโลกไซเบอร์และโลกกายภาพ
ข้อมูลที่เกี่ยวข้องจะถูกนำไปเก็บไว้ในโลกไซเบอร์ Cyber in
Cloud ส่วนกิจกรรมเกี่ยวกับการซื้อขายก๊วยเตี๋ยวนั้นยังคงดำเนินต่อไปในโลกกายภาพ
แต่ด้วย IoT เราสามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลเฉพาะตัวของลูกค้า
กับตำแหน่งที่นั่งในร้าน
รวมทั้งตัวภาชนะที่ใส่อาหารให้ไปปรากฏอยู่ในโลกไซเบอร์
ทำให้ระบบการทำงานที่รวมกิจกรรมทั้งสองโลกสามารถช่วยแก้ความสับสนได้ เป็นแนวคิดของการออกแบบกระบวนการทำงานใหม่ที่สร้างคุณค่าโดยแท้จริง
|
1. รูปแบบการใช้ Cyber-Physical
System (CPS) ในธุรกิจ
CPS ถูกออกแบบให้ทำงานตั้งแต่งานที่มีความยุ่งยากสลับซับซ้อนไปจนถึงระบบงานง่าย
ๆ พัฒนาการของ CPS ดำเนินไปตามแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีที่นับว่าจะเพิ่มความสามารถมากยิ่งขึ้น
ยานพาหนะรุ่นใหม่ที่ไร้คนขับเป็นตัวอย่างของ Cyber-Physical System ที่มีความสลับซับซ้อนมาก ระบบ CPS ที่ติดตั้งระบบ Sensors
ตลอดแนวสะพานขนาดใหญ่เพื่อคอยจับวัดความสั่นสะเทือนและความตึงเครียดของคอนกรีตและเหล็กที่รับน้ำหนักของสะพาน
แล้วทำการวิเคราะห์ถึงความผิดปกติของสะพานอย่างต่อเนื่องเพื่อหามาตรการแก้ไขก่อนจะเกิดปัญหาจนเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน
ระบบตรวจสอบย้อนกลับของอาหาร
(Food Traceability) ถือได้ว่าเป็นระบบ Cyber-Physical
System เช่นกัน อาหารที่เป็นสินค้ากายภาพแต่ละชิ้นมีรหัสแท่งหรือรหัส
QR ติดประจำตัวอยู่ เมื่อเราอ่านรหัสแท่งหรือ QR ก็จะเชื่อมโยงสินค้ากับโลกไซเบอร์ที่เป็นระบบฐานข้อมูลกลางสินค้าที่บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าชนิดต่าง
ๆ เช่นข้อมูลด้านอาหารและยา
ข้อมูลเกี่ยวกับทะเบียนอาหารฮาลาล ฯลฯ เราสามารถโปรแกรมให้นำข้อมูลนี้ตรวจสอบการปลอมแปลงของอาหารและยา
รวมทั้งตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพของวัสดุที่ต้องใช้ตามข้อกำหนดในทุก ๆ
ขั้นตอนของการผลิต นอกจากนี้เรายังสามารถสร้างกระบวนการในรูปบริการซอฟต์แวร์ที่จะทำงานได้โดยอัตโนมัติภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด
เช่นถ้าพบอาหารปลอมแปลง
ก็ให้รวบรวมหลักฐานส่งไปยังหน่วยงานที่รับเรื่องการร้องเรียนเพื่อดำเนินการลงโทษตามขั้นตอนต่อไป
ระบบบริการรถแท็กซี่สมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Uber หรือ Grab (GrabTaxi) หรือการบริการเช่ารถสมัยใหม่อื่น ๆ เป็นการบริการในระบบ Cyber
Physical System เช่นกัน ส่วนให้บริการที่อยู่ในโลกกายภาพยังคงเป็นคนขับรถและตัวรถยนต์
และมีผู้โดยสารเป็นส่วนประกอบของกิจการในโลกกายภาพ ส่วนการบริการที่อยู่ในโลกไซเบอร์นั้นประกอบด้วยการบริการด้านข้อมูลบอกตำแหน่งรถแท็กซี่ที่ให้ผู้โดยสารเลือกได้ในแต่ละเวลา
ข้อมูลเกี่ยวกับคนขับ ข้อมูลเกี่ยวกับแผนที่และถนนทุกเส้น ฯลฯ รวมทั้งขั้นตอนการให้บริการตั้งแต่สั่งจองรถจนถึงการชำระเงิน
ทั้งตัวรถยนต์และคนโดยสารถูกเชื่อมโยงให้เป็นส่วนหนึ่งของ IoT หรือให้เป็น Internet of Things ด้วยระบบ Global
Positioning System (GPS) ผลจากการทำงานร่วมกันระหว่างโลกทั้งสองใบดังที่กล่าวเป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการบริการรถเช่าที่สร้างคุณค่าให้แก่ผู้โดยสารอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ทั้งในด้านความสะดวก ความปลอดภัย และที่สำคัญที่สุดสามารถกดดันให้อุตสาหกรรมบริการรถเช่าต้องปรับปรุงและพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นเพื่อการแข่งขันและความอยู่รอด
