Sunday, July 18, 2010

พัฒนาคนด้อยโอกาสเพื่อทุนมนุษย์ที่มีคุณค่าเพิ่มขึ้น

ตามที่ได้กล่าวไว้ในบทความตอนที่แล้ว เกี่ยวกับการประชุมทางวิชาการ “Mega-Trand in Human Capital and Labour Productivity towards Global Integration” จัดโดยกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 15-16 กรกฏาคม 2553 ว่า ที่ประชุม ได้กล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องพัฒนากลุ่มคนยากจนในชนบท ให้เป็นทุนมนุษย์ที่มีคุณค่าให้แก่ระบบเศรษฐกิจโดยรวม  ตามโปรแกรมเดิม ดร.มีชัย วีระไวทยะจะเป็นผู้มาเล่าให้ฟังถึงแนวคิด และโครงการที่ท่านได้ทำมาแล้ว ภายใต้โครงการของการพัฒนาประชากรและชุมชน และโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน แต่ด้วยเหตุสุดวิสัย ท่านมาร่วมรายการไม่ได้ แต่ได้จัดทำเอกสารเผยแพร่ให้หนึ่งชุด เข้าใจว่า คณะผู้จัดงาน คงจะจัดให้มีการเดาโหลดจากเว็บไซท์ของการประชุมในเวลาต่อมา

ผมได้อ่านเอกสารที่ ดร. มีชัย วีระไวยทยะที่กรุณาจัดทำให้ เห็นว่าเนื้อเรื่องมีความน่าสนใจ และเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การสัมมนามีความสมบูรณ์ ในส่วนเกี่ยวกับการพัฒนาทุนมนุษย์ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และด้อยโอกาส เพื่อให้กลายเป็นทุนมนุษย์ของประเทศที่มีคุณค่าเพิ่มขึ้น และถ้าหากทำได้สำเร็จทั้งระบบ ประเทศไทยก็จะเพิ่มทุนมนุษย์ที่ Productive สามารถช่วยขยายฐานระบบเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตขึ้น จึงขอนำประเด็นที่สำคัญมาแบ่งปันกัน ไหน ๆ เราอยู่ในโลกของสื่อสังคม ถ้า Message นี้สามารถเข้าถึงผู้ที่มีจิตสาธารณะ ที่มีแนวคิดที่จะช่วยแก้ปัญหาของประเทศชาติ จะได้ช่วยกันระดมความคิดโดยอาศัยช่องทางใหม่ คือ Social Media ช่วยกันขยายผล ให้โครงการในลักษณะเช่นนี้ ขยายพันธุ์ให้รวดเร็วและกว้างไกลมากยิ่งขึ้น

แนวคิดหลักของการบรรเทาความยากจน คือการช่วยพัฒนาทักษะด้านธุรกิจให้แก่กลุ่มคนรายได้น้อย และด้อยโอกาส และให้เข้าถึงแหล่งทุนซึ่งจำเป็นสำหรับการทำธุรกิจ ดร.มีชัยพยายามบอกว่า การแก้ปัญหาความยากจน ไม่ใช่การให้ (Charity) แต่เป็นการช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจ (Through Businesses) เพราะการให้ จะยิ่งทำให้ต้องพึ่งพาคนอื่นมากขึ้น การให้ไม่ใช่หนทางการสร้างทักษะที่จำเป็นเพื่อการยังชีพ การให้จะไม่ทำให้คนยากจนพึ่งพาตัวเองได้ และแน่นอน การให้เป็นสิ่งไม่ยั่งยืน วิธีที่ดีที่สุดของการแก้ปัญหาความยากจน คือช่วยให้เขาพึ่งพาตัวเอง ด้วยการประกอบอาชีพตามสมรรถนะของแต่ละบุคคล โครงการที่จะช่วยขจัดความยากจนที่ดร.มีชัยทำขึ้น จึงเน้นเรื่องการทำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ด้วยการเป็นนักธุรกิจที่คุณมีชัยเรียกว่า “Barefoot Entrepreneurs”

