Sunday, November 18, 2012

คลาวด์ แพลตฟอร์มใหม่สำหรับธุรกิจ (Business Platform) ตอนที่ 3

ตอนใช้คลาวด์เป็นเวทีเพื่อการปฎิสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดคุณค่า


                  บทความตอนที่แล้ว ได้พูดถึงเรื่อง “2 มิติของการใช้ไอซีที มิติที่ 1 แสดงประเภทของงาน  แยกเป็นงานประมวลผลเชิงรายการ (Transactional) และงานเพื่อการปฎิสัมพันธ์กัน (Interactional) และมิติที่ 2 แสดงโครงสร้างพื้นฐานระบบไอซีที  จำแนกเป็นโครงสร้างพื้นฐานไอซีทีภายในองค์กร และภายนอกองค์กร โครงสร้างพื้นฐานไอซีทีภายนอกองค์กรในที่นี้ หมายถึงบริการคลาวด์คอมพิวติง (Cloud computing) เจตนาของบทความตอนที่แล้ว ต้องการชี้ให้เห็นการใช้ประโยชน์ไอซีที หลาย ๆ รูปแบบที่แตกต่างกัน นำไปสู่ความเข้าใจบทบาทของคลาวด์ในหลายมุมมอง โดยเฉพาะต้องการย้ำให้เห็นความเป็น Business Platform หรือเวทีเพื่อทำธุรกิจ ที่จะปฎิรูปแนวคิดการทำธุรกิจในวงกว้างจากนี้เป็นต้นไป

              องค์กรทั่วไป ต้องการให้ยุทธศาสตร์ไอซีที มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ (IT strategy and Business strategy alignment) แต่ก็ทำได้ยากมาก เนื่องจากในยุคนี้ การเปลี่ยนแปลงมีอยู่รอบด้าน เป็นผลจากการเรียกร้องของผู้บริโภคในเรื่องต่าง ๆ  จากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น และจากการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของทางราชการที่ธุรกิจต้องปฎิบัติ (Legal compliances) เพิ่มมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ กดดันให้นักธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์บ่อยขึ้น ส่งผลกระทบต่อยุทธศาสตร์ด้านไอซีที โดยเฉพาะระบบซอฟต์แวร์ Applications ที่ต้องปรับเปลี่ยนให้ทันรับมือกับยุทธศาสตร์ใหม่ ๆ ของธุรกิจ พวกเราต่างรู้ว่า การปรับเปลี่ยนระบบซอฟต์แวร์อย่างเช่น Enterprise Resource Planning (ERP) ไม่ใช่เรื่องทำได้ง่าย ๆ มีค่าใช้สูง และใช้เวลานาน  ด้วยเหตุผลทางโครงสร้างและสถาปัตยกรรมของระบบซอฟต์แวร์

เพื่อแก้ปัญหานี้ การ์ตเนอร์ (Gartner) ได้แนะนำรูปแบบ (Model) การจัดแบ่งกลุ่มระบบซอฟต์แวร์ประยุกต์ Applications เพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการซอฟต์แวร์ขององค์กร ภายใต้ชื่อ Pace-Layered Application Strategy  มีใจความหลัก ๆ ว่า เนื่องจากพวกเราไม่สามารถปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์ประยุกต์ได้รวดเร็วทันยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ เราควรหาทางจำแนกกลุ่มซอฟต์แวร์ขององค์กรตามประเภทของงาน ที่มีโอกาสถูกกระทบจากการเปลี่ยนแปลง โดยให้แยกตามอัตราความเร็วที่ซอฟต์แวร์มีโอกาสต้องถูกปรับเปลี่ยน (PACE หรือ rate of change) โดยการ์ตเนอร์ได้เสนอให้แยกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่ม Systems of Record  2) กลุ่ม Systems of Differentiation และ 3) Systems of Innovation ตามที่จะอธิบายพอสังเขปดังต่อไปนี้

1.          Systems of Record เป็นกลุ่มซอฟต์แวร์ประเภท Transaction Processing Systems เช่นระบบบัญชี ระบบงานสินทรัพย์ถาวร ฯลฯ เป็นงานที่ทำตามกระบวนการ (Business Processes) ซึ่งค่อนข้างคงที่ มีการเปลี่ยนแปลงไม่มาก  

