Sunday, October 28, 2012

คลาวด์ แพลตฟอร์มใหม่สำหรับธุรกิจ (Business Platform) ตอนที่ 1



ในบทความเมื่อเดือนสิงหาคม 2555 เรื่อง แนวทางตัดสินใจเลือกชนิดของบริการคลาวด์ได้กล่าวว่า การเลือกใช้บริการคลาวด์ ต้องให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ขององค์กร บทความหลายตอนต่อจากนี้ จะกล่าวถึงแนวทางพิจารณาเลือกใช้คลาวด์ในเชิงยุทธ์ศาสตร์ และเป็นยุทธศาสตร์ในเชิงปฎิรูป จากนี้ไป เชื่อว่า การเลือกใช้บริการคลาวด์ได้อย่างชาญฉลาด และเหมาะสม มีนัยสำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจ และการแข่งขัน การเลือกใช้บริการคลาวด์เพียงเพื่อทดแทนการลงทุนในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เพื่อมุ่งหวังลดการลงทุน ประหยัดค่าใช้จ่าย และขจัดปัญหาที่ต้องเผชิญกับความซับซ้อนของเทคโนโลยีนั้น ไม่น่าเป็นเป้าหมายหลักขององค์กร ประโยชน์ที่ได้จากคลาวด์มีมากกว่าเพียงเพื่อลดการลงทุนและลดค่าใช้จ่าย  ประโยชน์หลักของคลาวด์น่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างคุณค่า (Value creation) ในยุคที่ธุรกิจได้เปลี่ยนทิศทาง หันมาสนใจการสร้างคุณค่าให้ผู้บริโภค สร้างความใกล้ชิดกับผู้บริโภค การมีปฎิสัมพันธ์ และการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับพันธมิตรและชุมชน เป็นความสำคัญที่ปฎิเสธไม่ได้ คลาวด์คอมพิวเตอร์สนับสนุนยุทธศาสตร์ที่กล่าวนี้ได้ คลาวด์กำลังมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นเวทีสำหรับการทำธุรกรรม (Business platform) เพื่อการสร้างคุณค่าร่วมกัน

การ์ตเนอร์ได้เผยแพร่เรื่อง Gartner’spredictions for 2012 and beyond ตอน “Emergence of the nexus of four forces: The convergence of cloud, social, mobile, and information (CSMI) into a unified set of forces shaping almost every IT-related decision” ได้พยากรณ์อย่างน่าสนใจว่า ไอซีทีกำลังเปลี่ยนบทบาทในสังคมครั้งใหญ่สู่อีกมิติหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ มีผลต่อการดำเนินกิจการทางธุรกิจอย่างมาก ที่ผู้บริหารทุกระดับ องค์กรทุกชนิด จะต้องให้ความสำคัญ โดยสรุป CSMI Nexus ของการ์ตเนอร์ (Nexus หมายถึงการเชื่อมโยงกันของสรรพสิ่ง) บอกเราว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ เป็นผลจากแรงขับเคลื่อน 4 เรื่องดังนี้

1.          Cloud หมายถึงคลาวด์คอมพิวติง ที่จะเปลี่ยนรูปแบบการใช้ไอซีที ไปเป็นรูปแบบสาธารณูปโภค และทำให้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงกันด้วยอินเทอร์เน็ตจะกลายเป็นเวทีการทำธุรกิจทุกชนิด (Business Platform)
2.          Social หมายถึงเครือข่ายสังคม และสื่อสังคมทั้งหลาย ที่ได้กลายเป็นเวทีเพื่อการสื่อสาร และการติดต่อปฎิสัมพันธ์กันของมนุษย์ เป็นเทคโนโลยีที่สำคัญและยิ่งใหญ่กว่ายุคที่มีการประดิษฐ์ระบบโทรศัพท์
3.          Mobile หมายถึงเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมแบบไร้สาย และอุปกรณ์พกพาทั้งหลาย ตั้งแต่เครื่องสมาร์ตโฟนไปจนถึงเครื่องแท็บเล็ตและโน๊ตบุ๊ค เป็นผลให้เกิดการแพร่กระจายการใช้ไอซีทีอย่างทั่วถึง (Ubiquitous computing) และเกิดความสะดวกในการทำงานและการเข้าถึงข้อมูล (Mobility)
4.          Information หมายถึงข้อมูลและข่าวสาร ซึ่งเป็นหัวใจหลักของทุกสิ่งในโลก เพราะเป็นตัวแทนของคน สินค้า บริการ และทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นในโลก ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างสะดวก ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ พวกเราที่ประกอบธุรกรรมจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลและข่าวสารมากขึ้นทุกวัน

