Saturday, January 24, 2015

บทบาทของ Enterprise Architecture กับ Service Scienceในการจัดการธุรกิจยุคใหม่ ตอนที่ 11



ในบทความตอนที่ 10 ได้แนะนำ ArchiMate ซึ่งเป็น Modeling language ที่ใช้ออกแบบสถาปัตยกรรมองค์กร  ภาษาสร้างแบบชุดนี้ใช้ได้ดีกับวิธีการออกแบบสถาปัตยกรรมองค์กรของ TOGAF (The Open Group Architecture Framework)  บทความตอนใหม่จะเล่าถึงกรอบหรือต้นแบบ หรือ Viewpoint ชุดมาตรฐานของ ArchiMate ที่สามารถช่วยสถาปนิกสร้าง Blueprint และเครื่องมือ Archi ที่ใช้ออกแบบสถาปัตยกรรมองค์กร

3.2    Viewpoint ของ ArchiMate
ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนที่ 8 ว่า IEEE 1471 ให้ความสำคัญกับมาตรฐานของต้นแบบของสถาปัตยกรรมองค์กร ที่นำไปสู่การสร้างแผ่นพิมพ์เขียว (Blueprint) หรือ View โดยกำหนดว่าให้แผ่นพิมพ์เขียวแต่ละชนิดถูกสร้างขึ้นโดยมี Pattern หรือ Viewpoint เป็นต้นแบบ  ผู้ที่คุ้นเคยกับการเขียนโปรแกรมด้วย Object oriented technology จะเปรียบ View เหมือน “Object” ในขณะที่ Viewpoint เหมือน “Class”   ArchiMate อาศัยหลักคิดนี้และได้ออกแบบต้นแบบหรือ Viewpoint ถึง 27 แบบเพื่อให้สถาปนิกเลือกใช้ตามขั้นตอนการสร้างสถาปัตยกรรมของ TOGAF (Architecture Development Method (ADM)) ที่ได้อธิบายแล้วในบทความตอนที่ 9 และขอนำเสนออีกครั้งตามภาพข้างล่างนี้




ArchiMate ได้จัดกลุ่ม Viewpoint ให้เหมาะสมกับงานในแต่ละขั้นตอน เป็น 3 กลุ่มตามวงจรของการสร้างสถาปัตยกรรม ประกอบด้วย  1) Motivation 2) ArchiMate core และ 3) Implementation and migration

1)        Motivation เป็นขั้นกำหนดเป้าประสงค์ กำหนดหลักการ และความต้องการขององค์กร เป็นขั้นตอนการทำงานที่เกี่ยวกับ Phase A: Architecture vision ภายใต้กรอบ ADM ของ TOGAF ที่แสดงในรูปข้างต้น งานหลัก ๆ ประกอบด้วยประมาณขนาดของโครงการหรือปริมาณเนื้องาน ทำความเข้าใจเรื่องข้อจำกัด ทำความเข้าใจความต้องการ (Business requirement) อย่างกว้าง ๆ เนื้องานทั้งหมดจะถูกสรุปเป็น “Request for Architecture Work” และต้องมีรายละเอียดเพียงพอที่จะทำงานในขั้น Phase B: Business Architecture ได้
แต่ก่อนที่จะทำงานใน Phase A นี้ จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนที่เรียกว่า “Preliminary Phase” ซึ่งเป็นงานตระเตรียมความพร้อม ประกอบด้วยการทำความรู้จักกับคนที่เกี่ยวข้อง ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีทำงานระหว่างสมาชิกในทีม ให้ทุกคนเข้าใจถึงมาตรการการจัดการและการควบคุมการทำงานให้บรรลุคุณภาพตามความคาดหมาย  และที่สำคัญทุกคนต้องเข้าใจหลักการของสถาปัตยกรรมองค์กร
ArchiMate กำหนดให้มีต้นแบบ (Viewpoint) ภายในกลุ่มนี้จำนวน 6 ต้นแบบ ประกอบด้วย (รายละเอียดอ่านได้จากหนังสือ ArchiMate[1])
·      Stakeholder Viewpoint
·      Goal Realization Viewpoint
·      Goal Contribution Viewpoint
·      Principle Viewpoint
·      Requirements Realization Viewpoint
·      Motivation Viewpoint
2)        ArchiMate Core ใช้สำหรับงานของ Phase B, C, และ D ซึ่งเป็นขั้นตอนหลักของสถาปัตยกรรมองค์กร ประกอบด้วย Business Architecture, Information Systems Architecture (Data architecture and Application Architecture) และ Technology Architecture.  ArchiMate กำหนดให้มีต้นแบบ (Viewpoint) จำนวน 18 ต้นแบบ ในที่นี้จะแนะนำเพียงบางรายการเพื่อให้พอเห็นภาพเท่านั้น ส่วนรายละเอียดสามารถอ่านได้จากหนังสือ ArchiMate หรือบทความที่เกี่ยวข้องจากเว็บไซท์
·      Business Function Viewpoint
·      Process Viewpoint
·      Business Process Co-operation Viewpoint
·      Application Behavior Viewpoint
·      Application Usage Viewpoint
·      Infrastructure Usage Viewpoint
·      Information Structure Viewpoint
·      Service Realization Viewpoint
3)        Implementation and migration ใช้สำหรับงานใน Phase E (Opportunities and solutions), F (Migration plan), G (Implementation governance), และ H (Architectural change management) มีทั้งหมด 3 ต้นแบบประกอบด้วย
·      Project viewpoint เน้นการจัดรูปแบบเพื่อจัดการกับ Architectural change
·      Migration Viewpoint เน้นบรรยายแนวคิดและวิธีการปรับปรุงขั้นตอนเพื่อ Migrate ระบบเก่าไปสู่ระบบใหม่
·      Implementation and Migration Viewpoint บรรยายให้เห็นภาพการ Implement ระบบงานใหม่ในรูปโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่จะ Migrate จากระบบเก่าไปสู่ระบบใหม่
ต้นแบบหรือ Viewpoint ทั้ง 27 ต้นแบบใช้เป็น Guideline สำคัญสำหรับสถาปนิกเพื่อออกแบบ Blueprint ต่าง ๆ ของสถาปัตยกรรมองค์กร อีกทั้งยังเป็นมาตรฐานในเชิงสัญลักษณ์เพื่อสื่อสารให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจตรงกันในสิ่งที่นำเสนอด้วย
3.3    เครื่องมือออกแบบ
มีผู้พัฒนาเครื่องมือซอฟต์แวร์เพื่อใช้ออกแบบสถาปัตยกรรมองค์กรด้วยภาษาภาพ ArchiMate เป็นจำนวนมาก เช่น Visual Paradigm, Archi, ArchiSpark Neat, BizzDsign, และอื่น ๆ ในที่นี้จะแนะนำเครื่องมือชุด Archi[2] ซึ่งเป็น Open source ที่พัฒนาโดย Phillip Beauvoir  ด้วยการสนับสนุนด้านเงินทุนจาก JISC (the Joint Information Systems Committee) ของสหราชอาณาจักร Archi ถูกพัฒนาให้ทำงานอยู่บน Eclipse 4  จึงมี User interface ที่คุ้นหน้าคุ้นตาสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ดังแสดงในภาพข้างล่างนี้

