Monday, October 28, 2013

ทิศทางของไอซีทีปี 2014 ในสายตาของ Gartner ตอนที่ 2



บทความ “Top Strategic Technologies for 2014”  ของ Gartner ทั้งหมดมี 10 เรื่อง  ตอนที่แล้ว ได้นำเสนอไป 5 เรื่อง บทความตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ จะนำเสนอที่เหลืออีก 5 เรื่อง

Gartner’s the Top 10 Strategic Technology Trends for 2014 (Continue)

6.          ยุคของคลาวด์ส่วนบุคคล (The Era of Personal Cloud)

Gartner พยากรณ์ว่าคนเราจะใช้คลาวด์ส่วนบุคคล (Personal Cloud) มากขึ้น มีทั้งคลาวด์ส่วนบุคคลชนิดบริการจากภายนอก เช่น Dropbox, Box, iCloud, Google Drive, SkyDrive ฯลฯ และชนิดที่ใช้อุปกรณ์ (Appliances) ของตนเอง ขณะนี้เราหาซื้อเครื่อง Personal Cloud เพื่อใช้เองได้ซึ่งมีหลากหลายยี่ห้อ เช่น My Book Live ของ Western Digital, Seagate Central, LenovoEMC ฯลฯ ก่อนยุค Personal Cloud เรานิยมเก็บข้อมูลทุกชนิด เช่นจดหมาย เอกสาร รูปภาพ รูปถ่าย วิดีโอ ฯลฯ ไว้ในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ทั้งเครื่องพีซี  แล็ปท๊อป อุปกรณ์พกพาต่าง ๆ  อุปกรณ์แต่ละเครื่องเก็บข้อมูลอย่างอิสระ ผู้ใช้ต้องอาศัยอุปกรณ์ตัวที่บันทึกข้อมูลโดยเฉพาะเพื่อเข้าถึงข้อมูลที่ถูกจัดเก็บไว้ ชีวิตเราต้องพึ่งพาอุปกรณ์ที่มีข้อมูลบันทึกอยู่ เมื่อไรอุปกรณ์เกิดสูญหาย ชีวิตเราก็คงยุ่งยากมากและไม่สะดวกสบายเหมือนเดิม แต่ในยุคของ Personal Cloud เราเลิกพึ่งพิงอุปกรณ์ แต่กลายมาพึ่งพิงบริการคลาวด์ส่วนบุคคลแทน ที่สำคัญข้อมูลที่เก็บไว้ใน Personal Cloud สามารถเรียกกลับใช้ได้ด้วยเครื่องตัวไหนก็ได้ ไม่ยึดติดกับตัวอุปกรณ์ตัวเดิมอีกต่อไป คนเราเริ่มเป็นอิสระจากอุปกรณ์ เราจะทำงานเมื่อไร ที่ไหน ด้วยอุปกรณ์ตัวไหน ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลของเราได้อย่างสะดวกผ่านบริการ Personal Cloud  นอกจากนี้ ข้อมูลที่เก็บอยู่กับคลาวด์ส่วนบุคคลยังใช้ร่วมกับคนอื่นได้ เมื่อได้รับการอนุมัติจากเจ้าของแล้ว เพิ่มความสะดวกในการทำงานร่วมกันเป็นอย่างมาก

7.         ซอฟต์แวร์กำหนดทุกสิ่งทุกอย่าง (Software-Defined Anything)
เพื่อความเข้าใจการพยากรณ์ในข้อนี้ จำเป็นต้องเข้าใจที่มาที่ไปของ Software-Defined Anything (SDx) ในยุคของคลาวด์คอมพิวติง ศูนย์ข้อมูลของผู้ให้บริการรายสำคัญ ๆ มักจะเป็นศูนย์ขนาดใหญ่มาก มีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ตู้บันทึกข้อมูล และตู้ควบคุมการทำงานของระบบเครือข่ายจำนวนมาก ไม่เพียง 10-20 ตู้ แต่อาจมีถึงพัน ๆ หมื่น ๆ หรือแสน ๆ ตู้ การบริหารจัดการให้ระบบไอซีทีที่มีอุปกรณ์ชนิดต่าง ๆ จำนวนมหาศาลนี้ให้ทำงานอย่างราบรื่น มีวิธีบำรุงรักษา และแก้ไขปัญหาเมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่เรื่องทำได้ง่าย ๆ การบริหารศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่มากนี้ ไม่ง่ายเหมือนเช่นบริหารศูนย์คอมพิวเตอร์ Mainframe เมื่อ 30-40 ปีก่อน  แม้แต่ศูนย์คอมพิวเตอร์ของภาคธุรกิจธรรมดาในปัจจุบัน เช่นสถาบันการเงิน ก็ยังมีตู้คอมคอมพิวเตอร์ Servers, Data storage, Network และอุปกรณ์อื่น ๆ  เป็นจำนวนมากกว่ายุคก่อน ๆ  จนการบริหารจัดการศูนย์ข้อมูลแบบเดิม ที่อาศัยความชำนาญของวิศวกรและเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์นั้นทำไม่ได้อีกต่อไป ลองจินตนาการดูว่าเรากำลังทำงานกับระบบงานภายใต้ Virtualization เมื่อเกิดติดขัด มีปัญหาขัดข้องทางเทคนิคด้วยประการใดก็ตาม เราจะแก้ไขสถานการณ์อย่างไร อะไรคือจุดเริ่มต้นของฐานข้อมูล โปรแกรมที่เกี่ยวข้องทำงานอยู่กับเครื่อง Server ตัวไหนในขณะเกิดเหตุ  Node ของเครือข่ายเริ่มที่จุดไหน การวินิจฉัยปัญหาด้วยวิธีการโดยผู้ชำนาญการอย่างเดียวแบบเดิมไม่มีทางทำได้อย่างแน่นอน ทางออกคือต้องอาศัยซอฟต์แวร์เป็นตัวช่วย  ซอฟต์แวร์พิเศษจะถูกสร้างขึ้นเพื่อทำหน้าที่ควบคุม ประสานงานระหว่างส่วนต่าง ๆ ของระบบจำนวนมากที่กระจายอยู่ทั่วโลก พร้อมติดตามและจดจำงานทุกขั้นตอน เก็บข้อมูลไว้เพื่อช่วยการวินิจฉัยปัญหาและวิเคราะห์หาทางแก้ไขได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเมื่อเกิดความจำเป็น  นี่คือที่มาของคำว่า Software-defined  ซึ่งหมายความถึงมีซอฟต์แวร์กำหนดวิธีการทำงานและติดตามการทำงานทุกขั้นตอนของอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะการประสานงานและร่วมทำงานกันระหว่างกลุ่มทรัพยากรไอซีที  เรามี Software-defined network (SDN) คือระบบเครือข่ายที่มีซอฟต์แวร์ทำหน้าที่จัดรูปแบบ (Configure) และควบคุมการทำงานของระบบเครือข่ายจากจุดเดียว เรามี  SDDC (Software-defined data center) ที่มีซอฟต์แวร์ทำหน้าที่สนับสนุนการจัดการการดำเนินงานของศูนย์ข้อมูลที่อาศัย Virtualization เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรไอที นอกจากนี้ยังมีระบบซอฟต์แวร์ทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย การจัดการระบบเครือข่าย การจัดการระบบฐานข้อมูล ฯลฯ เรายังมี SDS (Software-defined storage) ที่มีหลักการเดียวกันกับ SDN คืออาศัยซอฟต์แวร์จัดการและควบคุมการทำงานของเครื่องบันทึกข้อมูล และจัดการให้กลุ่มเครื่องบันทึกข้อมูลทำงานภายใต้หลักการของ Virtual Storage 