การเชื่อมโยงของ Cloud, Social, Mobile, Information ที่การ์ตเนอร์เรียกว่า “CSMI Nexus” นั้น บอกเราว่า ความสำคัญของคลาวด์ไม่ได้อยู่ที่เป็นตัวเลือกของการมีการใช้ไอซีที ความสำคัญของคลาวด์ น่าจะเป็นเรื่องของการปฎิรูป และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจ เราสามารถรับรู้ระดับความยิ่งใหญ่ และความสำคัญของคลาวด์ ด้วยการศึกษาตัวเลขการลงทุนในธุรกิจให้บริการคลาวด์ของกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ไอซีทีระดับโลกในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ที่จะกล่าวต่อไปข้างล่างนี้  ซึ่งจะพบว่ามีมูลค่ามหาศาล และนำไปสู่ข้อสรุปว่า ปรากฎการณ์การให้บริการไอซีทีรูปแบบใหม่ มีนัยสำคัญต่อการทำธุรกิจและการแข่งขันธุรกิจในศตวรรษที่ 21 อย่างแน่นอน 

1.          Amazon: Amazon ถือว่าเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ และเป็นรายแรกของโลก เริ่มให้บริการคลาวด์ตั้งแต่ปี 2006 ถ้าดูจากสถิติการลงทุนในศูนย์ข้อมูลในช่วงปี 2010-2011 รายงานจาก Zdnet.com  ประมาณว่า มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่าสองแสนล้านบาท และมีศูนย์ข้อมูลกระจายอยู่ทั่วโลก ทั้งในอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเซีย Amazon ให้บริการ IaaS ภายใต้ชื่อว่า Amazon Web Service (AWS) แบ่งเป็นบริการสองรูปแบบ แบบที่หนึ่งเรียกว่า Elastic Compute Cloud (EC2) ลูกค้าเช่าใช้ในรูปของ Virtual machines (VMs) ลูกค้าจะใช้ VM ทำงานอะไรก็ได้ โดยลูกค้ารับผิดชอบโหลดซอฟต์แวร์ประยุกต์ของตัวเอง และชำระค่าบริการตามจำนวนชั่วโมงที่ใช้จริง หรือเป็นรายเดือน บริการประเภทที่สอง เรียกว่า Simple Storage Service (S3) เป็นการบริการเช่าใช้ที่บันทึกข้อมูล (Data storage) Amazon จัดหา Web service interface ให้ลูกค้านำไปฝังไว้ในโปรแกรมของตัวเอง เพื่อเรียกใช้ข้อมูลที่ฝากไว้กับ S3 ได้อย่างสะดวก ในกรณีบริการ S3 ลูกค้าจะชำระค่าบริการตามปริมาณข้อมูลที่ฝากบันทึกไว้ต่อเดือน (gigabytes/month)