2.          Systems of Differentiation เป็นกลุ่มระบบซอฟต์แวร์ที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อความแตกต่าง ทำให้ได้เปรียบในการแข่งขัน เช่นระบบรองรับ marketing campaign ระบบบริการลูกค้าอย่างประทับใจ ระบบเพื่อการจัดการร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อการวิจัยและพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ๆ ระบบซอฟต์แวร์เหล่านี้ จำเป็นต้องเชื่อมโยงข้อมูล หรือทำงานกับระบบอื่นแบบบูรณาการ มีการจัดการความรู้ รวมทั้งระบบที่จัดทำขึ้นรองรับ Business model ใหม่ ๆ ระบบซอฟต์แวร์เหล่านี้ ต้องสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในระดับหนึ่ง เพราะเป็นระบบที่ไม่อยู่ตัวเหมือนแบบ Systems of  Records

3.          Systems of Innovation เป็นระบบซอฟต์แวร์แนวใหม่ ที่ถูกสร้างเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงโดยแท้จริง เพราะเป็นระบบซอฟต์แวร์ประเภททำงานกับบุคคลภายนอก ทั้งลูกค้าและพันธมิตร มีความไม่แน่นอนสูงมาก เป็นระบบซอฟต์แวร์ทำงานกับ Business processes ที่มี Exception cases จำนวนมาก บ่อยครั้ง ระบบซอฟต์แวร์กลุ่มนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเน้นบริการลูกค้าให้เกิดความประทับใจ และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน จึงเป็นงานประเภทนวัตกรรมในเชิงกระบวนการเพื่อการบริการ ดังนั้น แนวคิด การออกแบบ และการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์จำเป็นต้องอาศัยวิธีการที่แตกต่างจากระบบซอฟต์แวร์สองประเภทแรก

เมื่อนำ Pace-Layered Application Strategy มาวางซ้อนภาพ 2 มิติของใช้ไอซีที จะปรากฎเป็นภาพดังนี้

                
Interactional
Systems of Differentiation
ทำงานภายในศูนย์ของตนเอง เป็นระบบ Web 2.0 ข้างหลัง Firewall
Systems of Innovation
ทำงานผ่าน Business Platform ที่เป็น Cloud Computing

Transactional
Systems of Records
ด้านซ้ายเป็นการทำงานระบบ TPS ภายในศูนย์ของตนเอง
ด้านขวาเป็นการทำงานระบบ TPS ผ่านบริการ Cloud Computing

 บริหารทรัพยากรไอทีภายใน
บริหารทรัพยากรไอทีจากภายนอก

                                                               รูปที่ 1 แสดง PACE-Layers บน ICT Usage Matrix

 

                     บทความต่อจากนี้ไป จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ Systems of Innovation และการใช้บริการคลาวด์สนับสนุนการทำงานของกลุ่มงานนี้ แต่ก่อนที่จะพูดเรื่อง Business Platform on the Cloud เราต้องทำความเข้าใจกับเรื่องสำคัญอีกหนึ่งเรื่อง คือความสัมพันธ์ระหว่างการปฎิสัมพันธ์ (Interactional) กับงานบริการ

       เนื่องจากงานในกลุ่ม Systems of Innovation เกี่ยวข้องกับการปฎิสัมพันธ์ระหว่างพนักงานของธุรกิจ กับบุคคลภายนอก เช่นลูกค้า พันธมิตร และสมาชิกในชุมชนอื่น ๆ การปฎิสัมพันธ์จะมากหรือน้อย มีผลต่อคุณภาพและคุณค่าที่ลูกค้าจะได้รับ การปฎิสัมพันธ์มากหรือน้อย เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Intensity of Interaction หรือความมากน้อยของการปฎิสัมพันธ์ ถ้าการปฎิสัมพันธ์มีน้อย การบริการจะมีลักษณะเหมือน Self service ทำงานด้วยเครื่องจักร เช่นเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นส่วนใหญ่ เป็นการบริการที่มีขั้นตอนตามมาตรฐาน (Standard work processes) แต่ถ้าเป็นบริการที่ต้องปฎิสัมพันธ์กับคนมาก เช่น บริการแบบ Manual กิจกรรมที่ต้องทำอาจกำหนดแน่นอนได้ยาก  ขึ้นอยู่ที่สถานการณ์ และความต้องการของลูกค้า (ต้องพูดเรื่องนี้ยาวหน่อยในตอนหน้า) จัดเป็นงานประเภท Customized หรือ Bespoke ภาษาไทย ใช้คำว่า งานสั่งตัด  ในหนังสื่อเรื่อง Service is Front Stage: Positioning services for value advantage เขียนโดย James Teboul (2006) ผู้เขียนได้แนะนำนักออกแบบระบบบริการ ใช้รูปแบบที่เรียกว่า “The Service-Intensive Matrix” เพื่อวิเคราะห์และพิจารณากำหนดความเข้มข้นของการปฎิสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับยุทธศาสตร์ธุรกิจ