จากที่กล่าวข้างต้น จะเห็นว่าการบริหารจัดการศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ และการดำเนินงานภายในศูนย์คอมพิวเตอร์ที่มีอุปกรณ์ต่าง ๆ จำนวนมาก ต้องอาศัยซอฟต์แวร์เพื่อควบคุมและประสานการทำงานในทุกขั้นตอน นี่คือความหมายของ Software-defined Anything หรือ SDx โดยย่อ  การแก้ไขปัญหาและการกู้คืนระบบงานบางระบบในบางขณะจากจำนวนงานนับร้อยนับพันงานที่ทำพร้อมกันในขณะเกิดเหตุนั้น ปัญหาอาจไม่ได้เกิดจากระบบฮาร์ดแวร์ แต่เกิดจากระบบซอฟต์แวร์ชุดหนึ่งชุดใด การแกะรอยและการวินิจฉัยปัญหาจึงต้องอาศัยความรู้ทั้งขั้นตอนการทำงานและกระแสงานที่ไหลเวียนอยู่ในอุปกรณ์ต่าง ๆ และความรู้เกี่ยวกับตัวระบบซอฟต์แวร์ประยุกต์ และซอฟต์แวร์ระดับ Middleware ทุกระบบ ซึ่งจะเพิ่มความยุ่งยากให้แก่ผู้มีหน้าที่แกะรอยเพื่อหาทางแก้ไข Software-defined Anything จึงรวมถึง Software-defined Application ด้วย
Software-defined Application เป็นการสร้างซอฟต์แวร์ที่กำหนดแนวทางดำเนินงานของศูนย์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบซอฟต์แวร์ประยุกต์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบซอฟต์แวร์ประยุกต์นั้น ๆ  ในระหว่างการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Development) จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ที่ชำนาญด้าน Operation อยู่ในทีมคอยให้คำปรึกษาในด้าน Operation กระบวนการเช่นนี้รู้จักกันในชื่อว่า DevOp  หรือการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Development) ที่รวมขั้นตอนด้านการดำเนินงานในศูนย์ข้อมูล (Operation)   ผลที่ได้คือมี Software-defined Operation เป็นส่วนหนึ่งของระบบซอฟต์แวร์ประยุกต์ เป็นผลให้ได้ Software-defined Application ตามที่กล่าว
Software-Defined Anything จำเป็นต้องอาศัยมาตรฐานเพื่อให้อุปกรณ์ชนิดต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของโครงสร้างพื้นฐานไอซีทีของศูนย์ข้อมูลและระบบซอฟต์แวร์ประยุกต์สามารถทำงานบูรณาการอย่างเป็นระบบกลมกลืนกัน เพื่อให้การซ่อมบำรุงรักษา และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ต่าง ๆ ทำได้ง่ายและรวดเร็ว มาตรฐานของการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ต่างยี่ห้อต่างรุ่นมีความสำคัญมาก เพราะจะทำให้ทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ เป็นประโยชน์แก่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง
ในเรื่องนี้ Gartner ได้พยากรณ์ว่า Open Source software จะมีบทบาทมากเพื่อขับเคลื่อนเรื่องมาตรฐานการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ด้วยซอฟต์แวร์ ดังจะเห็นจากความพยายามผลักดันของกลุ่ม Open source ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หลายโครงการ ตัวอย่างเช่น
1)         OpenStack เป็นโครงการเกี่ยวกับมาตรฐานเทคโนโลยีของคลาวด์คอมพิวติง เน้นบริการ Infrastructure as a Service (IaaS)
2)         OpenFlow เป็นโครงการเกี่ยวกับมาตรการการสื่อสารข้อมูล (Communications protocol) สนับสนุน Software-Defined Network (SDN)
3)         OpenCompute เป็นโครงการที่ริเริ่มโดย Facebook เพื่อกำหนดมาตรฐานการออกแบบและการสร้างศูนย์คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่มาก รวมทั้งมาตรฐานต่าง ๆ ของอุปกรณ์ไอซีที ที่จะเป็นส่วนประกอบของศูนย์ข้อมูล
4)         OpenRack เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ OpenCompute เกี่ยวกับข้อกำหนดมาตรฐานของตู้ชั้นวางอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของ Servers, data storage unit, routers, power supply, ฯลฯ

Gartner กล่าวว่า ถึงแม้จะมีการก่อตัวของกลุ่ม Consortiums เพื่อร่วมกันพัฒนามาตรฐานอย่างจริงจังก็ตาม แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงจะร่วมมืออย่างจริงใจและจริงจัง เนื่องจากบริษัทกลุ่มนี้เป็นผู้ครอบงำด้านราคาซึ่งสร้างกำไรได้ดีอยู่ การใช้มาตรฐานร่วมกันหมายถึงการมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น และการแข่งขันที่รุนแรงจะทำให้กำไรของตัวเองลดลง ซึ่งพวกเขายังไม่พร้อมที่จะเสี่ยงในช่วงที่ยังเป็นผู้นำตลาดอยู่

