Sunday, September 20, 2015

การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ตอนที่ 9



บทความ 8 ตอนแรกภายใต้หัวข้อเรื่อง การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลได้นำเสนอความหมายของเศรษฐกิจดิจิทัล ความจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจดิจิทัล และแนวทางการส่งเสริมธุรกิจเพื่อการแข่งขันในยุคดิจิทัล จากแนวคิดการส่งเสริมธุรกิจเพื่อการแข่งขันในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลดังที่ได้กล่าวมาทั้งหมด บทความตอนใหม่นี้จะสรุปเป็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

ข้อเสนอแนะการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ[1]
ในโอกาสที่รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ พวกเราควรใช้โอกาสนี้ช่วยรัฐบาลคิดดูว่ามีแนวทางใดที่รัฐควรให้ความสำคัญเป็นกรณีพิเศษ จุดเริ่มต้นที่ดีควรพิจารณาว่าเราจะนำดิจิทัลมาสนับสนุนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศฉบับที่ 12 ปี (2560–2564) ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เปิดตัวไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้อย่างไร โดยเฉพาะประเด็นที่จะผลักดันให้ประเทศไทยพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle income trap) ลดความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน โดยได้ตั้งเป้าว่าจะให้จีดีพีขยายตัวไม่ต่ำกว่าปีละ 5%  ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะให้ประเทศไทยหลุดพ้นจาก Middle income trap กลายเป็นประเทศพัฒนาได้ เพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมาย ประเทศไทยต้องเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพแรงงาน ทั้งเรื่องทักษะและฝีมือ และต้องรีบเร่งสร้างแรงงานกลุ่มใหม่ที่สร้างมูลค่าสูง (High value job) ได้ นอกจากนี้ยังต้องเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที เพื่อสนับสนุนให้การส่งออกเติบโตเฉลี่ยปีละ 10–15% ได้อย่างต่อเนื่อง การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงเพื่อสนับสนุนการทำธุรกิจจะสามารถส่งผลต่อการเติบโตเศรษฐกิจตามที่กำหนดไว้ในแผนฉบับที่ 12 นี้ได้ แต่ทั้งนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องมีโครงการส่งเสริมอย่างน้อย 5  เรื่องได้แก่  1) การอำนวยความสะดวกต่อการทำธุรกิจ  2) การส่งเสริมให้ใช้มาตรฐานข้อมูลเพื่อการทำธุรกิจออนไลน์ในระดับโลก  3) การส่งเสริม SMEs ให้สามารถทำธุรกิจออนไลน์แบบครบวงจร  4)  การส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถด้านดิจิทัลยุคใหม่ สามารถสร้างนวัตกรรมเพื่อการแข่งขันที่ยั่งยืน และ 5) การส่งเสริมธุรกิจให้สร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการเดิม

1.            การอำนวยความสะดวกต่อการทำธุรกิจ
การพัฒนาเศรษฐกิจให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืนในยุคใหม่จากนี้ไป นอกจากต้องคำนึงถึงการลดต้นทุน ยังต้องคำนึงถึงการแข่งขันที่รวดเร็ว มีความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนยุทธวิธีให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของตลาดที่มีพลวัตรสูง เพราะสภาพแวดล้อมในบริบทนี้เป็นสภาพแวดล้อมของตลาดโลกที่มีการแข่งขันที่จะเพิ่มความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญต้องให้ธุรกิจไทยไม่สูญเสียโอกาสจากกระบวนการทำงานภายในห่วงโซ่คุณค่าที่ล้าสมัยและยังมีการเดินงานด้วยเอกสารที่เป็นกระดาษเป็นส่วนใหญ่ ต้องผ่านขั้นตอนการอนุมัติที่ยืดยาว โดยเฉพาะกระบวนการทางการค้าที่ต้องขออนุญาตจากภาครัฐ การยกระดับการอำนวยความสะดวกของรัฐนั้นกลายเป็นสิ่งสำคัญและอย่างน้อยต้องพิจารณาทำในสิ่งต่อไปนี้
1)            กระบวนการและการควบคุมเกี่ยวกับการค้าข้ามแดน (Trade Facilitation) หมายถึง ระบบสนับสนุนที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออกสินค้าที่ครบวงจรผ่านระบบ National Single Window (NSW) ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงกระบวนการทำธุรกิจของภาคเอกชนกับกระบวนการของภาครัฐ สามารถแลกเปลี่ยนเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการนำเข้าและส่งออกได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และลดขั้นตอนการดำเนินงานที่เป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจในยุคดิจิทัล สิ่งที่ต้องรีบเร่งปรับปรุงคือการเชื่อมโยงการทำงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 36 หน่วยงานผ่านระบบออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ธุรกิจสามารถยื่นคำขอและรับเอกสารกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการนำเข้าและส่งออกแบบครบวงจรได้อย่างรวดเร็ว ยังต้องขยายการเชื่อมโยงกับหน่วยงานของรัฐบาลในกลุ่มอาเซียนด้วย เพื่อทำให้การส่งออกและนำเข้าสินค้าในระดับภูมิภาคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังต้องเตรียมการยกระดับระบบ NSW ให้สามารถเชื่อมโยงการทำธุรกรรมการค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในระดับโลก โดยเฉพาะกับประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย
2)            การอำนวยความสะดวกด้านบริการโลจิสติกส์ หมายถึง  การเชื่อมโยงออนไลน์ระหว่างระบบบริการโลจิสติกส์กับระบบบริหารจัดการภายในองค์กร ซึ่งปัจจุบันถือได้ว่าเป็นจุดอ่อนประการหนึ่งของธุรกิจไทย ทำให้กระบวนการจัดส่งสินค้า รับสินค้า และการส่งมอบวัตถุดิบ ใช้เวลานาน มีขั้นตอนและกระบวนการที่ไม่จำเป็นมากมาย ตลอดจนขาดระบบที่สามารถตรวจสอบติดตามการจัดส่งสินค้าที่เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งส่งผลกระทบที่สำคัญต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ ดังนั้น หากสามารถลดขั้นตอนและปรับเปลี่ยนธุรกิจให้สามารถบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์แบบออนไลน์หรือสามารถพัฒนาไปจนกระทั่งบริหารจัดการแบบเรียลไทม์ได้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจได้เป็นอย่างมาก เมื่อธุรกิจมีการปรับกระบวนการโลจิสติกส์และเชื่อมโยงการทำธุรกิจผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น จะสามารถพัฒนาต่อไปกระทั่งเชื่อมโยงกับธุรกิจและการบริการโลจิสติกส์ได้ทั่วโลก ส่งผลให้ศักยภาพการผลิตและการค้าของไทยเพิ่มสูงขึ้น กิจกรรมที่ต้องเร่งปรับปรุงคือ 1)  การกำหนดมาตรฐานของกระบวนการ (Process) และมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูล (Data Interchange) เกี่ยวกับบริการโลจิสติกส์ 2)  การส่งเสริมการพัฒนาบริการและขยายเครือข่ายบริการโลจิสติกส์ภายในประเทศให้มีความเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่อุปทานในรูปแบบ Single Modal Transportation และ 3)  การยกระดับการให้บริการโลจิสติกส์ไปสู่การบริหารจัดการและการให้บริการโลจิสติกส์ในรูปแบบ Multi-Modal Transportation
3)            การอำนวยความสะดวกด้านกระบวนการทางภาษี หมายถึง การปรับเปลี่ยนกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับใบกำกับภาษีเข้าสู่ระบบออนไลน์ เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินงาน ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบและจัดเก็บภาษีอย่างเป็นระบบ ปัจจุบันธุรกิจไทยยังต้องยื่นภาษีและพิมพ์ใบกำกับภาษีเก็บรักษาไว้เป็นกระดาษตามกฎหมาย ซึ่งเป็นภาระในด้านการบริหารจัดการและเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับภาคธุรกิจโดยไม่จำเป็น ซึ่งกรมสรรพากรได้มีแนวคิดที่จะพัฒนาและติดตั้งระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) รวมถึงพัฒนาระบบจดทะเบียนและมาตรฐานการยืนยันตัวตน (Identification: ID) เพื่อใช้สิทธิในการใช้ e-Tax Invoice เพื่อลดขั้นตอนและการดำเนินงานที่ไม่จำเป็นดังกล่าว ภาคธุรกิจสามารถยื่นใบกำกับภาษีออนไลน์ได้ เพิ่มความสะดวกให้กับการจัดเก็บภาษี อีกทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบและติดตามให้กับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้ ภายในต้นปี 2559 รัฐควรเร่งผลักดันให้มีการพัฒนาและใช้ระบบ E-Tax Invoice สำหรับใบกำกับภาษีแบบย่อ และภายในปี 2560 สามารถให้บริการระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์แบบเต็มได้ ตลอดจนภายในระยะเวลา 5 ปี ธุรกิจทุกขนาดตั้งแต่ขนาดใหญ่ที่มีทุนจดทะเบียนมากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป และธุรกิจขนาดเล็กจะสามารถใช้บริการใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้
4)            การอำนวยความสะดวกด้านการชำระเงิน หมายถึง ความสามารถในการชำระเงินด้วยระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่จุดเดียว (National Payment System: NPMS) ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการจัดการชำระเงินระหว่างธุรกิจด้วยการสั่งจ่าย โอนเงิน หักบัญชี และทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบออนไลน์ระหว่างธนาคารได้ โดยในระยะแรกสถาบันการเงินทั้งธนาคารพาณิชย์และธนาคารแห่งประเทศไทยต่างกำลังเร่งผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบ NPMS เพื่อช่วยลดขั้นตอนการทำธุรกรรมทางการเงินให้กับภาคธุรกิจ และส่งเสริมให้ธุรกิจสามารถทำการค้าด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างครบวงจรตลอดห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การขาย การจัดส่งสินค้า และการชำระเงิน ภายใน 5 ปีจะมีการให้บริการ Payment Gateway ที่มีระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัย และมี Payment Gateway รองรับการทำธุรกิจออนไลน์ทั้งแบบ B2B และ B2C
5)            การอำนวยความสะดวกด้านการค้าอื่นที่เกี่ยวข้องกับหน่วยราชการ หมายถึง ส่วนสนับสนุนที่ทำให้ภาคธุรกิจได้รับประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางธุรกิจและบริการของรัฐ ซึ่งเป็นส่วนสนับสนุนการเชื่อมโยงระบบการให้บริการของภาครัฐที่ทำให้ภาคเอกชนลดต้นทุนการผลิตและการดำเนินงาน เช่น การติดต่อกับหน่วยงานราชการสามารถทำได้ผ่านระบบออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องใช้สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนการค้า เป็นต้น การอำนวยความสะดวกนี้เป็นการปรับเปลี่ยนการให้บริการของภาครัฐให้สอดคล้องกับการทำงานของภาคเอกชนในขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต การสั่งซื้อสินค้า การนำส่งสินค้า การชำระเงิน เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงและลดขั้นตอนการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่คุณค่าให้กับภาคธุรกิจ รวมถึงต้องพิจารณาส่งเสริมให้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลดใช้กระดาษของภาครัฐ หรือ Paper Elimination Act เพื่อให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง

2.             ส่งเสริมการใช้มาตรฐานข้อมูลเพื่อการทำธุรกิจออนไลน์ในระดับโลก
ภาคธุรกิจเอกชนโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้เร่งเห็นความสำคัญในเรื่องส่งเสริมการใช้รหัสสินค้าและข้อมูลสินค้ามาตรฐานจากฐานข้อมูลกลาง (Trusted Source of Product Information Data Pool) เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และเจ้าของสินค้า สามารถบริหารจัดการข้อมูลสินค้าให้แก่ผู้ซื้อได้อย่างถูกต้อง สร้างความมั่นใจและน่าเชื่อถือในตัวสินค้าได้มากขึ้น รวมถึงเชื่อมโยงข้อมูลไปสู่กลุ่มธุรกิจต่างๆ ที่ต้องการนำข้อมูลสินค้าไปใช้ในการพัฒนาศักยภาพของธุรกิจ มุ่งเน้นการพัฒนาธุรกรรมการค้าระหว่างหน่วยงานธุรกิจและธุรกิจ "Business-to-Business" (B2B) หรือหน่วยงานธุรกิจและกลุ่มผู้บริโภค "Business-to-Consumer" (B2C) องค์กรแต่ละองค์กรสามารถเชื่อมโยง และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ ระหว่างกันได้ในระบบสารสนเทศขององค์กรต่างๆ เหล่านั้น รัฐบาลจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมให้เกิดการยอมรับและขยายการใช้มาตรฐานข้อมูลเพื่อการทำธุรกิจออนไลน์ในระดับโลกในวงกว้าง
                ในปัจจุบันสินค้าต่างๆ ได้ถูกผลิตออกมาเพื่อจัดจำหน่ายอย่างมากมาย ซึ่งสินค้าต่างๆ เหล่านี้ มีทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภคแต่ในประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดที่ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลสินค้าให้เป็นระบบระเบียบอย่างชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาสินค้าลอกเลียนแบบ สินค้าที่ไม่มีการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจึงได้ดำเนินการโครงการดังกล่าวเพื่อรวบรวมข้อมูลและรายละเอียดสินค้าต่างๆ ที่จำหน่ายในท้องตลาดจัดเก็บฐานข้อมูลกลางของสินค้า (Trusted Source of Product Information Data Pool) เพื่อสร้างฐานข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือเป็นฐานข้อมูลกลาง ทำให้ข้อมูลสินค้ามีความทันสมัยอยู่เสมอ ลดความซ้ำซ้อน ลดเวลา และค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนข้อมูลกลางสินค้าระหว่างคู่ค้า นอกจากนี้การมีฐานข้อมูลกลางของสินค้ายังมีประโยชน์ต่อการส่งเสริมธุรกิจในภาครวมดังนี้