ตัวอย่างโครงการที่น่าสนใจโครงการหนึ่ง คือการช่วยจัดตั้งเงินกองทุนเพื่อให้เงินกู้ สำหรับประกอบอาชีพในชุมชน และพัฒนาให้สมาชิกในชุมชนมีทักษะพื้นฐานเพื่อการบริการจัดการเงินทุน และความรู้การทำธุรกิจขั้นพื้นฐาน ตามโครงการนี้ มีการหาเงินกองทุนเพื่อตั้งเป็นธนาคารชุมชน (Village Development Bank) วิธีการคือ ให้สมาชิกในชุมชนร่วมกันปลูกต้นไม้ โดยกำหนดให้ต้นไม้ต้นหนึ่งมีมูลค่า 40 บาท ถ้าชุมชนร่วมกันปลูกได้ 25,000 ต้น กองทุนก็จะมีเงิน 1,000,000 บาท เงินจำนวนนี้ถูกนำมาใช้เป็นเงินทุนประเดิมเพื่อจัดตั้ง ธนาคารชุมชนที่กล่าว เจ้าของเงิน 1,000,000 บาท จะได้เงินคืน เมื่อต้นไม้เติบโตขึ้น ถึงขั้นตัดขายสู่ตลาดได้ ธนาคารชุมชนนี้ดำเนินการโดยสมาชิกของชุมชน มีการฝึกอบรมให้ความรู้เพื่อการบริหารจัดการธุรกิจการให้กู้ยีมเงินในรูปแบบ Mirco Credit และให้ชุมชนร่วมรับผิดชอบในธุรกิจของธนาคารเอง ชาวบ้านสามารถกู้เงินไปประกอบธุรกิจ ตามความถนัด ตั้งแต่ปลูกข้าว เลี้ยงไก่ ทอผ้า ทำดอกไม้เทียม ฯลฯ โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้กู้จะต้องผ่านการอบรมเรียนรู้การบริการการเงิน และการบริหารธุรกิจพื้นฐานก่อน ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะทางของชุมชน เป็นการร่วมมือระหว่างชุมชนกับภาคเอกชน

นอกจากโครงการพัฒนาทักษะเพื่อการเลี้ยงชีพแล้ว ยังมีโครงการพัฒนาเยาชนให้เป็นพลเมืองที่ดี และเป็นผู้นำในอนาคต วิธีการเริ่มตั้งแต่คัดเลือกเยาชนอายุระหว่าง 14-24 จากหมู่บ้าน แห่งละ 8 คน เพื่อรับการฝึกและให้ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย หลักการปฎิบัติที่มีธรรมภิบาล และความมีจิตสาธารณะ และสร้างประโยชน์แก่ชุมชน เยาชนกลุ่มนี้ถูกฝึกให้มีความคิดริเริ่ม มีความเป็นผู้นำ มีทักษะที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่น ในขณะเดียวกัน ถูกฝึกให้มีทักษะด้านการค้าการขายด้วย จะเห็นว่า แนวคิดของโครงการที่ริเริ่มโดยดร.มีชัย เป็นแนวคิดตรงกับที่วิทยากรได้นำเสนอในที่ประชุมจากประเทศหลายประเทศ ที่ต้องการพัฒนาเยาชนรุ่นใหม่ เน้นการปฎิบัติ และเน้นให้มีจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และการเน้นการดำเนินชีวิตที่พอเพียงและยั่งยืน มีจิตสำนึกที่จะแบ่งปันกัน

ในด้านการสร้างจิตสำนึกเพื่อการแบ่งปันกัน ดร.มีชัยได้เริ่มโครงการหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือโครงการที่เรียกว่า “The Green Village Toy Library” หลักคิดของโครงการนี้ คือส่งเสริมให้เด็ก ๆ ในชนบทบริจาคของเล่นของตัวเอง โดยความเห็นชอบของผู้ปกครอง ให้แก่ชุมชน เพื่อจัดเป็นคลังของเล่น Toy Library โครงการนี้จะสอนเด็กอายุตั้ง 8-14 ขวบเพื่อให้มีความรู้ในการบริการจัดการคลังของเล่นนี้ และร่วมกันรับผิดชอบในสินทรัพย์ของส่วนรวม เด็ก ๆ ในชุมชนสามารถขอยืมของเล่นได้ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องทำประโยชน์ให้แก่ชุมชนก่อน เช่นช่วยการปลูกต้นไม้ เก็บขยะ หรือทำความสะอาดวัดวาอาราม และที่สาธารณะ

ทั้งหมดที่กล่าว เป็นตัวอย่างของการมีส่วนร่วม (Paricipative), Empowerment และการร่วมมือกัน (Collaborative) เพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ระดับรากหญ้าให้มีคุณค่าต่อภาคเศรษฐกิจและสังคม ในขณะเดียวกัน เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนผ่านแนวคิดของ Social Businesses วันนี้ วิวัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้ก้าวไกลถึงจุดที่เรากำลังพูดถึง Social networking และ Ubiquitous เรากำลังพูดถึงแนวคิดการพัฒนาทุนมนุษย์ภายใต้สังคมยุคใหม่ ลองช่วยกันคิดลึก ๆ สักครั้งดูว่า เราได้ใช้ความเก่งของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ช่วยพัฒนาทุกมนุษย์ในกลุ่มด้อยโอกาส เพื่อให้เขาเหล่านี้สามารถช่วยตัวเอง และช่วยชุมชน เพียงพอหรือยัง

No comments:

Post a Comment