Cyber-Physical System เป็นแนวคิดสำคัญที่ใช้ออกแบบระบบธุรกิจใหม่ที่ใช้จุดแข็งของเทคโนโลยีดิจิทัลและจุดแข็งการทำกิจการจากกายภาพมาหล่อหลอมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ระบบห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่อุปสงค์จะต้องถูกออกแบบใหม่ให้มีลักษณะการทำงานเป็นเครือข่ายมากขึ้น
การบริหารและบริการโลจิสติกส์จะกลายเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจไม่เพียงแต่ธุรกิจภาคการผลิต
แต่ทั้งภาคเกษตรและภาคบริการด้วย ธุรกิจที่ทำงานเป็นเครือข่ายกับหน่วยงานภายในและพันธมิตรภายนอก
นอกจากจะช่วยลดต้นทุนได้แล้วยังจะช่วยขยายโอกาสได้อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน การบริการโลจิสติกส์จะกลายเป็นตัวนำการเชื่อมโยงที่สำคัญ
การบริการโลจิสติกส์ที่อาศัยการทำงานในโลกสองใบจะช่วยให้การผลิตแบบ Lean
Manufacturing ในลักษณะ Decentralized และ Distributed
นั้นเกิดขึ้นได้ทั่วโลก ซึ่งหมายความว่าสินค้าตัวเดียวกันจะมีชิ้นส่วนที่ผลิตจากเครื่องจักรตัวใด
ในโรงงานใดที่ไหนในโลกได้ ขึ้นอยู่ที่ความเหมาะสมในด้านต้นทุนและความรวดเร็วที่จะนำผลผลิตออกสู่ตลาด
ทำให้ลดต้นทุนและเพิ่มคุณค่าให้แก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่คุณค่า
และเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของ Global Value Chain ในอนาคตอันใกล้
2. Cyber-Physical System (CPS)
กับการปฏิรูปแนวทางการทำธุรกิจ
การปฏิรูปแนวทางการทำธุรกิจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจเป็นอย่างมาก
การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีโดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัล Internet of Things ถือว่าเป็นเทคโนโลยีดิจิทัลตัวสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ในยุคแรกของอินเทอร์เน็ต การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดจากความสามารถเชื่อมโยงคนกับข้อมูล
และเมื่ออินเทอร์เน็ตได้พัฒนาถึงยุคที่มี Social Technologies แนวคิดการทำธุรกิจในรูปแบบ Internet of Man (Human) หรือ
IoM ก็เกิดขึ้น
การเชื่อมโยงระหว่างคนกับคนจนเกิดเป็นชุมชนใหญ่น้อยทุกแห่งหนทั่วทั้งโลกได้เปลี่ยนแปลงวิถีการบริหารการตลาดใหม่หมด
IoM เปลี่ยนแปลงการทำยุทธศาสตร์จากเดิมมักจะกำหนดโดยฝ่ายบริหารของธุรกิจมาเป็นอยู่ภายใต้อิทธิพลของตลาด
ซึ่งก็คืออิทธิพลของผู้บริโภคนั่นเอง ผู้บริโภคเริ่มมีอิทธิพลต่อแนวทางการทำธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อมาถึงยุค Internet of Things ความสามารถที่จะเชื่อมโยงเครื่องจักร
อุปกรณ์ สินค้า สถานที่ ยานพาหนะ และสรรพสิ่งอื่น ๆ
ที่เกี่ยวกับการทำธุรกิจกับระบบข้อมูล ระบบกระบวนการทำธุรกิจ และการบริการต่าง ๆ
ทางธุรกิจผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตกลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่นำไปสู่กระบวนการทำงานแบบอัตโนมัติแบบใหม่ที่เรียกว่า
Pervasive Digital Automation หมายถึงการทำงานแบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ไม่จำกัดสถานที่
ตัวอย่างของการออกแบบระบบธุรกิจให้สามารถทำงานแบบ Pervasive Digital
Automation ก็คือ Cyber-Physical System
ในระยะเริ่มต้นคาดว่าธุรกิจโดยเฉพาะภาคการผลิตจะให้ความสำคัญกับการนำแนวคิดของ
CPS มาใช้ในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานเพื่อให้เกิด
Visibility ตลอดห่วงโซ่ตั้งแต่ด้านการจัดซื้อ ด้านการผลิต
