Friday, April 1, 2011

ผลการระดมสมองการพัฒนาทุนมนุษย์ภาคเกษตรกรรม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมพัฒนาฝีมือแรงมือ กระทรวงแรงงาน ร่วมกับสถาบันเพิ่มผลผลิต จัดให้มีการระดมสมองในเรื่องการพัฒนาทุนมนุษย์ภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นงานต่อเนื่องจากโครงการ Human Capital Megatrend ที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้จัดทำเมื่อกลางปีที่แล้ว ประเด็นที่พูดคุยกัน หลัก ๆ คือจะทำอย่างไร จึงจะให้คนรุ่นใหม่สนใจเข้าสู่ภาคเกษตรกรรม ทั้งในฐานะเป็นนักลงทุน หรือผู้ใช้แรงงาน ทำอย่างไร จึงจะทำให้กิจกรรมการเกษตรไม่เป็นอาชีพแบบฤดูกาล คือให้มีอาชีพแบบ Full time เหมือนอาชีพอื่น ให้เกษตรกรมี Career path ที่น่าสนใจ มีความยั่งยืน ขจัดความรู้สึกว่าเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง มีแต่ความยากจน และเป็นอาชีพที่เหน็ดเหนื่อย มาตรการที่น่าจะนำมาช่วยแก้ปัญหา มีทั้งการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี การให้ความรู้และฝึกทักษะ การเข้าถึงตลาดทุน การเข้าถึงแหล่งความรู้และข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่เกี่ยวข้อง และอื่น ๆ เป้าหมายหลักคือ หามาตรการที่จะทำให้เกษตรกรไทย เป็น “Smart Farmers” ที่มีความยั่งยืน และมีอาชีพที่ท้าทายและน่าสนใจ โดยเฉพาะสำหรับคนรุ่นใหม่

ที่ประชุมเสนอทั้งปัจจัยหลัก และปัจจัยหนุนดังนี้

ปัจจัยหลัก เป็นเรื่องการพัฒนาฝีมือแรงงาน ประกอบด้วยมาตรการ เช่น
  1.  ฝึกทักษะการใช้เครื่องมือ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อการเพิ่มผลิตภาพ
  2.  ฝึกทักษะด้านการบริหารการเงินในระดับพื้นฐาน
  3. ฝึกให้มีความรู้ และความตระหนักในเรื่องการตลาดที่เกี่ยวข้อง
  4. ฝึกให้มีทักษะด้านการผลิตที่มีคุณภาพ และมีความรู้ที่จะช่วยให้เกิดผลิตภาพที่สูง
  5. ฝึกให้มีทักษะที่จะทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม Cluster หรือในรูปสหกรณ์ที่เหมาะสม
  6. ฝึกให้มีทักษะในการเข้าถึงแหล่งข้อมูล และใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อสนับสนุนให้อาชีพทางเกษตรกรรมมีความยั่งยืน และลดความเสี่ยง
 ปัจจัยหนุนมีหลายด้าน ประกอบด้วย
  1. มาตรการที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการได้มาซึ่งเทคโนโลยี และเครื่องมือที่ทันสมัย ซึ่งอาจหมายถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐ หรือการลงทุนโดยระบบสหกรณ์ หรือหาแหล่งสนับสนุนทางการเงินจากตลาดทุน
  2. มาตรการที่จะสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ เช่นการให้ทุนการศึกษาในสาขาการเกษตรแก่ลูกหลานของเกษตรกร หรือมาตรการจูงใจอื่น ๆ
  3. มาตรการจัดหาระบบให้บริการด้านข้อมูลข่าวสาร ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ และเผยแพร่แบบกระจาย ให้เกษตรกรทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลโดยง่าย เป็นข้อมูลที่ใช้ง่าย เข้าใจง่าย และเข้าถึงได้ด้วยระบบเทคโนโลยีดาวเทียม หรือระบบสื่อสารบรอดแบนด์ไร้สาย และมีสาย ในรูปของกระจายเสียง หรือเผยแพร่ผ่านอินเทอร์เน็ต ใช้ทั้งสื่อใหม่ (New Media) และวีดีทัศน์ (VDO) แบบปฎิสัมพันธ์ได้ (Interactive VDO) และสื่อทันสมัยอื่น ๆ ตามความเหมาะสม
  4. รัฐต้องหลีกเลี่ยงการกำหนดนโยบายที่จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอาชีพด้านเกษตรกรรม โดยทางตรง หรือทางอ้อม อันจะทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงจากนโยบาย ให้ตระหนักว่า นโนบายที่เป็นประโยชน์แก่เกษตรกรรมส่วนหนึ่ง อาจเป็นผลกระทบในทางลบต่ออีกกลุ่มหนึ่ง ความหลากหลายในด้านเกษตรกรรม ทำให้การแก้ปัญหาโดยรัฐมีความลำบาก เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาให้แก่ทุกกลุ่มด้วยนโยบายที่เป็นหนึ่งเดียวได้
  5. มาตรการด้านการพัฒนากระบวนการโซ่คุณค่าให้ทันสมัย และมีประสิทธิภาพประสิทธิผล โดยเน้นด้านกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ และความปลอดภัยต่อผู้บริโภค สามารถตรวจสอบได้ เข้าถึงตลาดได้รวดเร็ว และลดความสูญเสีย โดยอาศัยเทคโนโลยี และระบบขนส่งสินค้าที่ทันสมัย มีกระบวนการที่กระทัดรัดและประหยัด
  6. มาตรการส่งเสริมให้ทำงานร่วมกัน ข้ามกลุ่มและข้ามสาขา เพื่อสามารถสร้างคุณค่าร่วมกัน (Co-creation of value) ส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมแบ่งปันกัน โดยเฉพาะการแบ่งปันด้านความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง
ที่ประชุมยังแนะนำว่า ถ้าจะให้เกิดประโยชน์เป็นรูปธรรมในระยะสั้น อาจจำเป็นต้องเลือกสาขาที่ไม่ใหญ่มากจำนวนหนึ่ง มาทำเป็นตัวอย่าง แล้วใช้เป็นกรณีศึกษาเพื่อการพัฒนาสำหรับเกษตรสาขาอื่น ๆ ต่อไป

1 comment:

  1. ขออนุญาติฝากลิ้งนะคร่ะ สำหรับคนรักการเสี่ยง
    เราเป็นผู้ให้บริการแทงบอลออนไลน์ SBOBET, คาสิโนออนไลน์, gclub, holidaypalace, มั่นคง รวดเร็ว และแน่นอน ฝาก-ถอน ตลอด 24 ชั่วโมง ฝากขั้นต่ำ 500 บาท ... https://www.111player.com

    ReplyDelete