Saturday, December 26, 2015

ธุรกิจในศตวรรษที่ 21 เป็นรูปแบบ Cyber-Physical Systems ตอนที่ 2



 ตอนที่แล้ว เราได้พูดถึงพัฒนาการเทคโนโลยีที่เรียกว่า Internet of Things (IoT) โดยมีใจความว่า IoT เป็นเทคโนโลยีเกี่ยวกับการเชื่อมโยงทุกสิ่งที่มีกายภาพในโลกมนุษย์เข้ากับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เช่นคน เครื่องจักร สินค้า และสิ่งของทางกายภาพอื่น ๆ   IoT เป็น “Data Point” หรือจุดที่เกิดของข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งของและสภาพแวดล้อมที่สรรพสิ่งนั้นปรากฏอยู่เพื่อให้สิ่งต่าง ๆ มีความฉลาดขึ้นในเชิงสร้างและใช้ข้อมูล    บัดนี้เราไม่เพียงสามารถสื่อสารกันระหว่างคนด้วยกัน แต่ยังสื่อสารได้กับเครื่องจักรและสิ่งของอื่น ๆ ได้  เรายังสามารถรับรู้ถึงสถานภาพของสรรพสิ่งเหล่านี้ได้ (Sense) หรือปฏิสัมพันธ์กับมันได้ (Interact)  ความสามารถนี้นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินธุรกิจที่มีผลต่อการแข่งขันและการสร้างคุณค่าต่อธุรกิจ ต่อผู้บริโภค ต่อสังคม และต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม บทความตอนใหม่นี้ จะกล่าวถึงความสำคัญที่ IoT มีต่อระบบธุรกิจ