และด้านโลจิสติกส์โดยใช้ IoT ในจุดสำคัญ ๆ และให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อการบริหารห่วงโซ่อุปทานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วยการจัดให้มีระบบบูรณาการหน่วยผลิตกับระบบข้อมูลของ
Suppliers และผู้ให้บริการโลจิสติกส์ เพื่อให้มั่นใจว่า Suppliers
สามารถจัดส่งวัสดุและชิ้นส่วนที่มีคุณภาพเข้าสู่สายการผลิตได้ตรงตามเวลา
และให้มั่นใจว่ามีระบบงานที่จะสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่โรงงานทุกระดับทำหน้าที่อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพได้
อีกทั้งยังสามารถส่งสินค้าจากโรงงานถึงมือลูกค้าได้ตรงตามเวลาและมีคุณภาพตามความคาดหวังของลูกค้า
ทั้งหมดนี้จะต้องทำได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำสุด
และมีการจัดการที่มีประสิทธิสูงที่จะทำให้เกิดคุณค่าแก่ลูกค้าได้สูงสุดด้วย
เป้าหมายสูงสุดของ CSP คือการทำให้เครื่องจักรในโรงงานเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางธุรกิจ (Business
process) ประกอบด้วยขั้นตอนหลัก ๆ
ของการจัดการห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่การจัดซื้อ การจัดการการผลิต การจัดการโลจิสติกส์
ฯลฯ แต่เดิมการจัดการการผลิตจะให้ความสำคัญกับการไหลเวียนของวัสดุและชิ้นส่วนผ่านสายการผลิต
การควบคุมการผลิตมองแค่ Input ที่ป้อนเข้าเครื่องจักรและ Output
ที่ไหลออกจากเครื่องจักรที่มีคุณภาพ และเป็นไปอย่างราบรื่นไม่ติดขัด
นั่นหมายรวมถึงการดูแลและติดตามเฝ้าระวังให้เครื่องจักรในโรงงานทุกเครื่องทำงานอย่างเป็นปกติและเต็มประสิทธิภาพได้
แต่ข้อมูลอื่น ๆ เช่นปริมาณที่ต้องผลิต
ผลิตเพื่อใคร ต้องส่งสินค้าเมื่อไร ต้นทุนผลิต จำนวนสินค้าระหว่างผลิต และอื่น ๆ
ถูกจัดเก็บอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์อื่นเช่นระบบ ERP ที่ไม่ได้เชื่อมโยงกันกับระบบการผลิต
CPS ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องทุกเรื่องโดยมีเครื่องจักรเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการผลิตเพื่อจัดการกับการผลิตแบบบูรณาการได้
โดยเครื่องจักรจะรู้อยู่ตลอดเวลาว่ากำลังผลิตสินค้าอะไร เพื่อใคร และต้องเสร็จเมื่อไร
เครื่องจักรจะสามารถปฏิสัมพันธ์กับระบบควบคุมและเฝ้าระวังการทำงานเพื่อรับรู้สถานภาพการทำงานของเครื่องจักรแบบเรียวไทม
อีกทั้งรู้การเคลื่อนไหวของวัสดุและชิ้นส่วนภายในห่วงโซ่คุณค่าอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้การเฝ้าระวังกระบวนการผลิตเป็นไปได้อย่างเชื่อมโยงกันทั้งระบบ
เมื่อเครื่องจักรกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิต
และเมื่อการผลิตยึดเอากระบวนการผลิตเป็นหลัก ทำให้ธุรกิจมีอิสระในการตัดสินใจว่าภายใต้กระบวนผลิตหนึ่ง
ๆ นั้นจะเลือกใช้เครื่องจักรของใครและที่ไหน
ไม่จำเป็นต้องผลิตจากโรงงานเดียวกันหรือใช้เครื่องจักรที่โรงงานเป็นเจ้าของเท่านั้น
ด้วยการออกแบบที่ชาญฉลาด กระบวนการผลิตและการควบคุมการผลิตอย่างมีคุณภาพและการผลิตให้ตรงตามเวลานั้นต้องสามารถเลือกใช้บริการจากเครื่องจักรเพื่อการผลิตจากที่ไหนในโลกผ่านเครือข่าย
Internet of Things ได้ ในบริบทนี้โรงงานจะมีอิสระในการเลือกเช่าใช้เครื่องจักรจากที่ไหนก็ได้เหมือนกับการเช่าใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ผ่านศูนย์บริการ
Cloud จึงเห็นได้ว่าแนวความคิดของ Cyber-Physical
System จะเปลี่ยนแนวทางการผลิตและการดำเนินธุรกิจใหม่หมด ซึ่งถือได้ว่าเป็นการปฏิรูปแนวทางการผลิตและการทำธุรกิจใหม่โดยสิ้นเชิงตามที่จะกล่าวถึงในรายละเอียดต่อไป
เรื่อง Cyber-Physical System ยังมีต่อในตอนหน้านะครับ
เป็นบทความที่ดีมากครับ ขอบคุณครับ
ReplyDelete