8.         Web-Scale IT
ศูนย์คอมพิวเตอร์ขนาดยักษ์อย่างเช่นของ Facebook, Google และ Amazon มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือมีขนาดใหญ่มาก ๆ ที่สามารถรับมือกับรายการเป็นพัน ๆ ล้านรายการต่อวัน Gartner เรียกศูนย์คอมพิวเตอร์ หรือศูนย์ข้อมูลขนาดยักษ์เหล่านี้ว่า “Web-scale Data Center”  ประมาณร้อยละ 20 ของศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีอยู่ในโลกขณะนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Hyperscale หรือ Web-scale ศูนย์ข้อมูลขนาดยักษ์ส่วนหนึ่งเป็นศูนย์ให้บริการสาธารณะ อย่างเช่น Google และ Facebook  และอีกกลุ่มหนึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลขององค์กรขนาดใหญ่ เช่นของรัฐบาล สถานบันการเงิน ฯลฯ Gartner พยากรณ์ว่าองค์กรขนาดใหญ่ทั่วโลกเริ่มคิดจะนำสถาปัตยกรรมของศูนย์ข้อมูลขนาดยักษ์ไปใช้ในองค์กรมากขึ้น เพื่อให้สามารถบริการและปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างใกล้ชิดทั่วโลกเป็นจำนวนมาก ๆ ซึ่งเป็นวิธีกินแดนตลาดให้กว้างขวางด้วยการสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับลูกค้าผ่านศูนย์ข้อมูลขนาดยักษ์นี้
แต่องค์กรเหล่านี้จะเริ่มเข้าใจว่า การขยายศูนย์ข้อมูลขนาดยักษ์นั้น ความยุ่งยากไม่ได้อยู่ที่ขนาด แต่อยู่ที่การออกแบบให้มีความยืดหยุ่นพร้อมรับประเด็นของการบำรุงรักษา และแก้ไขปัญหาและกู้คืนระบบงานให้สามารถกลับทำงานได้ตามปกติโดยเร็ว โดยไม่กระทบผู้ใช้แต่อย่างใด และต้องนำแนวคิด DevOp มาประยุกต์ดังที่ได้กล่าวมาในเรื่องของ Software-defined Anything  ทักษะการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ที่สามารถให้บริการอย่างยืดหยุ่น สามารถแก้ปัญหา ณ จุดวิกฤตที่สุด เป็นสิ่งท้าทายที่สุดในการบริหารจัดการศูนย์ข้อมูลที่มีขนาดใหญ่มาก แต่ก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

9.         Smart Machine
Gartner พยากรณ์ว่าในราวปี 2020 เครื่องจักรกลที่มีอัจฉริยภาพ หรือ Smart Machine หรือเครื่องจักรที่ฉลาด สุดแล้วแต่ใครจะเรียก จะเริ่มเข้ามามีบทบาทในภาคเศรษฐกิจจนเป็นผลต่อการจ้างงานระดับกลาง เหมือนในยุคที่เครื่องจักรกลอัตโนมัติหรือเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่มีผลต่อการจ้างแรงงานระดับล่างในโรงงานอุตสาหกรรม แต่อะไรคือ Smart Machine
Smart Machine คือเครื่องจักรกลที่อาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดความเป็นอัจฉริยะ รถยนต์รุ่นใหม่ที่จอดเองได้ ในอีกปีสองปีข้างหน้ารถยนต์จะสามารถทำตามคำสั่งผ่านเครื่องโทรศัพท์พกพา เราสั่งให้รถขับมารับจากที่จอด หรือเตือนคนขับล่วงหน้าก่อนที่จะขับชนสิ่งกีดขวาง เหล่านี้เป็นตัวอย่างของ Smart Machine สมัยใหม่ ที่น่าทึ่งมากคือระบบคอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็มชื่อ Watson คอมพิวเตอร์ชุดนี้เข้าใจและตอบคำถามด้วยภาษามนุษย์ได้ และเคยผ่านการทดสอบที่ฮือฮามากในโปรแกรมโทรทัศน์ยอดนิยมของชาวอเมริกัน คือ Jeopardy!  ในการทดสอบครั้งนั้น Watson สามารถเอาชนะคู่แข่งที่เป็นมนุษย์ได้อย่างขาดลอย ไอบีเอ็มให้ข่าวว่างานในเชิงพาณิชย์ชิ้นแรกของ Watson คือการวินิจฉัยโรคมะเร็งในปอด เพื่อแนะนำวิธีรักษาที่เหมาะสมที่สุด Smart Machine นอกจากจะทำงานแบบอัตโนมัติได้ ยังคิดเองได้ และเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ เพราะเป็นเครื่องจักรที่ถูกสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่รวม Intelligent software agents, expert systems  และ  Virtual Reality ที่จะเสริมความสามารถของหุ่นยนต์รุ่นใหม่ งานใด ๆ ที่มนุษย์ทำได้โดยอาศัยความรู้เพื่อวินิจฉัยและตัดสินใจ ก็จะสามารถทำได้ด้วย Smart Machine เช่นกัน  กลุ่ม Smart Machine ที่ถูกนำมาช่วยทำงานในสำนักงาน หรือในโรงงานเรียกว่า “Digital Workforce” หรือ แรงงานดิจิตอล ในขั้นแรกเครื่องจักรชนิดนี้จะสามารถทำงานอาศัยความรู้พื้นฐานแทนมนุษย์ ในขณะเดียวกันก็สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเอง เกิดการพัฒนาความรู้และทักษะที่ช่วยให้ทำงานสลับซับซ้อนเพิ่มขึ้นได้ สิ่งจูงใจที่ทำให้ธุรกิจหันมาสนใจใช้ Smart Machine ทดแทนมนุษย์เป็นเพราะค่าแรงคนระดับที่มีความรู้นั้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นักวิเคราะห์กล่าวว่าโดยเฉลี่ยค่าจ้างแรงงานสูงถึงประมาณร้อยละ 40 ของรายได้ในบางธุรกิจ ในสภาวะที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรงและจำเป็นต้องตัดลดค่าใช้จ่าย การใช้ Smart Machine ดูเสมือนจะเป็นทางออกที่ดี
                  Gartner พยากรณ์ว่าในระยะเริ่มต้น Smart Machine จะเข้ามารับบทบาทแทนมนุษย์ในงานเช่น เป็นผู้ช่วยและเป็นที่ปรึกษาในด้านข้อมูลและความรู้ ช่วยให้คนสามารถรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นรอบด้านทั้งปัจจุบันและอนาคตได้แม่นยำขึ้น ตลอดจนเป็นผู้ช่วยในด้านปฏิบัติงานบางอย่างที่จะอำนวยความสะดวกและประหยัดเวลา เช่นรถยนต์ที่ขับเองได้โดยอัตโนมัติ เครื่องจักรช่วยทำงานบ้านได้ และเป็นผู้ช่วยส่วนตัวเพื่อทำงานประจำอื่น ๆ  สิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยคิดว่าเป็นงานที่ทำได้ด้วยมนุษย์เท่านั้น บัดนี้เริ่มจะทำได้ด้วยเครื่องจักร  Gartner กล่าวว่าความสามารถของไอทีที่ทำให้เกิด Smart Machine ถือได้ว่าเป็นพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่รุนแรงครั้งสำคัญที่สุด (Disruptive) ในประวัติศาสตร์
              ที่น่าสนใจ Gartner เชื่อว่าจะมีเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า Cosumerization เกิดขึ้นกับ Smart Machine,  Cosumerization หมายถึงเทคโนโลยีไอซีทีใหม่บางชนิดที่สร้างความนิยมในหมู่ผู้บริโภค ก่อนที่จะเข้าสู่ตลาดธุรกิจหรือองค์กร ตัวอย่างเช่นเครื่องแท็บแล็ตและสมาร์ทโฟน  ซึ่งต่างจากเครื่องพีซีที่เข้าสู่ตลาดภาคธุรกิจก่อนที่ประชาชนธรรมดาจะเริ่มซื้อใช้เป็นสมบัติส่วนตัว ในกรณีของ Smart Machine นั้น Gartner พยากรณ์ว่า มีแนวโน้มที่พนักงานจะลงทุนซื้อใช้เอง เพื่อการเพิ่มคุณค่าให้ตนเองก่อนหรือระยะเวลาเดียวกันกับที่องค์กรเริ่มตัดสินใจลงทุน อย่างไรก็ตาม ยุคของ Smart Machine ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะเกิดผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ธุรกิจที่ปรับใช้ Smart Machine ได้ก่อน จะได้เปรียบด้านการแข่งขันเนื่องจากต้นทุนจะต่ำกว่า และมีความคล่องตัวสูงในการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ การผลิตด้วยวิธีทดแทนใช้แรงงานคนด้วยหุ่นยนต์ย่อมทำให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีกว่า Gartner  ยังกล่าวว่างานด้านไอทีจะมีโอกาสถูกระทบจาก Smart Machine เป็นรายต้น ๆ จึงแนะนำผู้นำด้านไอทีว่า
1)         ถึงเวลาแล้วที่ต้องเริ่มศึกษาเกี่ยวกับแนวโน้มและผลจาก Smart Machine อย่างจริงจัง
2)         ศึกษาผลกระทบที่จะมีต่อการดำเนินงาน (Operation) ในหน่วยงานไอทีขององค์กร (ให้เชื่อมโยงกับการพยากรณ์อีก 2 เรื่องที่กล่าวมาแล้ว คือ Software-defined Anything และ Web-Scale IT)
3)         เตรียมหามาตรการแก้ไขปัญหาคนว่างงานโดยต้องคำนึงถึงเรื่องจริยธรรม ศีลธรรม และปัญหาทางสังคม