เข้าใจกับเรื่อง Service-Intensive Matrix

       Service-Intensive Matrix มี 2 มิติ มิติแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับคนทำงาน (People) หรือกระบวนการทำงาน (Processes) มิติที่สอง เป็นเรื่องเกี่ยวกับ Service (หรือ Product) ดังที่แสดงในรูปที่ 2 ต่อไปนี้

High intensity of interaction
Systems of Innovation
ทำงานผ่าน
Systems of Records
ด้านซ้ายเป็นการทำงานระบบ TPS
ด้านขวาเป็นการทำงานระบบ TPS

Low intensity of interaction

 Customized
  Standardized

                                                               รูปที่ 2 แสดง People-Service/Product Matrix


1.          มิติเกี่ยวกับคน หรือกระบวนงาน
แสดงเป็นแกนตั้งในรูปที่ 2 ส่วนบนหมายถึงกระบวนงานที่ต้องปฎิสัมพันธ์กับคนมากที่สุด และส่วนล่าง ปฎิสัมพันธ์น้อยที่สุด ระหว่าง 2 จุดนี้ หมายถึงระบบบริการที่มีกระบวนการที่อาศัยการปฎิสัมพันธ์ หรือบริการด้วยการสัมผัสกับคนโดยตรง มากน้อยต่างกันตามเจตนาที่ถูกออกแบบไว้ เช่น ระบบขายหนังสือตามร้านขายหนังสือ ผู้ซื้อต้องปฎิสัมพันธ์กับคนขายมาก ส่วนระบบขายหนังสือออนไลน์ เช่น amazon.com ไม่ต้องสัมผัสกับคนโดยตรงเลย เป็นกิจกรรมระหว่างคนกับเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งหมด

2.          มิติเกี่ยวกับบริการหรือสินค้า
แสดงเป็นแกนนอนในภาพ  ด้านซ้ายแสดงถึงบริการหรือสินค้าประเภทที่ต้อง Customized มาก ส่วนด้านขวา แสดงบริการหรือสินค้าที่เป็นมาตรฐาน เช่นบริการแต่งทรงผม เป็นงานบริการประเภทที่ต้อง Customized มาก ในขณะที่บริการอาหารจานด่วน เป็นบริการที่เป็นมาตรฐานที่สุด

Service-Intensity Matrix บอกเราว่า บริการใดที่ต้องการ Customized มาก ระบบบริการต้องถูกออกแบบให้มีการปฎิสัมพันธ์กับคนมาก ทำให้ต้นทุนสูง และธุรกิจขยายตัวได้ยาก แต่ถ้าเป็นบริการที่เป็นบริการมาตรฐาน เราสามารถ Computerized กระบวนการบริการให้ทำงานแบบอัตโนมัติได้ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถขยายตลาดไปได้ไม่สิ้นสุด แต่ผลลัพธ์ และคุณค่าในมุมมองของลูกค้า อาจสู้บริการแบบ Customized ไม่ได้ หน้าที่ของผู้ออกแบบระบบบริการ ต้องวางตำแหน่งของกลยุทธ์ให้เหมาะสมภายใน Service-Intensity Matrix โดยทั่วไป ความสัมพันธ์ระหว่าง Interaction intensity กับ Customized-Standard จะเป็นไปตามเส้นทแยงมุมที่ปรากฎในรูป แต่ความท้าทายอยู่ที่เมื่อผู้ออกแบบต้องการออกนอกเส้นทแยงมุม ตัวอย่างเช่น ต้องการให้ได้บริการแบบ Customized ที่ไม่ต้องอาศัยการปฎิสัมพันธ์กับคนมาก คือต้องการออกแบบให้ได้ระบบบริการที่ปรากฏอยู่ส่วนล่างซ้ายของภาพ เรามีวิธีออกแบบให้ได้ผลดังกล่าวอย่างไร 