1)            ผู้บริโภคมีโอกาสได้เข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เช่น วัตถุดิบที่ใช้ ขนาด/ปริมาณการผลิต ข้อห้าม/ข้อควรระวัง และอื่น ๆ
2)            การบริการโลจิสติกส์ได้ประโยชน์จากข้อมูลสินค้าที่เป็นมาตรฐาน เช่น ขนาด น้ำหนัก ลักษณะหีบห่อ ข้อระวังการขนส่ง เป็นต้น
3)            เป็นฐานข้อมูลกลางเกี่ยวกับสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยเพื่อการทำธุรกรรม E-Commerce ทำให้สินค้าไทยเป็นที่น่าเชื่อถือเพราะมีข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่ถูกต้อง เป็นมาตรฐาน

3.             การส่งเสริม SMEs ให้สามารถทำธุรกิจออนไลน์แบบครบวงจรได้
การยกระดับขีดความสามารถเพื่อการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจและกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของประเทศในยุคนี้จำเป็นต้องอาศัยการทำธุรกิจผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ การค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือดิจิทัลไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การขายของผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) แต่เพียงอย่างเดียว หากหมายรวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบและกระบวนการดำเนินธุรกิจ (Business Process) บนพื้นฐานของการทำการค้าออนไลน์ตลอดห่วงโซ่คุณค่า (End-to-End Supply Chain) เพื่อสร้างประสิทธิภาพและลดต้นทุนให้กับภาคธุรกิจ โดยการมุ่งเน้นให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสอดแทรกอยู่ในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตไปจนกระทั่งสินค้าและบริการส่งมอบถึงมือผู้บริโภค และยังคงมีบทบาทในการติดตามข้อมูลและพฤติกรรมของผู้บริโภคหลังจากสินค้าและบริการถูกส่งมอบไปถึงผู้บริโภคแล้ว เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นกลับมาใช้ปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าครั้งต่อไปได้อย่างแม่นยำ  
เนื่องจากธุรกิจกลุ่ม SMEs เป็นกลุ่มธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีน้อยมาก และที่ผ่านมาส่วนใหญ่ยังไม่เห็นความจำเป็นต้องใช้ไอซีที แต่ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ธุรกิจ SMEs จะเป็นกลุ่มสำคัญภายในเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานที่ต้องทำธุรกิจออนไลน์แบบครบวงจร จึงจำเป็นที่รัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือในระยะแรก การยกระดับขีดความสามารถไอซีทของธุรกิจ SME มุ่งเน้นการส่งเสริมให้ธุรกิจ SME มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ICT เพื่อการผลิตและลดต้นทุนการดำเนินงาน โดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบและกระบวนการดำเนินงานของธุรกิจ SME ตลอดห่วงโซ่คุณค่า (ICT Enabling Whole Value Chain) ทั้งนี้ กลยุทธ์ในการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้กับกลุ่มธุรกิจ SME แบ่งออกเป็น 3 มาตรการ ดังนี้
1)            ส่งเสริมการใช้ ICT เพื่องานภายในองค์กร (ระบบบัญชี/ระบบ ERP) ธุรกิจภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัลต่างต้องปรับกระบวนการทำงานให้พร้อมรองรับการทำธุรกรรมออนไลน์แบบครบวงจร 
2)            ส่งเสริมการใช้ระบบมาตรฐานสินค้ากลาง เพิ่มความสะดวกในการค้นหาผู้ขายสินค้าและบริการแต่ละประเภทในระบบห่วงโซ่อุปทาน ทั้งสินค้าสำเร็จรูป กึ่งสำเร็จรูป และวัตถุดิบ เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายการค้าแบบออนไลน์ในระดับสากล ส่งผลต่อโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศให้กับธุรกิจ SME ไทย อีกทั้ง ยังช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการในภูมิภาคและตลาดโลก
3)             ส่งเสริมให้ธุรกิจ SME ปรับตัวเข้าสู่ระบบการค้าผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) นอกจากนี้ ธุรกิจ SME ยังต้องสามารถใช้ประโยชน์จากช่องทางการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) ได้