10.   3-D Printing
ลองคิดสักนิดว่า ถ้าเราสามารถออกแบบรูปขนมหวานช็อคโกแลตด้วยฝีมือสมัครเล่นของเราเองผ่าน Digital art โดยเครื่องมือวาดภาพ 3 มิติ เช่น Blender ที่บ้าน แล้วส่งผลงานอันน่าประทับใจไปยังโรงงานทำขนมหวานช็อคโกแลตผ่านอินเทอร์เน็ต วันรุ่งขึ้น ทางโรงงานส่งขนมมาให้เราที่บ้าน หรือไปให้เพื่อน ๆ ในงานวันเกิด หรือวันระลึกถึงอะไรต่อมิอะไร คงจะน่าตื่นเต้นและประทับใจมากไม่น้อย ความสามารถนี้ได้เกิดขึ้นจริงแล้วในห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัย Exeter ในประเทศอังกฤษ มหาวิทยาลัยได้ทดลองทำขนมหวานช็อคโกแลตที่กล่าวด้วยเครื่อง 3D Printer หรือเครื่องพิมพ์ 3 มิติ 
พวกเราทุกคนคงเคยทำฟันเทียมกันมาแล้ว คงยังจำวิธีที่หมอนำดินน้ำมันเหนียว ๆ มาปะบนฟันเต็มปากเพื่อทำรูปฟัน หรือ Dental model เพื่อไปหล่อทำแบบ แล้วนำไปทำเป็นฟันเทียมมาใส่ให้พวกเรา รู้ไหมว่าทุกวันนี้พวกเรามีทางเลือกใหม่ แทนที่จะใช้ดินน้ำมันมาปะให้เปื้อนปาก เขาใช้เครื่องสแกนปาก เพื่อให้ได้ภาพฟันเต็มปากในรูปสามมิติดิจิตอล คือเป็นภาพสามมิติในรูปข้อมูลคอมพิวเตอร์  ข้อมูลชุดนี้ถูกส่งไปโรงงานทำเป็นแม่พิมพ์ (Mold) ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ได้ข่าวว่าผลที่ได้นั้นเที่ยงตรงกว่าวิธีเดิมมาก ฟันเทียมใส่พอดีปากและสวยงามตามต้องการ
ประโยชน์ของ 3D Printer ไม่เพียงตัวอย่างที่กล่าว แต่คนเราใช้ 3D Printer ออกแบบชิ้นส่วนของเครื่องจักร อุปกรณ์เครื่องใช้ทุกชนิด เราสามารถออกแบบสินค้าและสิ่งต่าง ๆ ที่มีกายภาพทุกชนิดด้วยซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ แล้วนำข้อมูลส่งไปพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่กล่าว ได้ผลออกมาเป็นของจริงที่จับต้องได้ แล้วนำไปสร้างต้นแบบส่งเข้าสายการผลิตเป็นสินค้าจริงต่อไป นี่คือปรากฏการณ์พัฒนาการเทคโนโลยีสารสนเทศที่ Gartner พยากรณ์ไว้เป็น 1 ใน 10 อันดับที่จะมีความสำคัญต่อมนุษย์ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นไป
Gartner พยากรณ์ว่า จำนวนเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่ถูกผลิตส่งลูกค้าทั่วโลกในอีกสองปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าหนึ่งเท่าตัว เครื่องพิมพ์ 3 มิติที่ตลาดต้องการในขณะนี้มีราคาระหว่าง 1.5 ล้านถึง 15 ล้านบาท ตลาดนี้กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในตลาดผู้บริโภค สาเหตุหนึ่งของความนิยมที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นเพราะช่วยลดต้นทุนการออกแบบได้จริง นอกจากนี้ยังทำต้นแบบที่มีคุณภาพดีกว่าเทคนิคเดิมมาก ที่สำคัญคือลดเวลาการพัฒนาต้นแบบ และลด Time to market ได้เป็นอย่างดีด้วย

              ทั้งสิบข้อนี้คือการพยากรณ์แนวโน้มเทคโนโลยีปี 2014 ของ Gartner ที่น่าสนใจ หลาย ๆ หัวข้อเป็นเรื่องที่หลายคนได้คาดหมายไว้แล้วว่าจะเกิดขึ้น แต่การตอกย้ำของ Gartner ทำให้เรามีความมั่นใจว่าจะเกิดขึ้นแน่นอน การพยากรณ์จะผิดหรือถูก จะเกิดช้าหรือเร็วนั้นไม่สำคัญ ที่สำคัญคือทำให้เราตระหนักว่าอะไรน่าจะเกิดขึ้น ทำให้เรามีกรอบในการพัฒนาและเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ทำให้เราพร้อมที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าดีกว่าคนอื่น