              เพื่อให้เข้าใจประเด็นได้ชัดเจนขึ้น ขอยกตัวอย่างการออกแบบระบบการเรียนการสอนแนวใหม่ ที่เหมาะกับสภาพของสังคมปัจจุบัน ณ เวลานี้ สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษามีแนวทางการศึกษาหลัก ๆ สองวิธี คือแบบดั่งเดิมที่สอนในชั้นเรียน ตามกำหนดเวลาที่แน่นอน มีอาจารย์ตัวจริงมาสอนตามชั้นเรียนที่กำหนด นักศึกษาต้องมาเรียนด้วยตัวเอง ตามกำหนดเวลาและสถานที่  และแบบที่สอง เป็นการเรียนออนไลน์ที่ใช้สื่อ e-Learning นักศึกษาเรียนด้วยตัวเองตามอัธยาศัย ที่ใดก็ได้ เมื่อไรก็ได้ เช่นการบริการของมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย (Thailand Cyber University) ของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ถ้าวางการบริการทั้งสองแบบลงบน Service-Intensive Matrix การเรียนการสอนแบบดั่งเดิมจะปรากฎอยู่ขวาบนสุด ในขณะที่แบบที่สอง ปรากฎอยู่ล่างขวาสุดของภาพ การเรียนการสอนทั้งสองรูปแบบให้คุณค่าแก่นักศึกษาได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะให้ผลมากกว่านี้ ต้องออกแบบระบบบริการการเรียนการสอน ให้ผสมผสานกันเป็น Customized learning แบบไม่ต้องปฎิสัมพันธ์กับอาจารย์ตัวจริงแบบการเรียนในชั้นเรียน (Low interaction intensity) แต่ก็ยังสามารถเรียนผ่านเครือข่ายไอซีที ตามความสะดวกของผู้เรียนได้เป็นส่วนใหญ่ และสามารถทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนผู้เรียนผ่านเครือข่ายได้ คือต้องการออกแบบให้ได้ระบบบริการการเรียนที่ปรากฏอยู่บนส่วนขวาล่างของภาพ เราจะออกแบบอย่างไร และคลาวด์คอมพิวติงจะช่วยได้อย่างไร

เราจะพูดคุยกันในเรื่องนี้ต่อในตอนหน้าครับ

Saturday, November 3, 2012

คลาวด์ แพลตฟอร์มไหม่สำหรับธุรกิจ (Business Platform) ตอนที่ 2



ในบทความตอนที่แล้ว ได้พูดถึง CSMI ที่การ์ตเนอร์ชี้ให้เห็นว่า กำลังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการดำเนินธุรกิจ และได้รวบรวมเรียบเรียงข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอซีที ที่ได้ลงทุน และกำลังลงทุน ด้วยจำนวนเงินมหาศาล ด้านศูนย์ข้อมูลทั่วโลก เพื่อยืนยันว่า คลาวด์คอมพิวติง เป็นพัฒนาการการใช้ไอซีทีครั้งใหม่ ที่นักธุรกิจจะมองข้ามไม่ได้ ความสำคัญของคลาวด์ ไม่เพียงเป็นแค่รูปแบบการใช้ไอซีทีที่ประหยัด แต่เป็นเรื่องของเวที (Platform) ธุรกิจแบบใหม่ ที่จะช่วยให้นักธุรกิจสร้างโอกาส และ Enable หรือ ช่วยให้สามารถทำธุรกิจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน 