ความสำคัญของ IoT มีต่อระบบธุรกิจ
กว่าหนึ่งทศวรรษที่อินเทอร์เน็ตได้แสดงความสามารถในการเปลี่ยนแปลงแนวทางดำรงชีวิตของพวกเราทุกคน รวมทั้งวิถีการดำเนินธุรกิจและแข่งขันทางธุรกิจ ธุรกิจรุ่นเก่า ๆ หลายอย่างได้หายตายจากไป หรือกำลังจะสูญหายไปอันเนื่องจากธุรกิจเกิดใหม่ที่ใช้อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น Amazon.com ทำให้ร้านจัดจำหน่ายหนังสือแบบดั่งเดิมค่อย ๆ สูญหายไป  ธุรกิจ iTune Store  ของบริษัท Apple ทำให้ธุรกิจจัดจำหน่ายเพลงทั้งโลกต้องเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง Airbnb เป็นจ้าวธุรกิจบริการด้านห้องพักทั่วโลกโดยไม่มีสิ่งปลูกสร้างของตนเอง นี่เป็นเพียงบางตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของอินเทอร์เน็ตที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจและแข่งขันธุรกิจเป็นอย่างมาก
เรากำลังจะเห็นคลื่นลูกใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงโลกแห่งธุรกิจอีกครั้งหนึ่ง  Internet of Things (IoT) คือคลื่นลูกใหม่นี้ IoT เป็นเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่างในโลก สรรพสิ่งที่มีกายภาพจะติดต่อกันได้และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ผ่านอินเทอร์เน็ต IoT ถือเป็นพัฒนาการทางเทคโนโลยีก้าวใหญ่และก้าวสำคัญมากอีกก้าวหนึ่ง และค่อนข้างจะ Disruptive คือมีพลังที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก  คุณสมบัติสำคัญของ IoT คือความสามารถในการสร้างข้อมูลเกี่ยวกับตนเองและสื่อสารข้อมูลกับโลกภายนอกได้ ถ้าเปรียบเทียบคนกับสัตว์ชนิดอื่น ๆ ความแตกต่างอยู่ที่คนมีความสามารถเหนือกว่าในการสื่อสารด้วยข้อมูลที่มีสาระและเป็นความรู้ที่ลึกซึ้ง  ถ้าเราสามารถสร้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทำให้สรรพสิ่งในโลกสื่อสารได้อย่างชาญฉลาด สรรพสิ่งเหล่านั้นก็จะทำสิ่งใหม่ ๆ ที่มีคุณค่ามากขึ้น ตัวอย่างเช่น สามารถสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับสภาพการทำงานของเครื่องจักรในโรงงานอย่างละเอียดและต่อเนื่อง นำไปสู่การวิเคราะห์และพิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าเกี่ยวกับสถานภาพหรือสุขภาพของเครื่องจักรเพื่อจะได้หามาตรการป้องกันแก้ไขในกรณีที่เครื่องจักรเกิดปัญหาจนไม่สามารถทำงานปกติได้และป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น หรือกรณีที่ใช้อุปกรณ์ Beacon ในเครื่องโทรศัพท์พกพา ทำให้คนติดต่อสื่อสารกับระบบคอมพิวเตอร์ของร้านสรรพสินค้าโดยอัตโนมัติ ทำให้คอมพิวเตอร์ในห้างรู้ว่าเราได้เข้าไปเดินชมสินค้า และจากพฤติกรรมการเลือกดูสินค้า ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถคาดเดาความต้องการของเรา แล้วทำการประมวลผลจนนำไปสู่การทำข้อเสนอพิเศษเพื่อจูงใจให้เราซื้อ ความสามารถในการสื่อสารข้อมูลจาก IoT ดังตัวอย่างที่กล่าว นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมในเชิงธุรกิจหลากหลายรูปแบบตามจินตนาการณ์ของคนเรา
คงจะคาดเดาได้ไม่ยากว่าภายในอีกไม่นานข้างหน้า ถ้ารัฐบาลไทยยอมให้ขึ้นค่าแรงจาก 300 บาทต่อวัน เป็น 360 บาท หรือมากกว่า จะเป็นผลอย่างไรต่อศักยภาพการแข่งขันของสินค้าไทยในต่างแดน การขึ้นค่าแรงถึงร้อยละ 20 หรือมากกว่าในช่วงอีกหนึ่งหรือสองปีข้างหน้าจะนำไปสู่การย้ายฐานการผลิตสินค้าไปสู่ประเทศที่สามที่มีค่าแรงต่ำกว่า และมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เหนือกว่าไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ประเทศไทยอาจไม่สามารถป้องกันไม่ให้ขึ้นค่าแรงจนถึงขนาดที่ธุรกิจไม่สามารถแข่งขันได้ แต่ประเทศไทยสามารถใช้เทคโนโลยีช่วยลดต้นทุนด้านอื่น ๆ ได้ รวมทั้งใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าไทย เป็นการทดแทนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นได้ การลดต้นทุนด้วยการพัฒนาวิธีจัดการด้าน Supply Chain หรือมาตรการสร้างมูลค่าด้วยบริการที่เพิ่มคุณค่าแก่ลูกค้ามากขึ้นนั้นเป็นวิธีที่จะทดแทนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ  IoT เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้  Industry Internet of Things (IIoT) เป็นการใช้ IoT ในภาคการผลิต ตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ตั้งแต่การบริหารจัดการการสั่งซื้อ การผลิต และบริหารระบบโลจิสติกส์ทั้งภายในและภายนอก ตลอดจนการจัดจำหน่าย การบริการหลังการขาย  ธุรกิจภาคการผลิตของประเทศเป็นธุรกิจที่ต้องรีบเร่งพัฒนาทักษะที่จะนำ IIoT มาประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง เช่นเดียวกับภาคธุรกิจหลัก ๆ อื่น ๆ เพื่อการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของประเทศให้ยั่งยืนได้