Saturday, October 26, 2013

ทิศทางของไอซีทีปี 2014 ในสายตาของ Gartner ตอนที่ 1




เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา Gartnerได้เผยแพร่การพยากรณ์เรื่องทิศทางไอซีที ที่เรียกว่า “Top Strategic Technologies for 2014”  ซึ่งหมายถึง  เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ที่มีศักยภาพที่จะสร้างผลกระทบแก่องค์กรในช่วงสั้น ๆ (3 ปีข้างหน้า)  เป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่มีโอกาสนำความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาสู่ธุรกิจ จึงจำเป็นที่องค์กรต้องให้ความสำคัญ และพิจารณาลงทุนในด้านเทคโนโลยีอย่างจริงจัง  มิฉะนั้นมีความเสี่ยงที่จะตามคู่แข่งไม่ทันได้การพยากรณ์ครั้งนี้ก็เหมือนเช่นเคย มีทั้งหมด 10 รายการ
              ผมพยายามทำความเข้าใจกับเนื้อหาฉบับภาษาอังกฤษฉบับย่อ (เพราะไม่มีตังซื้อฉบับใหญ่) และเรียบเรียงให้พอได้ใจความในประเด็นสำคัญ ๆ เป็นภาษาไทย หวังให้ผู้บริหาร หรือผู้ที่สนใจไอซีที แต่ไม่อยู่ในสายเทคนิคโดยตรง ได้มีโอกาสรับรู้พัฒนาการของไอซีทีที่เป็นอยู่ในขณะนี้ที่จะมีผลกระทบต่อกิจการงานและอาชีพของทุกคนทุกอาชีพในอนาคตอันใกล้ ผมได้พยายามเรียบเรียงให้ตรงตามความหมายฉบับภาษาอังกฤษให้มากที่สุด แต่ก็ค่อนข้างมั่นใจว่าไม่ตรงเลยทีเดียว จึงขอแนะนำว่า ถ้าจำเป็น ควรหาโอกาสอ่านจากฉบับภาษาอังกฤษเพื่อความชัดเจนและถูกต้องเพิ่มขึ้น ฉบับภาษาอังกฤษหาได้จาก http://www.gartner.com/newsroom/id/2603623

Gartner’s the Top 10 Strategic Technology Trends for 2014

1.          ความหลากหลายของอุปกรณ์พกพาและการจัดการ (Mobile device diversity and management)
Gartner พยากรณ์ว่าอุปกรณ์พกพา (Mobile device) จะเพิ่มความหลากหลายและเพิ่มจำนวนมากขึ้น จำนวนพนักงานที่นำอุปกรณ์พกพาส่วนตัวไปทำงาน (Mobile workforce) จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว แต่ก็ติดปัญหาที่องค์กรยังคงจำกัดการเชื่อมต่ออุปกรณ์พกพาเข้ากับระบบสารสนเทศขององค์กรด้วยเหตุผลของความปลอดภัย ทำให้พนักงานยังไม่สามารถทำงานในลักษณะทุกอย่าง-ทุกที่-ทุกเวลาได้ การนำอุปกรณ์พกพาส่วนตัวไปใช้ในกิจการขององค์กร เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Bring your own device (BYOD)”  เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ผู้บริหารต้องทบทวนนโยบายกันอย่างจริงจัง องค์กรจะต้องมีความชัดเจนว่า ให้พนักงานใช้อุปกรณ์พกพาส่วนตัวทำอะไรได้แค่ไหน และต้องให้มีความสมดุลระหว่างความปลอดภัยกับความสะดวกและประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน
การพยากรณ์ของ Gartner ข้อนี้ชี้ให้เห็นว่า จากนี้ไป เมื่ออุปกรณ์พกพามีความสามารถมากขึ้น  ประชากรโลกก็จะใช้อุปกรณ์เหล่านี้ทำธุรกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น ถึงขั้นที่คนเราจะใช้อุปกรณ์เหล่านี้ทำงานทุกชนิดได้แบบทุกที่และทุกเวลา  ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน มีผลโดยตรงต่อพฤติกรรมการติดต่อกัน การทำงาน และการประกอบกิจกรรมอื่น ๆ การเปลี่ยนพฤติกรรมของคนจะกดดันภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา และภาครัฐ ให้ทบทวนยุทธศาสตร์ด้านบริการใหม่เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกัน

2.         ซอฟต์แวร์แบบใช้กับอุปกรณ์พกพากับซอฟต์แวร์ระบบงานขนาดใหญ่ (Mobile apps and application)
Mobile apps ในที่นี้หมายถึงโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่ทำงานกับอุปกรณ์พกพา รู้จักกันในชื่อสั้น ๆ ว่า “app” ส่วน Application หมายถึงระบบซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ที่ทำงานอยู่กับเครื่องคอมพิวเตอร์ Server โปรแกรม apps กับ applications ทำงานร่วมกันผ่านอินเทอร์เน็ตได้ โดย apps ทำงานเป็นส่วนหน้า (front stage) และ applications ทำงานอยู่ส่วนหลัง (back stage)  
Gartner พยากรณ์ว่าเนื่องจากภาษาคอมพิวเตอร์ JavaScript จะเพิ่มความสามารถมากขึ้นเป็นผลให้ภาษา HTML5 และระบบบราวเซอร์ (Browser) กลายเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ใช้พัฒนาระบบซอฟต์แวร์ระดับองค์กร (Enterprise application) นักพัฒนาซอฟต์แวร์ต้องให้ความสำคัญกับการออกแบบซอฟต์แวร์ในส่วนติดต่อประสานกับผู้ใช้ (User Interface) โดยใช้เทคโนโลยีเสียงพูดและวิดีโอด้วยเพื่อสื่อสารกับผู้ใช้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น
Gartner ยังพยากรณ์ว่าซอฟต์แวร์กลุ่ม apps จะเพิ่มบทบาทมากขึ้น ในขณะที่ซอฟต์แวร์กลุ่ม Applications จะค่อย ๆ ลดบทบาทลง เนื่องจากความสามารถของอุปกรณ์พกพาที่เพิ่มมากขึ้น     ซอฟต์แวร์ประเภท apps มีขนาดเล็กและทำงานเจาะจงกว่า เช่น apps ที่ทำหน้าที่เฉพาะจองห้องพัก  หรือ app ซึ่งทำหน้าที่ค้นหาร้านค้าที่เสนอส่วนลดราคาพิเศษประจำวัน  ในขณะที่  Application จะทำงานครอบคลุมกว้างขวางกว่า เช่นระบบบริหารงานโรงแรม มีหน้าที่ตั้งแต่บริการจองห้องพักและงานอื่น ๆ ที่ Front office ตลอดจนถึงงาน Back office และงานบริการร้านอาหาร  นักพัฒนาซอฟต์แวร์ต้องสร้าง apps ในลักษณะที่สามารถทำงานบูรณาการสนับสนุนขั้นตอนการทำงานของกระบวนงานที่ครบวงจรได้ เช่นกลุ่ม apps ที่ทำหน้าที่บริการลูกค้าจองห้องพัก  มี app บริการ Check-in และอีก app หนึ่งทำหน้าที่บริการ Check-out และอื่น ๆ โดยแต่ละ app ทำงานเป็นอิสระ และต่างเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริการลูกค้าแบบ End-to-end ที่ทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์บริการ (Services) ที่ทำงานอยู่บนคลาวด์ ทดแทนระบบบริหารงานโรงแรมที่เป็น Application ได้
Gartner ยังพยากรณ์ว่าการที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์จะสร้าง app ที่สามารถทำงานบูรณาการให้เป็นงานระดับใหญ่ขององค์กรได้นั้น จะเพิ่มความสลับซับซ้อนมาก จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือซอฟต์แวร์ช่วยการพัฒนา ขณะนี้มีบริษัทสร้างเครื่องมือเพื่อวัตถุประสงค์ที่กล่าวจำนวนมากกว่า 100 ราย แต่ยังไม่มีเครื่องมือชุดใดสามารถตอบโจทย์ความต้องการนักพัฒนา app ในทุก ๆ ด้านได้อย่างสมบูรณ์  ดังนั้นนักพัฒนาจึงยังไม่มีทางเลือก ต้องยอมใช้เครื่องมือหลาย ๆ ชุดตามความเหมาะสมของ app ที่จะถูกสร้างขึ้น
Mobile apps เป็นซอฟต์แวร์ทำหน้าที่ปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้โดยตรงและตลอดเวลา จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ลูกค้ามีความพอใจหรือไม่จากการใช้บริการ การออกแบบ Mobile apps ที่ดีจะมีผลต่อประสบการณ์ทางอารมณ์ของผู้ใช้ และมีอิทธิพลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้ด้วย นักออกแบบและนักพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ Mobile apps จึงจำเป็นต้องมีประสบการณ์หลายด้าน นอกจากความรู้ด้านไอซีที ยังต้องมีความรู้ด้าน Social Science, Service Science และ Operation Research เพื่อช่วยออกแบบและพัฒนา apps ที่ทำงานในเชิงปฏิสัมพันธ์ นำไปสู่การสร้างคุณค่าและความพึงพอใจแก่ลูกค้าที่แท้จริง