ธุรกิจใช้คอมพิวเตอร์ในยุคแรกเพื่อประมวลผลข้อมูล ทำให้ได้ผลรวดเร็ว ถูกต้อง และเม่นยำ เป็นการใช้คอมพิวเตอร์ทำงานแบบ “Transactional” ทั้งหมดเน้นที่ประสิทธิภาพการทำงานภายในองค์กร การใช้เครื่องจักรทำงานเพื่อให้มีประสิทธิภาพ ไม่ช่วยให้เกิดธุรกิจใหม่ หรือช่วยเปิดตลาดใหม่ หรือสร้างรายได้ใหม่ แต่เป็นการเสริมให้การทำงานภายในดีขึ้น รองรับธุรกิจที่มีอยู่ให้ดีขึ้น เกิดความประหยัด และลดต้นทุน  งานประมวลผลแบบ Transactional มีขั้นตอนทำงานที่ถูกกำหนดไว้ตายตัว เช่นงานลงบัญชี งานควบคุมสินค้าคงคลัง งานจำหน่ายสินค้า ฯลฯ  เป็นงานที่ต้องการความแม่นยำ มีความถูกต้องสูง และเป็นงานที่ต้องคำนึงถึงการไม่รั่วไหลข้อมูลทางการค้าสู่ภายนอก ดังนั้น ธุรกิจจึงนิยมใช้ทรัพยากรไอซีทีของตัวเอง คือใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผลผ่านศูนย์คอมพิวเตอร์ขององค์กรเอง ดังแสดงไว้ในรูปสี่เหลี่ยมซ้ายล่างสุดของภาพข้างล่าง

                
Interactional
ใช้เทคโนโลยี Web 2.0 เพื่อการทำงานแบบร่วมมือกัน ระหว่างพนักงานขององค์กร เน้นให้พนักงานมีส่วนร่วม
ใช้บริการคลาวด์จากภายนอก ในลักษณะ Interactional กับลูกค้า และพันธมิตร เป็นการใช้ไอซีทีแบบเครือข่าย สร้างโอกาสใหม่ได้

Transactional
ใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผล เป็นการประมวลผลข้อมูลจากรายการทางธุรกิจ (Transactions) เช่นระบบ ERP, SCM, CRM, ฯลฯ
ใช้ไอซีที จากศูนย์บริการคลาวด์ สำหรับทำงาน Transaction processing นำไปสู่การประหยัด

 บริหารทรัพยากรไอทีภายใน
บริหารทรัพยากรไอทีจากภายนอก
                  
                                                                            
       ยุคที่อินเทอร์เน็ตมีบทบาทมากขึ้น ในฐานะของช่องทางสื่อสารใหม่ขององค์กร กอร์ปกับได้รับการสนับสนุนจากเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ในกลุ่มสื่อสังคมแบบใหม่ ที่เป็นสื่อสองทาง (Web 2.0) การใช้คอมพิวเตอร์และไอซีที ได้ขยายงานจากเดิมเพียงแค่ Transactional เพิ่มด้วยงานประเภท Interactional คือให้พนักงานทำงานปฎิสัมพันธ์แบบออนไลน์ ส่งเสริมให้ทุกคนมีส่วนร่วม และให้ทำงานร่วมกัน แบ่งปันข้อมูลและความรู้ระหว่างพนักงาน  ในระยะเริ่มต้น การทำงานร่วมกัน จำกัดอยู่ภายในองค์กร ยังไม่ได้ขยายสู่การมีส่วนร่วมกับกลุ่มลูกค้าและพันธมิตร ระบบส่งเสริมการทำงานร่วมกันด้วยอินเทอร์เน็ตและ Web 2.0 ยังเป็นระบบไอซีทีที่อยู่ในกำกับดูแลของศูนย์คอมพิวเตอร์ ดังที่แสดงในส่วนบนด้านซ้ายของภาพข้างต้น ผลที่ได้ ก็ยังจำกัดอยู่เพียงแค่การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภายใน เนื่องจากการมีส่วนร่วมยังจำกัดอยู่ในกลุ่มทรัพยากรขององค์กร ไม่ถึงขั้นเปิดกว้าง เชื่อมโยงกับเครือข่ายภายนอกที่มีทรัพยากรหลากหลายมหาศาล ยังไม่ได้ใช้ไอซีทีเชื่อมโยงกับตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ รวมทั้งสร้างความแตกต่าง และเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ตัวอย่างของการทำงานร่วมกันระหว่างพนักงานภายในองค์กร จำแนกเป็นกลุ่มการทำงาน เช่น
1)         ทำงานร่วมกันในระดับรายการธุรกรรม (Transaction)  เช่นพนักงานในโรงงาน ช่วยพนักงานขายตรวจสอบสถานภาพการผลิตสินค้า ตามใบสั่งซื้อ เพื่อยืนยันวันส่งมอบสินค้าให้ลูกค้า หรือฝ่ายการเงินช่วยตรวจสอบสถานภาพด้านหนี้สินของลูกค้าให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด ความร่วมมือกันในระดับนี้ เป็นลักษณะการร่วมมือกันข้ามหน่วยงาน เพื่อเน้นการบริการลูกค้า และสร้างความพอใจให้ลูกค้าเป็นหลัก เรานิยมเรียกการทำงานร่วมกันลักษณะนี้ว่า เป็นงานทลายไซโล (Silo)
2)            ทำงานร่วมกันในระดับบุคคลเกี่ยวกับข้อมูลและความรู้ที่จำเป็นต่อการทำงานตามหน้าที่ เช่น พนักงานขายคนใหม่ต้องการรู้ข้อตกลงและเงื่อนไขผูกพันบริษัท ที่พนักงานงานคนเก่าที่ลาออกไปแล้ว ได้ทำกับลูกค้า หรือพนักงานการตลาดต้องการรู้ระเบียบว่าด้วยสวัสดิการพนักงานที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ หรือพนักงานบัญชีต้องการรู้วิธีใช้ระบบซอฟต์แวร์ชุดใหม่
3)            ทำงานร่วมกันในระดับกลุ่ม ร่วมกันแก้ปัญหา หรือร่วมกันทำงานเพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม เช่นวิศวกรคนหนึ่ง ช่วยชี้แนะแนวทางแก้ปัญหาการซ่อมแซมเครื่องยนต์ จากประสบการณ์ของตน ร่วมกับวิศวกรคนอื่น ๆ หรือเจ้าหน้าที่แผนกออกแบบสินค้าร่วมกันแสดงความคิดเห็น และระดมสมองเกี่ยวกับการออกแบบสินค้ารายการใหม่