1.             ประโยชน์ของ IoT
ประโยชน์ของ IoT อยู่ที่ความสามารถในการสร้างข้อมูลเกี่ยวข้องกับสรรพสิ่งในปริมาณมาก ข้อมูลเหล่านี้ใช้สื่อสารกับ  IoT ตัวอื่น ๆ  ข้อมูลเหล่านี้เมื่อถูกนำไปวิเคราะห์และประมวลผลจะทำให้เกิดคุณค่าใหม่ ๆ จนทำให้สรรพสิ่งนั้น ๆ เพิ่มความฉลาดในการทำงานมากขึ้น เช่นในกรณีใช้ IoT กับเรือประมง ข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นจะสามารถช่วยตรวจสอบย้อนกลับว่าผลผลิตที่เป็นสัตว์น้ำถูกจับจากเรือลำไหน น่านน้ำส่วนไหน และเมื่อไร ข้อมูลจำนวนมากที่เกิดจาก IoT ในระบบธุรกิจ ตั้งแต่ IoT ที่เป็นเครื่องจักรในโรงงาน สินค้าและวัสดุที่ใช้ผลิตสินค้า ตลอดจนระบบงานต่าง ๆ ทั้งของเราเองและของคู่ค้าถูกนำไปวิเคราะห์เพื่อการตัดสินใจทางธุรกิจได้ ที่สำคัญข้อมูลที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกค้า ข้อมูลอันมหาศาลนี้เกิดขึ้นจากการเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะสินค้าและบริการจะช่วยการตัดสินใจที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีกว่าได้อย่างถูกที่ถูกทางและถูกโอกาส  เช่นบริการแท็กซี่แบบสมัยใหม่ Grabtaxi หรือ Uber ใช้ระบบ GPS ผ่านอุปกรณ์ในรถยนต์และโทรศัพท์มือถือของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการทำให้รถแท็กซี่และผู้โดยสารเป็น IoT  ทั้งคนขับและผู้โดยสารสามารถติดต่อสื่อสารเพื่อจองรถบริการ และระบุตำแหน่งของผู้โดยสารรวม อีกทั้งยังคำนวณระยะทางเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใช้บริการแบบเรียวไทม์และคำนวณค่าบริการ ทั้งหมดนี้นำไปสู่การบริการที่สะดวกและมีคุณค่าเพิ่มขึ้น เป็นผลให้การบริการแท็กซี่แบบเดิมนั้นล้าสมัยไปโดยสิ้นเชิง
ภาคธุรกิจเริ่มนิยมนำ IoT มาประยุกต์เพื่อให้ได้ประโยชน์อย่างน้อยในด้านเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ และพัฒนาธุรกิจที่เน้นผลลัพธ์หรือ Outcome เป็นหลักดังนี้

1.1.       การใช้ IoT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ
ดังที่ได้กล่าวมาข้างตันว่าความสำคัญของ IoT คือการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เช่น Sensors, RFID, Beacon และอื่น ๆ เพื่อเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ เข้ากับอินเทอร์เน็ต เพื่อให้สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นเป็น Data Point ที่สามารถสื่อสารข้อมูลกับโลกภายนอก ทำให้สิ่งต่าง ๆ สร้างข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวเองและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง เช่นเครื่องจักรในโรงงาน หรือเครื่องปรับอากาศในอาคารสามารถบอกสถานภาพหรือสภาพเกี่ยวกับความสามารถการทำงานชองตนเองในแต่ละขณะ เพื่อให้คนที่เกี่ยวข้องได้รับรู้สภาพที่แท้จริงของเครื่องจักรและอุปกรณ์นั้น ๆ เพื่อคาดเดาสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น เช่นเกิดขัดข้องจนทำงานไม่ได้ เพื่อจะได้หามาตรการแก้ไขก่อนที่กระบวนการผลิตจะหยุดชะงักจนเกิดความเสียหาย ความสามารถของ IoT ที่สามารถสื่อสารข้อมูล สามารถรับรู้ได้ (Sense) หรือปฏิสัมพันธ์ได้ (Interact) กับสิ่งภายนอก เป็นหนทางที่จะช่วยให้เรานำไปออกแบบกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้โดยรวม เช่นการทำให้เครื่องจักรในกระบวนการผลิตสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง สามารถจัดการประหยัดพลังงาน สามารถติดตามและวิเคราะห์ความต้องการเกี่ยวกับวัสดุที่ป้อนเข้าสู่สายการผลิตอย่างไม่ติดขัด ในขณะเดียวกันก็ช่วยหลีกเลี่ยงการสต๊อกวัสดุมากเกินความจำเป็นจนทำให้ต้นทุนการผลิตสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ IoT ยังสามารถช่วยสร้างนวัตกรรมในเชิงกระบวนการเพื่อให้การทำงานภายในองค์กร และการบริการลูกค้ามีประสิทธิภาพและประหยัด ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างการใช้ IoT เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ

1.2.       การใช้ IoT เพื่อพัฒนาธุรกิจที่เน้น Outcome เป็นหลัก
ทุกวันนี้ ธุรกิจจะไม่สามารถแข่งขันลำพังที่ตัวสินค้าและบริการเหมือนแต่ก่อน เนื่องจากผู้ผลิตทั่วโลกสามารถผลิตสินค้าจำนวนมากที่มีคุณภาพด้วยต้นทุนต่ำใกล้เคียงกัน ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้นและให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายที่มีคุณค่าตามบริบทของตนเองมากขึ้น ธุรกิจจึงต้องอาศัยความสามารถที่จะสร้างคุณค่าหรือสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า คือเน้นที่ผลลัพธ์ในมุมมองของลูกค้าเป็นเครื่องมือใหม่ในการแข่งขัน  ฝรั่งเรียกการดำเนินธุรกิจแนวใหม่นี้ว่า “Outcome Economy”  อธิบายง่าย ๆ  Outcome Economy[1] คือธุรกิจที่เน้นผลลัพธ์ ไม่เน้นเพียงแค่ผลิตและจำหน่ายสินค้าและบริการ  ตัวอย่างที่เข้าใจได้ง่ายมาจากประโยคที่รู้จักกันในหมู่ธุรกิจสมัยใหม่ที่กล่าวโดยนักเศรษฐศาสตร์สำคัญ Theodore Levitt ท่านพูดว่า เราต้องการรูบนกำแพงเพื่อไว้แขวนรูป เราไม่ต้องการเป็นเจ้าของเครื่องสว่านเจาะรู  แท้ที่จริง คนเราส่วนใหญ่ต้องการผลแต่ไม่ได้ต้องการความเป็นเจ้าของอุปกรณ์หรือตัวสินค้า
เราคุ้นเคยกับการไปหาหมอแล้วหมอก็ให้ยาเรามา แต่ผลจะเกิดขึ้นหรืออยู่ที่คนไข้ได้รับประทานยาตามที่หมอสั่ง ถ้าไม่รับประทานก็ไม่เกิดผล  การซื้อและขายยาไม่ถือว่าเป็น Outcome แต่ถ้าเราติด Sensor ไว้ในกล่องใส่ยา ทำให้กล่องใส่ยาเป็น IoT  ถ้าคนไข้ไม่เปิดกล่องกินยาตามกำหนด Sensor จะส่งสัญญาณไปที่เครื่องโทรศัพท์มือถือของคนไข้เพื่อเตือนให้กิน ถ้าคนไข้กินยาบ้างไม่ยอมกินบ้าง Sensor จะส่งข้อมูลนับจำนวนครั้งที่คนไข้เปิดกล่องยาเพื่อกินยา รายงานไปยังนายแพทย์เจ้าของไข้เพื่อแพทย์จะได้หามาตรการแก้ไขสถานการณ์ต่อไป ธุรกิจที่เน้นเรื่องผลลัพธ์มากกว่าตัวสินค้าหรือบริการกำลังอยู่ในความสนใจในยุคของ IoT ซึ่งถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมในเชิงรูปแบบใหม่ของธุรกิจที่สำคัญจากนี้เป็นต้นไป และ IoT จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้เกิดการปฏิรูปรูปแบบการทำธุรกิจได้