3.         อินเทอร์เน็ตของทุกสิ่งทุกอย่าง (The Internet of Everything)
Gartner ขยายความหมายของคำว่า “Internet of Things” ที่คนส่วนใหญ่ใช้กัน ให้เป็น “Internet of Everything” โดยความหมายเดิม คือ “Things” นั้นครอบคลุมสินทรัพย์ทางกายภาพ เช่นอุปกรณ์ เครื่องใช้ เช่นรถยนต์ เครื่องเล่นโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ รวมทั้งสิ่งอื่น ๆ เช่นกล่องบรรจุอาหาร ฯลฯ อุปกรณ์ Sensors และ RFID เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ Things เหล่านี้สื่อสารข้อมูลกับโลกภายนอกผ่านอินเทอร์เน็ตได้  สำหรับ “Everything” นั้น Gartner ให้รวมถึง คน (People) ข้อมูลข่าวสาร (Information) และ สถานที่ (Places) ด้วย Gartner พยากรณ์ว่า จากนี้ไป ความสามารถในการ Digitize ทุกสิ่งทุกอย่าง (Everything) ทำให้เกิดตัวแทนของทุกสิ่งทุกอย่าง (Avatar) ในรูปข้อมูลดิจิตอลที่จะขยายผลการทำกิจกรรมให้กว้างขวางขึ้น และเปลี่ยนรูปแบบพื้นฐาน (Basic model) การทำธุรกิจใน 4 ด้าน คือ 1) การบริหารจัดการ--Manage 2) การสร้างรายได้--Monetize  3) การปฏิบัติงานและดำเนินงาน—Operate  และ 4) การขยายผลไปในมิติใหม่ ๆ—Extend
Gartner บอกว่าถึงแม้ธุรกิจและองค์กรส่วนใหญ่จะเริ่มตระหนักถึงความสามารถของอินเทอร์เน็ต รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น แต่องค์กรทั่วไป แม้แต่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเองก็ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาทำความเข้าใจถึงแนวโน้มที่กล่าว และยังไม่พร้อมที่จะดำเนินการตามแนวคิดของ Internet of Everything ได้ทันที 
การพยากรณ์ของ Gartner ข้อนี้ สอดคล้องกับความเห็นของนักคิดและนักวิชาการหลายท่านก่อนหน้านี้ว่า การพัฒนาอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทำให้คนเราเข้าสู่ยุคที่ทำธุรกรรมบนโลกสอง 2 ใบ โลกใบแรกคือโลกทางกายภาพที่พวกเราคุ้นเคยกัน เหมาะสำหรับการทำธุรกรรมที่อาศัยคนและทรัพยากรที่มีกายภาพ เหมาะสำหรับการทำธุรกิจที่เป็น Transactional-based คือซื้อสินค้าและบริการในรูปการแลกเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ (Value in-exchange) โลกใบที่สองนั้น เป็นโลกไม่มีรูปแบบ หรือ อกายภาพ ซึ่งก็คือ Cyber world นั่นเอง โลกใบที่สองนี้ เหมาะสำหรับทำธุรกรรมที่อาศัยความสัมพันธ์ (Relationship) เป็นการทำธุรกรรมที่อาศัยความรู้และข้อมูลเป็นหลัก การ Digitize ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกกายภาพ แล้วส่งข้อมูลดิจิตอลมาขยายผลในเชิงความสัมพันธ์เพื่อให้เกิดคุณค่าต่อบนโลกใบที่สอง ความคิด Abstract นี้ นำไปสู่การพัฒนากรอบแนวคิดการทำธุรกิจใหม่ ทำให้เกิด Frame of reference ของการทำธุรกิจใหม่ที่ยังต้องมีการศึกษาและคิดค้นวิธีการที่เหมาะสมอีกมาก