              มาในบัดนี้ คลาวด์คอมพิวติงได้กลายเป็นตัวเลือกสำคัญ สำหรับการจัดการไอที (IT Management)  เป็นตัวเลือกใหม่ของการ Outsource การใช้ไอซีที การทดลองใช้บริการคลาวด์มักจะเริ่มจากย้ายงานประเภท Transactional บางส่วน จากศูนย์คอมพิวเตอร์ขององค์กร ไปสู่ศูนย์บริการคลาวด์ภายนอก ตามที่แสดงในช่องขวาล่างของภาพข้างต้น การเลือกใช้บริการคลาวด์เช่นี้ ไม่ได้เพิ่มคุณค่าอื่นใด นอกจากเปลี่ยนจากรูปแบบลงทุนในสินทรัพย์ มาเป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งนำไปสู่การประหยัด และลดระดับของความสับสนวุ่นวาย ที่ต้องบริหารจัดการเทคโนโลยีด้วยตัวเอง ที่นับวันจะสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น แลกกับความเสี่ยงอันเนื่องจากไปฝากการจัดการไอทีให้แก่องค์กรภายนอก ที่เราไม่มีสิทธิที่จะไปดูแลควบคุมได้เต็มที่เหมือนแต่ก่อน การใช้บริการคลาวด์ในรูปแบบ (Service model) IaaS, PaaS, และ SaaS จะให้ประโยชน์เพียงแค่เป็นรูปแบบใหม่ของ Outsourcing ที่ไม่ได้สร้างคุณค่าในทางธุรกิจที่แท้จริง ทั้งคุณค่าของลูกค้า คุณค่าของพันธมิตร และคุณค่าขององค์กรเอง