2.          Google:  ศูนย์ข้อมูลเพื่อบริการคลาวด์ บนพื้นที่กว่า 75 ไร่ ในเมือง Dalles มณรัฐออรีกอน เป็น 1 ใน 12 ศูนย์ข้อมูลของ Google ครอบคลุมทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา เฉพาะที่เมือง Dalles แห่งเดียว Google ได้ลงทุนไปกว่า 600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 2 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้ลงทุนสร้างศูนย์ข้อมูลในสหภาพยุโรปมูลค่ากว่า 200 ล้านยูโร (Wikipedia 2012) นับรวมกันแล้ว Google ได้ลงทุนในศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจคลาวด์เป็นแสนล้านบาท  Google บริการ IaaS ผ่าน Google Compute Engine บริการ PaaS และ SaaS ผ่าน Google App Engine เป็นการให้บริการคลาวด์คอมพิวติงแบบครบวงจร

3.          IBM: เจ้าหน้าที่ระดับสูงของไอบีเอ็มเปิดเผยว่า ภายในปี 2015 ไอบีเอ็มมีแผนที่จะ Acquire ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคลาวด์ มูลค่าที่ได้ตั้งเป้าไว้สูงถึง 20 พันล้านเหรียญสหรัฐ  ตัวอย่างของธุรกิจที่ Acquire คือ Green Hat เป็นธุรกิจประเภท Cloud testing provider และให้บริการเครื่องมือเพื่อการบูรณการระบบงานขนาดใหญ่    นอกจากนี้ ไอบีเอ็มยังเปิดเผยว่ากำลังลงทุนศูนย์ข้อมูลเพื่อให้บริการคลาวด์ขนาดใหญ่ในประเทศจีนแห่งที่ 3 ที่ Jilin นอกจากนี้ ยังได้ลงทุนสร้างศูนย์ข้อมูลเพื่อบริการคลาวด์ในประเทศสิงคโปร์ มูลค่าประมาณ 38 ล้านเหรียญสหรัฐ และลงทุนในลักษณะเดียวกันในภูมิภาคยุโรปและอื่น ๆ ไอบีเอ็มกล่าวว่า การให้บริการคลาวด์ของไอบีเอ็ม ภายใต้แบรนด์ “Smart Clouds” นอกจากจะช่วยลูกค้าประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการใช้ไอซีทีแล้ว ยังเป็นเวทีสำคัญสำหรับการสร้างรายได้ใหม่ การทำธุรกิจแนวใหม่ และพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ด้วย
 
4.          Microsoft: วารสาร CloudJournal ได้อ้างอิงถึง Bloomberg ว่า ไมโครซอฟต์วางแผนที่จะทุ่มเงินถึง 8.64 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2011 ด้านวิจัยและพัฒนาการบริการคลาวด์คอมพิวติงภายใต้แบรนด์ “Azure”     นอกจากนี้ H-online.com ยังรายงานว่า ไมโครซอฟต์เริ่มลงทุนจำนวนมหาศาล สร้างศูนย์ข้อมูลเพื่อบริการคลาวด์ที่มณรัฐเท็กซัส    ชิคาโก และอื่น ๆ รวมทั้งในต่างประเทศทั่วโลก ยักษ์ใหญ่เหล่านี้ ต่างแข่งขันการลงทุนสำหรับขยายฐานธุรกิจด้านบริการคลาวด์ในระดับหลายแสนล้านบาทขึ้นไปทั้งสิ้น

ที่กล่าวมา เป็นเพียงไม่กี่บริษัทที่จัดอยู่ในระดับผู้ให้บริการคลาวด์ชั้นแนวหน้า ยังไม่นับยักษ์ใหญ่ที่เหลือ เช่น HP, Oracle, Akamai, Dell, etc. นอกจากนี้ ยังมีผู้ให้บริการรายใหญ่ของภาคพื้นยุโรป และญี่ปุ่น จำนวนเงินที่ลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อบริการคลาวด์ ถึงแม้จะยังไม่สามารถค้นหาตัวเลขมายืนยันว่าสูงเพียงใด แต่จากตัวอย่างที่หามาได้ข้างต้น ก็ได้เห็นตัวเลขการลงทุนเครือข่ายบริการคลาวด์เชื่อมโยงทั่วทั้งโลก รวมกันอยู่ในระดับล้านล้านบาท เพียงเท่านี้ก็น่าจะเพียงพอที่ยืนยันว่า คลาวด์กำลังจะเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ในวงการไอซีทีของศตวรรษที่ 21 และมีผลต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ขององค์กรทุกขนาด ทุกประเภท และทุกหนแห่งในโลกนี้ จากนี้เป็นต้นไป