4.         คลาวด์ลูกผสมกับโบรกเกอร์บริการไอที (Hybrid Cloud and IT as Service Broker)
ก่อนอื่นต้องแยกแยะระหว่างศัพท์สองคำนี้ Personal Cloud และ Private Cloud เมื่อแปลเป็นไทย Personal หมายถึง ส่วนบุคคลในขณะที่ Private หมายถึง ส่วนตัวศัพท์ทั้งสองมีความหมายเหมือนกัน คือ เฉพาะตัว  แต่สำหรับคำภาษาอังกฤษ เมื่อใช้ในบริบทของ Cloud เช่น Personal Cloud และ Private Cloud สื่อความหมายที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ Personal Cloud สื่อความหมายถึงคลาวด์ที่ใช้เฉพาะตัวบุคคล เช่นคลาวด์ของผม มีไว้เก็บข้อมูลส่วนตัวของผม ซึ่งผมจะให้คนอื่นมาใช้ด้วยหรือไม่ก็ได้ Personal Cloud ไม่จำเป็นต้องใช้บริการจากศูนย์ภายนอก อย่างเช่น Dropbox  ในขณะนี้มีผู้ผลิตเครื่องเฉพาะให้เราใช้เป็น Personal Cloud ในราคาถูกมากระดับหลายพันบาทจนถึงหลายหมื่นบาท ขึ้นอยู่ที่ขนาดความจุของหน่วยบันทึกข้อมูล เมื่อต่ออุปกรณ์ที่กล่าวเข้ากับอินเทอร์เน็ตในบ้านหรือในสำนักงาน เราก็จะได้ระบบ Personal Cloud ที่เราเป็นเจ้าของและดูแลเอง   ในกรณีเราใช้ระบบ Personal Cloud ของเราเองเก็บข้อมูลเหมือนกับใช้บริการภายนอกเช่น Dropbox   
สำหรับ PrivateCloud นั้น เป็นการบริการคลาวด์เต็มรูปแบบ มีทั้งบริการ IaaS, PaaS และSaaS  มีทั้ง InternalPrivate Cloud ที่เป็นศูนย์บริการของเราเอง และ ExternalPrivate Cloud เป็นการใช้บริการจากศูนย์บริการภายนอก
Gartner พยากรณ์ว่าองค์กรที่เริ่มด้วยบริการ Personal Cloud และ Private Cloud จากศูนย์บริการภายนอก สุดท้ายจะลงเอยด้วย Hybrid Cloud จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนให้รอบคอบพร้อมปรับเปลี่ยนไปใช้บริการแบบลูกผสมเมื่อถึงเวลา โดยต้องคำนึงถึงเรื่องการบูรณาการ (Integration) และทำงานร่วมกันกับระบบงานอื่นได้ (Interoperability)  การผสมระบบงานให้ทำงานในสภาพแวดล้อมของ Hybrid cloud นั้นทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับบริบทหรือเหตุการณ์ของธุรกิจ การผสมผสานกันนั้นเป็นการผสมทรัพยากรไอซีทีเพื่อทำงานร่วมกันในสภาวการณ์หนึ่ง  ๆ ทรัพยากรมีทั้ง Software services และข้อมูลด้วย ทั้งส่วนจากศูนย์คอมพิวเตอร์ขององค์กรเอง (Private cloud) และจากศูนย์บริการภายนอก (Public cloud) ตามคำพยากรณ์ของ Gartner การผสมให้ทำงานแบบ Hybrid cloud มี 4 แบบ
1.          การผสมแบบคงที่ (Static Composition)  หมายถึงการแบ่งหน้าที่ระหว่าง Private cloud และ Public cloud ชัดเจน และแน่นอน เช่นในกระบวนการจำหน่ายสินค้าแบบ End-to-end ตั้งแต่สั่งซื้อจนส่งมอบสินค้าและชำระเงิน ส่วนที่ให้บริการค้นหาสินค้า และตรวจสอบราคา รวมทั้งการสั่งซื้อ กำหนดให้ทำผ่าน Public cloud แต่งานด้าน Fulfillment ทั้งหมดให้ทำจากภายใน Private Cloud เป็นต้น
2.           การผสมแบบตามเหตุการณ์ (Event Composition)  ในกรณีนี้ การแบ่งหน้าที่ระหว่าง Private cloud และ Private cloud จะขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ เช่น ในกรณีเตรียมตัวเพื่อป้องกันการหยุดชะงักอันเกิดจากภายพิบัติ ได้กำหนดว่า งานปกติที่ทำงานอยู่กับ Private Cloud นั้นให้เพิ่มกระบวนการทำ Backup และพร้อมที่จะกู้คืนจาก Hybrid cloud ได้
3.          การผสมที่คำนึงถึงความเหมาะสมกับการใช้งาน (Deployment composition)  ความเหมาะสมในที่นี้ เป็นความเหมาะสมในเชิงเทคนิคด้าน System deployment เช่น เราอาจกำหนดให้ระบบงานประมวลผลการสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้าต่างประเทศไป Deploy หรือทำงานบน Public cloud ในต่างประเทศ ในขณะที่ระบบงานสั่งซื้อจากลูกค้าภายในประเทศให้ Deploy จาก Private cloud ในประเทศ  หรือในกรณีที่ธุรกิจมีปริมาณงานที่เพิ่มลดตามฤดูกาล เช่นการสั่งซื้อจากต่างประเทศในเทศกาลคริสต์มาส อาจส่งไปประมวลผลกับ Public cloud ในประเทศจีน ซึ่งมีระบบไอซีทีขนาดใหญ่ แต่มีงานไม่มากในช่วงเทศกาลคริสต์มาสเหมือนประเทศในแถบอเมริกาหรือยุโรป
4.          การผสมสำหรับงานที่ไดนามิก (Dynamic composition)  งานบางประเภทอาจมีปริมาณงานและข้อมูลที่ขึ้นลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่นกรณีที่ธุรกิจจัดรายการพิเศษ แนะนำสินค้าใหม่ มีรายการลดราคาแจกแถม ซึ่งไม่ใช่เป็นธุรกิจปกติ เหตุการณ์เช่นนี้ ประมาณงานและข้อมูลมีเกินกว่าที่ระบบงานใน Private cloud จะรองรับได้  เนื่องจากองค์กรที่ใช้ Private cloud มักจะจัดเตรียมทรัพยากรไอซีทีให้เพียงพอกับงานแบบปกติ ในกรณีนี้จำเป็นต้องใช้บริการจาก Public cloud เป็นตัวเสริมในช่วงที่มีปริมาณงานมากเกินปกติ  ศัพท์เทคนิคใช้คำว่า “Cloudbursting” สื่อความหมายว่า ปริมาณงานและข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็นช่วง ๆ โดยระบบงานถูกออกแบบให้มีความสามารถเฝ้าระวัง และประเมินความต้องการการใช้ทรัพยากรไอซีทีในแต่ละขณะเพื่อปรับลดหรือเพิ่มปริมาณทรัพยากรไอซีทีที่ต้องใช้บริการเพิ่มโดยอาศัย Public cloud เป็นระบบเสริมได้