              คุณค่าการใช้คลาวด์จะเกิดขึ้นจริง เมื่อธุรกิจเริ่มมีกลยุทธ์ที่จะขยายงานไปสู่ช่องที่ปรากฎอยู่ด้านขวาบนของภาพข้างต้น เป็นงานประเภท Interactional ผ่านเครือข่ายภายนอก เชื่อมโยงกับลูกค้า ชุมชน ตลาดและพันธมิตร การบริการคลาวด์ IaaS, PaaS, และ SaaS จะกลายเป็น Platform สำหรับทำธุรกรรมรูปแบบใหม่ที่มีพลังมาก สนับสนุนหลักการการธุรกิจใหม่ในยุคที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และเน้นการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนบนพื้นฐานของการสร้างคุณค่าให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง กลยุทธ์ของธุรกิจที่กล่าวต้องคำนึงถึงการเชื่อมโยงกับบุคคลภายนอก สนับสนุนให้บุคคลภายนอกมีส่วนร่วมในลักษณะการร่วมกันสร้างคุณค่า (Value co-creation) ที่สำคัญที่สุด คือต้องสามารถสนับสนุนให้ลูกค้าสร้างคุณค่าให้ตัวเองในบริบทต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น ลูกค้าต้องการหาซื้อหนังสือเกี่ยวกับ “Cloud Computing” แบบออนไลน์ เมื่อค้นพบเล่มที่คิดว่าตนสนใจ จึงสั่งซื้อพร้อมชำระเงินผ่านออนไลน์เรียบร้อย (ลูกค้ามีความพอใจ ในบริบท (Context) ณ ขณะที่ต้องการซื้อหนังสือ) ต่อมา เมื่อลูกค้าได้รับหนังสือแล้ว และพบว่า หนังสื่อที่ได้ซื้อนั้น เนื้อหาสาระไม่ได้ครอบคลุมตามที่สนใจ (ผิดหวัง) ต้องการขายหนังสือเล่มดังกล่าว และสั่งซื้อเล่มใหม่ที่เหมาะสมกว่า (ลูกค้าเปลี่ยนบริบท (context) ใหม่) ผู้ขายต้องพยายามหาวิธีช่วยให้ลูกค้าสร้างคุณค่า (ในบริบทใหม่นี้ คือหาผู้ซื้อเล่มเก่า และซื้อเล่มใหม่) ถ้าต้องการให้ลูกค้าพอใจ (Experience ที่ดี) ระบบออนไลน์ขายหนังสือ ต้องถูกออกแบบให้ทำหน้าที่สร้างความพอใจให้ลูกค้า ในบริบทต่าง ๆ ให้ครบถ้วนที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งหมดนี้ เป็นตัวอย่างของงานที่ต้องใช้วิธีปฎิสัมพันธ์ (Interaction) เกี่ยวกับการบริการลูกค้า สนองตอบความต้องการที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละบริบท เป็นงานของการเชื่อมโยงกันแบบเครือข่าย ที่แตกต่างกับระบบซื้อขายสินค้าแบบ Transactional ที่ได้กำหนดขั้นตอนล่วงหน้า ระบบงานที่เป็น Interactional ตามตัวอย่างนี้  มีความไม่แน่นอน ไม่สามารถกำหนดขั้นตอนตายตัวล่วงหน้า (ไม่สามารถคาดเดาบริบทของลูกค้าล่วงหน้า)  และต้องพึ่งพาคนภายนอกที่จะเข้ากระบวนการ Co-creation of value  งานลักษณะนี้ เป็นงานที่เหมาะกับการใช้บริการคลาวด์ หรือผู้อีกนัยหนึ่ง การบริการคลาวด์มีศักยภาพสูงที่จะสนับสนุนการทำงานเป็นเครือข่าย และมีลักษณะปฎิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนในชุมชน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างโอกาส และสร้างคุณค่าให้ผู้ที่เกี่ยวข้องงที่แตกต่างจากเดิม คลาวด์คอมพิวติงกลายเป็นเวที หรือ Platform สำหรับรองรับการทำธุรกรรมลักษณะเช่นว่านี้ได้ ฟังดูคล้ายกับ รูปแบบบริการของ amazon.com ไหมครับ ใช่ แน่นอน เราต้องการขยายโอกาสลักษณะนี้ไปสู่ SMEs และธุรกิจอื่น  เพื่อสามารถทำธุรกรรมรูปแบบคล้าย amazon.com ผ่านบริการคลาวด์ โดยไม่ต้องลงุทนและวุ่นวายกับเรื่องยาก ๆ ทางเทคนิค

ตอนต่อไป เราจะเริ่มเจาะลึกในลักษณะ how to มากขึ้นของ Cloud as a Business Platform (CaaBP)