4.             การส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถด้านดิจิทัลยุคใหม่ สามารถสร้างนวัตกรรมเพื่อการแข่งขันที่ยั่งยืน

ผู้ประกอบการใหม่ที่เน้นการสร้างธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เรียกว่า Digital Entrepreneur หรือ Tech Startup เป็นฐานเศรษฐกิจใหม่ที่สำคัญ เพราะเป็นการสร้างคนไทยรุ่นใหม่จำนวนมากที่สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเชิงนวัตกรรมช่วยสร้างเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ อีกทั้งยังเป็นกำลังสำคัญในการช่วยพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การส่งเสริมให้เกิดกลุ่ม Tech Startup เป็นจำนวนมากนั้น รัฐต้องจัดทำแผนการส่งเสริมกลุ่มธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจใหม่ที่อยู่ในช่วงของการเติบโต (Early Stage to Growth Stage) เนื่องจาก ปัญหาที่สำคัญของ Tech Startup ในประเทศ คือ ส่วนใหญ่ยังเป็นธุรกิจขนาดเล็กมาก (Micro SMEs) และมีมูลค่าไม่สูงพอที่จะดึงดูดเงินลงทุนจากนักลงทุน (Venture Capital) ทั้งในและต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องมีโครงการเร่งสร้างธุรกิจใหม่ (Accelerator Program) ที่สามารถยกระดับความสามารถของธุรกิจ Startup ทั้งในมิติของการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและการส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้มีศักยภาพ
            การสร้างธุรกิจเกิดใหม่ที่มุ่งเน้นนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Entrepreneur หรือ Tech Startup) มีเป้าหมายในการส่งเสริมเพื่อสร้างทรัพย์สินทางปัญญา สร้าง High Value Jobs และเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์และบริการไทย โดยมีแนวทางการส่งเสริมหลักๆ ได้แก่  
1)            สร้างธุรกิจเกิดใหม่ (Digital Entrepreneurs/Tech Startup) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีโครงการส่งเสริมธุรกิจเกิดใหม่ (Accelerator Program) ที่มุ่งเป้าเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการใหม่ที่มีศักยภาพในการแข่งขันของไทย สร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจไทยให้สามารถแข่งขันได้ในอนาคต  ตลอดจนพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล (Digital Workforce) ที่มีศักยภาพ โดยมีโครงการที่จะส่งเสริมดังนี้
·       สร้างเครือข่ายกับภาคการศึกษาและภาคธุรกิจเพื่อเร่งผลิตผู้ประกอบการรุ่นใหม่ผ่านโครงการ Incubation ของมหาวิทยาลัยและธุรกิจเพื่อคัดกลุ่ม Startup ที่มีความพร้อมเข้าสู่โครงการ Tech startup accelerator program
·       ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีโครงการส่งเสริมธุรกิจเกิดใหม่ด้วย Accelerator Program ที่มุ่งเป้าเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการใหม่ที่มีศักยภาพในการแข่งขันของไทย
·       พัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล (Digital Workforce) ที่มีศักยภาพ

2)             ส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจเกิดใหม่ ที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีนโยบายส่งเสริมกลุ่มธุรกิจเกิดใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ จนทำให้ธุรกิจเกิดใหม่เหล่านี้ต้องหันไปพึ่งพาต่างชาติทั้งทางด้านการเงิน การลงทุน และการถ่ายทอดองค์ความรู้ ทำให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ไหลไปทำธุรกิจอยู่ต่างประเทศจำนวนมาก จึงจำเป็นที่รัฐต้องเร่งรีบกำหนดทิศทางเพื่อส่งเสริมระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจเกิดใหม่ อาทิ การปรับปรุงระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย กฎระเบียบ (Soft Ecosystem) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชน และจัดให้มี Open Innovation Platform เพื่อเชื่อมโยงระบบนิเวศที่สนับสนุนการดำเนินงานของธุรกิจเกิดใหม่ภายใต้ยุคดิจิทัล