การผสมบริการ Private cloud และ Public cloud ทั้ง 4 แบบที่กล่าวเป็นเรื่องทางเทคนิคและที่ไม่ใช่เทคนิคที่สลับซับซ้อนพอสมควร ต้องอาศัยทักษะหลาย ๆ ด้าน ทั้งความรู้เกี่ยวกับการทำงานของคลาวด์ มีความรอบรู้เกี่ยวกับข้อเสนอและเงื่อนไขของผู้ให้บริการแต่ละราย มีความรู้ด้านออกแบบระบบซอฟต์แวร์และการจัดการฐานข้อมูลในสภาวะการทำงานแบบคลาวด์คอมพิวติง รวมทั้งแง่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้บริการคลาวด์ และอื่น ๆ อีกมาก โดยสรุป ผู้ใช้บริการคลาวด์ต้องมีความรู้และทักษะในด้าน 1) กำหนดคุณลักษณะของคลาวด์และการจัดซื้อจัดหาบริการคลาวด์ทั้งจากตลาดในประเทศและต่างประเทศ  2) สามารถออกแบบหรือดำเนินการบูรณาการระบบงานที่จะทำงานในสภาวะของ Hybrid cloud โดยต้องคำนึงถึงมาตรฐานข้อมูล มาตรฐานการเชื่อมโยงระหว่างระบบซอฟต์แวร์ (Software services) ตลอดจนมาตรฐานการติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างระบบงานที่เกี่ยวข้องข้ามระบบคลาวด์ของศูนย์บริการที่แตกต่างกัน และ 3) มีทักษะในด้านปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์ให้เหมาะกับการทำงานกับคลาวด์  ซึ่งทั้งหมดนี้ รวมทั้งด้านความมั่นคงปลอดภัยในการใช้ระบบงานแบบลูกผสม ถ้าไม่ได้อยู่ในการดูแลของคนที่มีประสบการณ์ ก็จะเกิดปัญหาที่รุนแรงได้ทุกเมื่อ
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น Gartner จึงพยากาณ์ว่า ในยุคของคลาวด์คอมพิวติง ผู้ใช้จำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้เชียวชาญในด้านบริการคลาวด์ ซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่ในสายอาชีพบริการไอซีทีที่เรียกว่า “Cloud Service Broker (CSB)” หรือโบรกเกอร์บริการคลาวด์ บุคคลผู้นี้มีหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ใช้บริการ ทำหน้าที่เป็นคนกลาง (intermediary) มีหน้าที่หลัก ๆ คือ 

1) บริการในด้าน Aggregation ซึ่งหมายถึงการแนะนำวิธีสร้างสถาปัตยกรรมระบบคลาวด์ ประกอบด้วยผู้ให้บริการคลาวด์หลาย ๆ รายตามความจำเป็นและตามลักษณะงาน เพื่อให้ระบบงานทำงานอยู่กับคลาวด์หลาย ๆ ระบบ ทั้ง Private cloud และ Public cloud ผสมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมั่นคง
2) ช่วยเหลือด้านบูรณาการระบบงาน (Integration) ทั้งระบบงานภายในและระบบงานภายนอกองค์กร บ่อยครั้งการบูรณาการ (Integration) นำไปสู่การออกแบบระบบฐานข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการทำงานร่วมกันระหว่างระบบงานหลาย ๆ ระบบ โดยเฉพาะระบบงานของคู่ค้าที่มีมาตรฐานที่แตกต่างกัน
3) ช่วยเหลือในด้านปรับปรุงแก้ไขโปรแกรม (Customization) บ่อยครั้ง ระบบซอฟต์แวร์ต้องได้การปรับปรุงหรือพัฒนาใหม่ให้เหมาะกับงานในสภาวการณ์ของคลาวด์คอมพิวติง

5.         Cloud/Client Architecture
Gartner มองว่าสถาปัตยกรรมของระบบงานที่ประกอบขึ้นด้วยลูกข่าย (Client) และมีคลาวด์ (Cloud) เป็นแม่ข่ายนั้นยังไม่สามารถขีดเส้นแบ่งชัดเจนแน่นอนว่าอะไรควรเป็นงานของลูกข่าย และอะไรควรเป็นของแม่ข่าย ซึ่งเป็นปัญหาเดิมที่เคยพบในสถาปัตยกรรม Client/Server ในอดีต โดยปกติระบบลูกข่ายเป็นซอฟต์แวร์ที่ทำงานกับอุปกรณ์ผ่านอินเทอร์เน็ต รวมเครื่องทั้งพีซี แล็ปท๊อป และอุปกรณ์พกพาต่าง ๆ ในขณะที่เครื่องแม่ข่ายมีกลุ่มซอฟต์แวร์ทำหน้าที่ให้บริการประมวลผล (Software Services) บนคลาวด์แพลตฟอร์มที่มีความยืดหยุ่นมาก หมายความว่าตัวซอฟต์แวร์บริการนั้นจะทำงานบนเครื่องคอมพิวเตอร์ชุดใดก็ได้ที่เชื่อมโยงอยู่กับคลาวด์แพลตฟอร์ม และจะใช้ทรัพยากรไอทีมากน้อยตามความจำเป็น (Elastically scalable) ในกรณีนี้ คลาวด์ทำหน้าที่เป็นจุดควบคุมการทำงานทั้งระบบ โดยมีระบบงานและระบบข้อมูลกระจายอยู่กับอุปกรณ์พกพาของลูกข่ายหลาย ๆ จุดหรือหลาย ๆ ชุดได้  ปัจจุบันนี้ระบบซอฟต์แวร์ที่ทำงานอยู่บนเครื่องลูกข่ายมีทั้งซอฟต์แวร์ที่เขียนขึ้นเฉพาะอุปกรณ์ (Native application) ใช้แพลตฟอร์มเช่น Android หรือ IOS (Native apps) และซอฟต์แวร์ที่เขียนเพื่อทำงานผ่านบราวเซอร์ (Browser)  แต่เนื่องจากบราวเซอร์ทุกวันนี้จะมีความสามารถมาก จึงกลายเป็นทางเลือกว่างานส่วนไหนควรอยู่กับบราวเซอร์บนเครื่องพกพา หรือควรอยู่กับ Server บนคลาวด์  ทั้งสองทางเลือกมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ถ้าเลือกให้เครื่องลูกข่ายทำงานมากขึ้น ทั้งการประมวลผลและการเก็บรักษาข้อมูลบางส่วน จะสามารถลดค่าใช้จ่ายอินเทอร์เน็ตและช่องความถี่  ในขณะเดียวกันจะใช้ทรัพยากรด้านคลาวด์น้อยลงด้วย   แต่เมื่ออุปกรณ์พกพาที่เป็นเครื่องลูกข่ายทำงานมากขึ้น ความสลับซับซ้อนของงานที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมของธุรกิจจะเพิ่มขึ้น สุดท้ายก็ต้องกลับมาเพิ่งพาทรัพยากรด้านฝั่งคลาวด์เพิ่มขึ้นเหมือนเดิม จึงเห็นได้ว่า การออกแบบระบบซอฟต์แวร์ให้เกิดความสมดุลในหน้าที่ระหว่างเครื่องลูกข่ายกับคลาวด์ (Cloud/Client architecture)  จึงเป็นเรื่องที่ยังไม่สามารถขีดเส้นแบ่งได้ชัดเจน ยังต้องอาศัยทักษะและประสบการณ์ของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่จะเลือกแบ่งหน้าที่ระหว่าง Cloud/Client อย่างเหมาะสม

ยังมีอีก 5 เรื่องที่น่าสนใจ ประกอบด้วย 1) The Era of Personal Cloud  2) Software Defined Anything  3) Web-Scale IT  4) Smart Machines และ 5) 3-D Printing  ขอยกยอดไปคุยกันต่อคราวหน้าครับ