เรื่องที่คลาวด์กลายเป็น Business platform ใหม่ จะต้องพูดคุยกันอีกหลายตอนครับ

Sunday, October 7, 2012

ภัยกำลังคุกคามอินเทอร์เน็ต จากผู้กำกับเว็บสากล


สืบเนื่องจากมีข่าวว่า ในปลายเดือนธันวาคม ปีนี้ กลุ่มประเทศสมาชิกของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunications Union, ITU) จะมีการพิจารณาบทบัญญัติว่าด้วยสนธิสัญญาการบริหารโทรคมนาคม และมีผู้เสนอให้นำอินเทอร์เน็ต และ IP Networks and Services เข้าไปอยู่ภายใต้ ITR ด้วย ทำให้เกิดปฎิกิริยาในสังคมอินเทอร์เน็ตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วทั้งโลก เพราะหมายความว่า นอกจากผลที่ยังไม่ชัดเจนอื่น ๆ จำนวนมาก ที่จะเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจของอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้ยังอาจจะต้องจ่ายตังทุกครั้งที่กดคลิกด้วย
วันนี้ ดร ธัชพล โปษยานนท์ ส่งลิงก์เรื่อง Net Threat: The Dangers From Global Web Regulation” เขียนโดย Mr. Robert Pepper VP for global technology policy at Cisco Systemsมาให้อ่าน ทำให้เข้าใจประเด็นปัญหามากขึ้น จึงขอแปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยให้อ่านเล่น ๆ