Archi แยกส่วนประกอบ (Elements) ของ Blueprint เป็น Folder ตามโครงสร้าง 3 ชั้นของ ArchiMate Framework กล่าวคือ Business Layer, Application Layer, และ Technology Layer สำหรับตัว Blueprint หรือ View นั้นถูกแยกเก็บไว้ใน Folder เรียกว่า “Views” ส่วนประกอบ หรือ Elements ที่ใช้สร้าง Blueprint นั้นมีลักษณะดังตัวอย่างต่อไปนี้

เพื่อให้ง่ายต่อการสื่อความหมายภายในแผ่นพิมพ์เขียว (View),  Archi ใช้สีเพื่อแสดงความแตกต่างระหว่าง Elements ภายในแต่ละ Layers โดยใช้สีเหลืองแสดงกลุ่ม Elements ภายใน Business Layer สีฟ้า แสดง Elements ใน Application Layer และสีเขียวในส่วนของ Technology Layer  นอกจากนี้ ยังมี Element ในกลุ่ม Motivation ที่ใช้สีม่วง และสีชมพูในกลุ่ม Implementation & Migration อย่างไรก็ตาม Archi เปิดให้เราเปลี่ยนสีได้เองตามความเหมาะสม ภาพต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของ ArchiMate model ที่ถูกสร้างขึ้นด้วย Archi

จุดเด่นของ ArchiMate คือการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างสถาปัตยกรรมของแต่ละชั้นหรือ Layer ได้ ซึ่งหมายถึงส่วน Business Architecture, Application Architecture และ Technology Architecture ในแผ่นพิมพ์เขียวเดียวกันภายใต้ต้นแบบมาตรฐานของ ArchiMate (Viewpoint)  เครื่องมือ Archi เปิดให้เราแยกออกแบบสถาปัตยกรรมแต่ละชั้นหรือ Layer อย่างอิสระ แล้วนำมาแสดงความสัมพันธ์ระหว่างกันภายหลังได้ด้วยกลไกของ Viewpoint   นอกจากนี้ การเลือก Viewpoint เพื่อออกแบบ View นั้น  Archi ยังช่วย Block สัญลักษณ์ภาพที่ไม่เกี่ยวข้องออกจาก Canvas ที่สถาปนิกใช้ทำงาน เป็นการช่วยขจัดความผิดพลาดจากการเลือกใช้ Elements ที่อยู่นอกกรอบของ Viewpoint ได้
Archi มี Features ค่อนข้างครบถ้วนสำหรับใช้ออกแบบสถาปัตยกรรมองค์กร ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กโดยยึดหลักของภาษา ArchiMate ทุกประการ นอกจากนี้ ยังมี Function ที่อำนวยความสะดวกในการนำเสนอโมเดล ด้วยวิธีแปลงภาพให้เป็นรูปแบบอื่น เช่น PDF, MS Word, หรือ MS Powerpoint ได้