2.             แนวทางที่ทำให้ได้ประโยชน์จาก IoT
ประโยชน์ของ  IoT ไม่ว่าจะใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจการก็ดี หรือใช้เพื่อพัฒนาธุรกิจที่เน้นผลลัพธ์หรือ Outcome ก็ดีนั้น เกิดจาการทำให้คน เครื่องจักร สินทรัพย์ทางด้านกายภาพอื่น ๆ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมให้เป็น IoT เพื่อสร้างข้อมูลและสื่อสารกันระหว่าง IoT และสิ่งแวดล้อม ข้อมูลจำนวนมากที่ถูกสร้างขึ้นถูกนำไปวิเคราะห์เพื่อใช้ตัดสินค้าใจในเชิงธุรกิจ  IoT จะเกิดประโยชน์ได้ต้องทำงานเป็นเครือข่ายประกอบด้วยองค์กร หน่วยงาน เทคโนโลยี สินค้าและบริการรวมทั้งสรรพสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก IoT เหล่านี้ต้องเชื่อมโยงผ่านอินเทอร์เน็ตกลายเป็นระบบเครือข่ายขนาดใหญ่และสลับซับซ้อนมาก  เพื่อให้สามารถทำงานสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมาย เราจำเป็นต้องมีระบบ IoT Ecosystem หรือระบบนิเวศ IoT  เพื่อรองรับการทำงานเป็นเครือข่ายอย่างเป็นระบบ อีกทั้งต้องมีมาตรการในการทำงานร่วมกันระหว่างคนและเครื่องจักรของต่างหน่วยงาน เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลและทรัพยากรที่มีหลากหลายชนิด และยังสามารถนำข้อมูลจากที่ต่าง ๆ มาวิเคราะห์ประเมินผลเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับการผลิตและการทำธุรกิจ

2.1.       IoT Ecosystem เพื่อสนับสนุนการทำงานแบบเครือข่าย
ระบบที่ประกอบด้วย IoT นั้นทำงานด้วยการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ากับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยอุปกรณ์เหล่านี้เป็น Data point ของสรรพสิ่ง แต่เนื่องจากระบบที่มีส่วนประกอบของ IoT นั้นมีทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่หลากหลายจำนวนมาก รวมทั้งระบบซอฟต์แวร์ประยุกต์ต่าง ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของ Total solution หรือ End-to-end solution  นั้น ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดหาและจัดการอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีที่มีมากมาย ต่างคนต่างมีบทบาทที่จะทำงานร่วมกันเพื่อทำงานบรรลุผลตามเป้าหมาย  การเชื่อมโยงดังกล่าวต้องคำนึงถึงมาตรฐานการเชื่อมโยง ภาษาที่ใช้สื่อสารระหว่างกัน ตลอดจนกฎกติกาและเงื่อนไขของการเชื่อมโยง องค์ประกอบทั้งหมดนี้รวมกันเรียกว่า “IoT Ecosystem” หรือระบบนิเวศ IoT
ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ IoT คือ Software Platform ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงกันทางเทคนิค ภายใน IoT Ecosystem หนึ่ง ๆ มักจะมี Software Platform มากกว่าหนึ่ง Platform ที่ทำหน้าที่แตกต่างกัน เช่น IoT Ecosystem ของระบบ Smart Manufacturing อาจประกอบด้วย Software Platform ของกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบ Supply Chain และมีอีก Platform หนึ่งสำหรับเชื่อมต่อเครื่องจักรของโรงงานกับระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทที่ให้บริการบำรุงรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ  ยังมี Platform ที่เชื่อมโยงคลังสินค้าเพื่อบริหารจัดการคลังสินค้า นอกจากนี้ยังอาจมี Platform เชื่อมโยงกลุ่ม IoT ที่เกี่ยวข้องกับการบริการโลจิสติกส์ เป็นต้น โดย แต่ละ Platform จะมีการเชื่อมโยงกันอย่างน้อย 4 ระดับดังนี้
·       ในระดับอุปกรณ์ (Connected devices) ที่เชื่อมโยงกับสรรพสิ่ง  IoT ที่ใช้เชื่องโยงนั้นทำงานภายใต้ Operating system ที่แตกต่างกันก็จริง แต่อาศัยมาตรฐานการเชื่อมโยงที่เข้าใจตรงกันระหว่างสมาชิกและกับส่วนอื่น ๆ  หรือกับเทคโนโลยีที่จะช่วยรวมกลุ่มอุปกรณ์เพื่อเชื่อมต่อกับโลกภายนอกที่จุดเดียวเช่น เทคโนโลยี Gateway เป็นต้น
·       ในระดับการเชื่อมโยงกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งอาจใช้มาตรฐานระบบการสื่อสารไร้สาย หรือ Wi-Fi router หรือมาตรฐานทั้งแบบรัศมีใกล้และไกลชนิดอื่น ๆ
·       ในระดับบริการในเชิงปฏิบัติงาน (Application services) และการแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยอาศัยมาตรฐานที่ยอมรับกันเช่น JSON, SOA ฯลฯ
·       ในระดับสนับสนุนการใช้ระบบงานอื่น ๆ ประกอบด้วยบริการติดตามผลการทำงานของอุปกรณ์และเครือข่าย ( Performance Monitoring) การบริการปริมาณการใช้บริการเพื่อส่งบิลค่าใช้บริการ ตลอดจนการบริการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบงาน ฯลฯ