5.             การส่งเสริมธุรกิจให้สร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการเดิม
เทคโนโลยีดิจิทัลมีอิทธิพลต่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบของชุมชนและสังคม ชุมชนใหม่ ๆ เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน และเป็นสังคมที่เกิดขึ้นในโลกดิจิทัล คนมีการปฏิสัมพันธ์กันโดยไม่เคยรู้จักกัน ต่างชาติต่างภาษาก็สามารถเชื่อมโยงกันและร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและทำกิจการร่วมกันได้ผ่านอินเทอร์เน็ต ปรากฏการณ์นี้มีผลต่อพฤติกรรมการซื้อการขายและบริโภคซึ่งสินค้าและบริการเป็นอย่างมาก ธุรกิจทุกชนิดทุกขนาดต่างหันมาสนใจเพื่อเตรียมตัวรับมือกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป สินค้าและบริการที่เคยผลิตและขายกำลังเปลี่ยนรูปแบบเป็น “Product bundle” ที่เสนอให้ผู้บริโภคไม่เพียงแค่สินค้าและบริการที่เคยซื้อขาย แต่รวมสิ่งอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ และนี่คือที่มาของนวัตกรรมบริการรูปแบบใหม่ที่สามารถเพิ่มมูลค่าจากผลิตภัณฑ์เดิมได้ จากนี้ไป ประเทศไทยไม่เพียงแต่เอาดีแค่การผลิตสินค้าและการบริการ แต่ต้องสามารถสร้างนวัตกรรมที่นำไปสู่การสร้างสิ่งที่สามารถเสริม (Product bundle)ให้เกิดคุณค่าแก่ผู้บริโภคมากขึ้นในรูปแบบใหม่ ๆ ตามความสามารถในการจินตนาการ  
การยกระดับการปฏิรูปธุรกิจด้วยนวัตกรรมเป็นการเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรมด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้กับภาคธุรกิจ (Innovation Capacity Building) ตลอดจนการสร้างธุรกิจเกิดใหม่ที่มุ่งเน้นนวัตกรรมดิจิทัล ภายใต้กลยุทธ์ในการยกระดับการปฏิรูปธุรกิจด้วยนวัตกรรมนี้ มีมาตรการที่ควรเร่งดำเนินการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
1)            ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมบริการ การก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลไม่เพียงแต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจมาสู่ระบบออนไลน์แต่เพียงเท่านั้น ภาคธุรกิจยังต้องสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างนวัตกรรมของสินค้าและบริการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของตนได้ด้วย รัฐจึงควรจัดให้มีกองทุนสนับสนุนงานนวัตกรรมบริการขนาดใหญ่ และจัดให้มีโครงการนวัตกรรมบริการขนาดใหญ่ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมบริการให้กับภาคธุรกิจได้
2)            จัดให้มีหน่วยงานพัฒนาต้นแบบเกี่ยวกับนวัตกรรมบริการ (Service Innovation) การปรับเปลี่ยนธุรกิจให้สามารถสร้างนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยการพัฒนาเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ระดับสูงที่มีศักยภาพและทันสมัย เพื่อการสนับสนุนนวัตกรรมบริการในระบบ Digital Business ที่คนไทยจำเป็นต้องพัฒนาขึ้นเองเพื่อหลีกเลี่ยงการพึ่งพาเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ของต่างประเทศ  รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีมาตรการส่งเสริมให้มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่พัฒนาซอฟต์แวร์ไทยที่เป็นต้นแบบของการสร้างนวัตกรรมบริการ เพื่อพึ่งพาตนเองในกลุ่มเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ระดับสูงที่ทันสมัย เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ตลอดจนเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้และทักษะด้านนวัตกรรมให้กับภาคธุรกิจ



[1] เนื้อหาสาระบางตอนได้เรียบเรียงจากร่าง กรอบแนวทางและแผนที่นำทางการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (พ.ศ. 2558 - 2562)ของกระทรวงไอซีที  ฉบับเขียนโดยคุณสุมาวสี ศาลาสุข 2558

No comments:

Post a Comment