ภัยคุมคามครั้งใหญ่กำลังเกิดขึ้นกับอินเทอร์เน็ต สืบเนื่องจากมีผู้พยายามเสนอให้แก้ไขสนธิสัญญาโทรคมนาคมระหว่างประเทศ  ถ้าข้อเสนอครั้งนี้สัมฤทธิ์ผล จะเกิดความเสียหายต่ออินเทอร์เน็ตอย่างมหาศาล โลกที่กำลังจะเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย เป็นหนึ่งเดียวด้วยอินเทอร์เน็ต จะสลายกลายเป็นเครือข่ายกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่แยกกระจัดกระจาย การใช้บริการคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตจะถูกผลักเข้าไปอยู่ภายใต้สนธิสัญญาของบริการโทรคมนาคม และการควบคุมของภาครัฐ ที่ล้าสมัย
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1984 ในยุคนั้น โลกเรามีโทรศัพท์ใช้เพียงเฉลี่ย 8 คู่สายต่อทุก ๆ 100 คน หน่วยงานอิสระภายใต้สหประชาชาติ คือสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunications Union, ITU) ได้พยาการณ์ในขณะนั้นว่า ภายในต้นศตวรรษหน้า (ศตวรรษที่ 21) มนุษย์ทั่วทุกมุมโลกจะต้องสามารถเชื่อมโยงกันได้ด้วยโทรศัพท์ และจะได้รับประโยชน์จากโทรศัพท์อย่างทั่วถึงกัน
แต่เมื่อ 30 ปีให้หลัง ปรากฏว่า จำนวนคนที่เข้าถึงโทรศัพท์เพิ่มขึ้นเพียงประมาณหนึ่งเท่าตัว คือ 17 คู่สายต่อทุกๆ 100 คนเท่านั้น
แต่ความสำเร็จที่น่าอัศจรรย์ กลับกลายเป็นพัฒนาการของระบบโทรศัพท์พกพาและอินเทอร์เน็ต เพราะจนถึงปี 1984 ยังไม่มีระบบโทรศัพท์ไร้สายและอินเทอร์เน็ตเลย แต่เพียงช่วงระยะสั้น ๆ ณ วันนี้ ปรากฎว่า ในทุก ๆ 100 คนของประชาการโลก มีโทรศัพท์พกพาจำนวน 86 เลขหมาย มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 33 คน และจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้บริการบรอดแบนด์ (Fixed and mobile broadband subscription) 24 ราย
สิ่งที่น่าแปลกใจคือ การเติบโตอย่างมโหฬารในด้านการสื่อสาร (ระบบเคลื่อนที่ และอินเทอร์เน็ต) เกิดขึ้นโดยไม่ได้อยู่ภายใต้กำกับของไอทียู (ITU) และไม่ได้อยู่ในความสนใจ ของสนธิสัญญาโทรคมนาคมสากล (International Telecommunications Regulations (ITRs) ของปี 1988
การที่พัฒนาการของอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นภายนอกการกำกับของไอทียูนั้น ไม่ใช่ของแปลก  เพราะเป็นเจตนารมณ์ของกลุ่มประเทศที่รับผิดชอบการพัฒนาอินเทอร์เน็ตในยุคต้น ๆ
ผลที่ตามมา คือทำให้เกิดนวัตกรรมทางเทคโนโลยีอย่างมากมาย และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมากถึงประมาณ 23,000 ล้านคน คาดว่าจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะเพิ่มถึงกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก (7+ พันล้านคน) ในอีก 5 ปีข้างหน้า
อินเทอร์เน็ตได้เปลี่ยนวิถีดำเนินชีวิตของคนเรา เปลี่ยนวิธีการทำงาน การเรียน นันทนาการ ตลอดจนการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน เป็นอิสระจากระยะทางและสถานที่ อุตสาหกรรมใหม่ ๆ ได้ถูกสร้างขึ้น  ในขณะที่อุตสาหกรรมดั่งเดิมเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยแปลงและการปฎิรูป ภาครัฐเองก็เริ่มให้ความสำคัญกับการบริการประชาชนที่ดีขึ้น และสนับสนุนให้เกิดมีการทำงานร่วมกัน และมีส่วนร่วมมากขึ้น ทั้งหมดนี้ เป็นผลจากพัฒนาการของอินเทอร์เน็ตที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ทั่วทั้งโลก
โดยสรุป อินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นตัวขับเคลื่อนนวัตกรรมที่สำคัญของเศรษฐกิจของศตวรรษที่ 21