ระบบนิเวศ IoT จึงเป็นส่วนสำคัญของระบบธุรกิจยุคใหม่ที่ใช้ IoT ที่จะขาดไม่ได้ ธุรกิจที่ทำกันแบบเครือข่าย เช่นระบบ Global supply chain จะมีระบบนิเวศ IoT ที่ประกอบด้วย Platform หลากหลายมาก การออกแบบและสร้างระบบนิเวศ IoT และระบบ Platform เพื่อรองรับธุรกิจใหม่นี้ถือว่าเป็นนวัตกรรมที่เราต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

2.2.       การร่วมสร้างคุณค่าและร่วมเพิ่มผลิตภาพ
ธุรกิจที่ใช้ IoT เป็นธุรกิจที่ทำงานเป็นเครือข่าย ทั้งเครือข่ายภายในองค์กรและเครือข่ายที่เชื่อมโยงกับพันธมิตร ทุกเครือข่ายจะเชื่อมโยงการทำงานระหว่างคนกับเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อหวังให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิพลได้ด้วยระบบอัตโนมัติที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ เมื่อธุรกิจเริ่มเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าและจำหน่ายสินค้ามาเป็นเน้นคุณค่าและ Outcome  จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล เครือข่ายและระบบนิเวศ IoT ช่วยให้เกิดการแบ่งปันทรัพยากรและใช้ทรัพยากรร่วมกัน การทำงานที่ร่วมมือกันระหว่างพันธมิตรจึงเป็นการนำทรัพยากรของทุกฝ่ายมาใช้ร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์และคุณค่ามากที่สุดแก่ทุกฝ่าย หลีกเลี่ยงการลงทุนซ้ำซ้อน ทำให้ Time to market ดีขึ้น ทรัพยากรมีตั้งแต่องค์ความรู้ ข้อมูล กระบวนการทำงาน และสินทรัพย์อื่น ๆ  ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เป็นเพราะ IoT และระบบนิเวศ IoT   การเข้าถึงทรัพยากรของพันธมิตรที่อยู่ภายในเครือข่ายจะทำให้เกิดการ Recombine ทรัพยากรจนนำไปสู่การสร้างทรัพยากรที่เป็นองค์ความรู้และทักษะใหม่ ๆ  เกิดเป็นคุณค่าและมูลค่าเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณแก่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งจะนำไปสู่การประหยัดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในที่สุดได้