บทสรุป
ที่ได้นำเสนอมาทั้งหมด ชี้ให้เห็นความจำเป็นที่ทุกองค์กรไม่ว่าจะขนาดใหญ่หรือเล็กต้องปรับกลยุทธ์รับมือกับการแข่งขัน และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกค้า นำไปสู่ความจำเป็นที่ต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงาน และปรับปรุงระบบสารสนเทศที่สร้างรองรับการดำเนินธุรกิจภายใต้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ การลงทุนด้านเทคโนโลยีมีมูลค่าสูงมาก ยิ่งจำเป็นต้องมีมาตรการจัดการเพื่อหลีกเลี่ยงการลงทุนซ้ำซ้อน และสามารถตอบโจทย์ของยุทธศาสตร์องค์กรได้ นอกจากนี้ ยังต้องให้มั่นใจว่าระบบสารสนเทศทั้งเก่าและใหม่สามารถทำงานบูรณาการเพื่อให้มีศักยภาพบริการทั้งแก่พนักงานภายในองค์กรและลูกค้ารวมทั้งพันธมิตร สถาปัตยกรรมองค์กรจึงมีความจำเป็นและถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่บันทึกและแสดงโครงสร้างขององค์กรและระบบงาน เพื่อช่วยการสื่อสารเกี่ยวกับการทำงานในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนถึงการบริหารจัดการการออกแบบและการปรับปรุงลักษณะโครงสร้างองค์กร กระบวนการทำงาน และการจัดหาเครื่องมือสารสนเทศที่ประสานกัน สามารถทำงานประสานกันอย่างราบรื่นระหว่างคนและเครื่องจักร
บทความชุดนี้เริ่มด้วยการแนะนำกรอบแนวคิดพื้นฐานของสถาปัตยกรรมองค์กรคือ Zachman Framework ที่ให้นำเสนอส่วนประกอบของสถาปัตยกรรมแยกเป็น 36 ชนิด เราได้พูดถึงกรอบมาตรฐานของ IEEE 1471 ที่แนะนำออกแบบการนำเสนอสถาปัตยกรรมองค์กรโดยยึดแนวคิดของ Concerns ของ Stakeholders ในรูปของ Viewpoints และ Views เราได้พูดถึงขั้นตอนการสร้างสถาปัตยกรรมที่มี 8 ขั้นตอนของ TOGAF และสุดท้ายได้พูดถึงภาษาภาพที่ใช้สื่อสารสถาปัตยกรรม ArchiMate รวมทั้ง Viewpoint มาตรฐานจำนวน 27 แบบที่ช่วยสถาปนิกออกแบบสถาปัตยกรรม และสุดท้ายได้แนะนำ Archi เครื่องมือที่ใช้ออกแบบสถาปัตยกรรม
จากความจำเป็นไปสู่กรอบแนวคิดและเครื่องมือที่ช่วยออกแบบสถาปัตยกรรมองค์กรที่กล่าวมา น่าจะช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกระดับ ตั้งแต่ผู้บริหารธุรกิจ ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ นักออกแบบระบบสารสนเทศ และพนักงานระดับอื่น ๆ ได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการนำเสนอกรอบสถาปัตยกรรมองค์กรที่ช่วยสื่อสารเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานและระหว่างระบบงาน ตลอดจนมีข้อมูลที่สมบูรณ์ในทุกมิติที่จะช่วยการออกแบบระบบงานใหม่ มีแผ่นพิมพ์เขียวบันทึกความเชื่อมโยงของส่วนสำคัญ ๆ ขององค์กรและระบบงาน เพื่อให้การบริหารจัดการ การปรับปรุง ปรับเปลี่ยน และต่อเติมโครงสร้างขององค์กร กระบวนการทำงาน และระบบงานทำได้อย่างเป็นระบบ เป็นการช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากความผิดพลาดในการตัดสินใจเพื่อลงทุน ตัดสินใจในเชิงยุทธศาสตร์ และในเชิงแก้ไขปัญหาทางธุรกิจอื่น ๆ ได้ และเมื่อเกิดความสนใจที่จะใช้ EA ในองค์กร ก็ยังสามารถเลือกกรอบเพื่อการพัฒนาสถาปัตยกรรม กำหนดขั้นตอนการพัฒนา และเลือกใช้เครื่องมือช่วยพัฒนาได้อย่างเหมาะสมด้วย



[1] Josey, Andrew et al., Archimate 2.1 A Pocket Guide, Van Haren Publishing, www.vanhaen.net, March 2012.
[2] http://www.archimatetool.com/

No comments:

Post a Comment