แต่การเติบโต และนวัตกรรมที่กล่าว กำลังถูกคุกคาม คนบางกลุ่มพยายามที่จะใช้โอกาส จากวาระทบทวนบทบัญญัติการกำกับโทรคมนาคมสากล ปี 1988 (ITRs) ที่จะมีขึ้นในเดือนธันวาคม ปีนี้ ที่ World Conference on International Telecommunications (WCIT) ผลักดันให้นำอินเทอร์เน็ต และการบริการอินเทอร์เน็ตเข้าไปอยู่ภายใต้ไอทียู ที่กำกับการบริการโทรคมนาคม ที่ค่อนข้างจะล้าสมัย บทบัญญัติการกำกับโทรมคมนาคมสากลแต่เดิม เน้นแต่เรื่องบริการเชื่อมโยงโทรศัพท์แบบมีสาย สำหรับอินเทอร์เน็ตนั้น ยังไม่ได้อยู่ภายใต้ ITR จนถึงบัดนี้ ตามความเป็นจริง ได้มีความเห็นชอบในปี 1988 ให้อินเทอร์เน็ตอยู่นอกกำกับของ ITRs เสียด้วยซ้ำ เพื่อให้อินเทอร์เน็ตถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และรูปแบบธุรกิจ ในลักษณะเชิงพาณิชย์อย่างอิสระ แทนที่จะถูกแซกแซงโดยหน่วยงานกำกับเช่นไอทียู
ข้อเสนอที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของ WCIT ในครั้งนี้ มีตั้งแต่เรื่องเกี่ยวกับการควบคุมเส้นทางจราจรของอินเทอร์เน็ต (Routing of Internet Traffic) ภายใต้ข้ออ้างเรื่องความมั่นคง โดยหารู้ไม่ว่า จะมีผลต่อการสร้างการแบ่งแยกเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แทนที่จะเชื่อมโยงกัน และคุกคามอิสระภาพของการใช้อินเทอร์เน็ตด้วย   มีการเสนอให้กำหนดความหมายใหม่ ของโทรคมนาคม ว่าให้ครอบคลุมถึง Computing ด้วย ซึ่งก็หมายถึงการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรืออินเทอร์เน็นนั่นเอง นอกจากนี้ ยังมีผู้เสนอให้มีการกำกับการบริการอินเทอร์เน็ตเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม  ข้อเสนอทั้งหมดนี้ เห็นได้ชัดเจนว่า ไม่เพียงแต่จะคุกคามอินเทอร์เน็ตโดยรวม แต่ยังจะเป็นอุปสรรค์ต่อการสร้างนวัตกรรม และการพัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศ และระดับโลกด้วย
พวกเราต้องให้ความสำคัญ ที่จะช่วยเฝ้าระวัง เพื่อปกป้องไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางลบต่อภูมิทัศน์ของอินเทอร์เน็ต และการเติบโต ตลอดจนนวัตกรรม และพลวัตของอินเทอร์เน็ต เราต้องสนับสนุนสนธิสัญญาที่มีหลักการระดับสูง อย่างที่ใช้กำกับการบริการโทรคมนาคมแบบเดิม เช่นการแข่งขันโดยเสรี มีกระบวนการกำกับอย่างเปิดเผยและโปร่งใส เป็นผลให้เกิดการสร้างนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและบริการอย่างต่อเนื่อง บนพื้นฐานของโทรคมนาคม
ที่กล่าวมานี้ ไม่ได้หมายความว่า การเติบโตของอินเทอร์เน็ตไม่ได้สร้างปัญหา หรือความท้าทาย หรือโอกาสที่ต้องให้ภาครัฐ และเอกชน ทั้งรุ่นเก่าและใหม่ เข้ามามีส่วนร่วมในการรับรู้ แต่การรับมือกับความท้าทาย และการแก้ปัญหา ไม่ควรนำแนวความคิด และกติกาแบบเดิมของไอทียู ที่ได้พัฒนาในยุคที่ธุรกิจโทรคมนาคมทั่วทั้งโลก ยังเป็นธุรกิจในกำกับของรัฐ และถือรากมาจากธุรกิจไปรษณีย์ การนำบทบัญญัติที่ล้าสมัยจากครั้นโบราณ ซึ่งถูกออกแบบสำหรับธุรกิจที่หมดยุคแล้ว มาใช้กับอินเทอร์เน็ต ที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องนั้น ย่อมจะทำให้การสร้างนวัตกรรมและการลงทุนมีโอกาสหยุดชงักได้
จริงอยู่ อินเทอร์เน็ตได้เริ่มจากสหรัฐอเมริกา แล้วขยายตัวไปสู่ทั่วอเมริกาเหนือ และภาคพื้นยุโรปอย่างรวดเร็ว แต่ก็ได้กระจายครอบคลุมไปแล้วทั่วโลก ด้วยอัตราการขยายตัวที่รวดเร็วเกินกว่าจะจินตนา โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่เป็นศูนย์กลางของนวัตกรรม
การเปลี่ยนแนวทางการกำกับดูแล และรูปแบบธุรกิจของอินเทอร์เน็ต ด้วยรูปแบบที่ใช้กับโทรคมนาคมที่ล้าสมัย ย่อมจะเป็นอุปสรรค์ต่อการเติบโต และเป็นเหตุให้ศักยภาพการสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องถดถอยลง
และน่าจะความผิดพลาดที่ใหญ่หลวงมาก