โดยสรุป IoT ช่วยให้ธุรกิจปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์จากการผลิตและจำหน่ายสินค้าไปเป็นการบริการที่เน้น Outcome การแข่งขันธุรกิจจากนี้ไปขึ้นอยู่ที่ความสามารถในการสร้างคุณค่าที่จับต้องได้ให้แก่ลูกค้า ช่วยให้ธุรกิจดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น โรงงานสามารถดำเนินการผลิตโดยไม่หยุดชะงัก สามารถมีวัสดุเพื่อป้อนสายการผลิตได้อย่างไม่ติดขัด สามารถ Reconfigure เครื่องจักรในโรงงานเพื่อผลิตสินค้าตามสั่งได้อย่างทันท่วงทีและประหยัด  จนถึงการเสนอคุณค่าอื่น ๆ ตามความต้องการของลูกค้าได้  IoT และ Software platform ช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างข้อมูลและจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวกับสรรพสิ่งในระบบธุรกิจเพื่อการแลกเปลี่ยนสื่อสาร และวิเคราะห์เพื่อให้มีความรอบรู้ในเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจสามารถพัฒนาสินค้าบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการตามบริบทของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วและประหยัด กล่าวโดยรวม ธุรกิจจากนี้ไปควรต้องพิจารณานำ IoT ไปใช้อย่างน้อยดังนี้
1)            ปรับปรุงระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain System) เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการสั่งซื้อและได้มาซึ่งวัสดุเพื่อใช้ในการผลิต โดยสามารถเชื่อมโยงกับระบบงานของ Suppliers และพันธมิตรอื่นเพื่อให้มีทางเลือกมากขึ้น โดยเน้นการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
2)            ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น โดยอาศัย IoT ทำให้เครื่องจักรส่งข้อมูลเกี่ยวกับสภาพของตัวเองในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้คนที่เกี่ยวข้องสามารถแก้ไขสถานการณ์ล่วงหน้าก่อนที่จะเกิดเหตุขัดข้องจนเป็นเหตุให้สายการผลิตต้องหยุดชะงักและเกิดความเสียหาย นอกจากนี้ยังช่วยให้สามารถปรับเปลี่ยนสายการผลิตและกระบวนการผลิตให้เหมาะสมกับการสั่งจ้างการผลิตได้อย่างสะดวก รวดเร็วและประหยัด
3)            เพิ่มประสิทธิภาพ (Optimize) ตลอดกระบวนการผลิต การจำหน่ายและการบริการ (Manufacturing value chain) โดยใช้ IoT กับเครื่องจักร อุปกรณ์ ระบบโลจิสติกส์ คลังสินค้า ตลอดจนถึงส่วนที่เกี่ยวกับการบริการลูกค้าเพื่อปรับเปลี่ยนแนววิธีดำเนินการที่ส่งผลให้เกิดการผลิตและจำหน่ายสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพในราคาที่แข่งขันได้
4)            ใช้ IoT เสริมสร้างความใกล้ชิดกับพันธมิตรและลูกค้า จนเกิดความสัมพันธ์ที่ดี นำไปสู่การร่วมมือกันเพื่อสร้างคุณค่าร่วมกันด้วยความจริงใจระหว่างกัน

ประโยชน์ของ IoT มีไม่จำกัด ขึ้นอยู่กับจินตนาการณ์ของเราว่าจะคิดสร้างสรรค์นำไปประยุกต์ใช้กับงานส่วนใดและอย่างไร IoT เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าปรากฏการณ์ด้านเทคโนโลยีครั้งใหม่นี้จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงแนวทางการธุรกิจครั้งใหญ่ (Disruptive change) ที่ไม่มีใครอาจมองข้ามได้  ธุรกิจไม่ว่าจะขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กต่างต้องเตรียมตัวเรียนรู้และพร้อมที่จะปรับตัวเองให้เข้ากับระบบธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ในโลกสองใบ นั่นก็คือโลกกายภาพและโลกดิจิทัลที่เชื่อมโยงกันด้วย Internet of Things นำไปสู่การเป็นธุรกิจส่วนหนึ่งของระบบห่วงโซ่คุณค่าระดับโลก (Global Value Chain) ได้ในที่สุด

ยังมีต่อครับ


[1] เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ของ Alan Alter โดย Mary K. Pratt, http://searchcio.techtarget.com/feature/The-outcome-economy-is-upon-us-is-your-business-ready

No comments:

Post a Comment