Saturday, December 31, 2011

การร่างแผนแม่บทไอซีทีฉบับใหม่ ภายใต้กรอบนโยบายไอซีที 2020 (ตอนที่ 7)

เรื่องการ    พัฒนาทุนมนุษย์

ใน 6 ตอนแรก ผมได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์ภายใต้กรอบนโยบายไอซีที 2020 ว่าด้วยการพัฒนาทุนมนุษย์ โดยยุทธศาสตร์ที่ 2 พูดถึงการพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์และใช้สารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ เจตนาส่งเสริมให้มีกำลังคนที่มีคุณภาพ มีความสามารถในการพัฒนาใช้ไอซีทีในปริมาณเพียงพอที่จะรองรับการพัฒนาประเทศในยุคเศรษฐกิจฐานบริการ และฐานความคิดสร้างสรรค์ ทั้งบุคลากรไอซีที และในทุกสาขาอาชีพ และให้ความสำคัญกับการกำหนดกรอบเพื่อพัฒนาและประยุกต์ไอซีทีเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)
จะเห็นได้ว่า กรอบนโยบายไอซีที 2020 ได้ให้ความสำคัญต่อการสร้างความพร้อมให้ไทยแข่งขันในเวทีโลกด้วยความสามารถด้านนวัตกรรม ถ้าใช้ศัพท์ของ WEF หรือ World Economic Forum ก็จะหมายถึงการเตรียมพร้อมให้ไทยปรับฐานะการแข่งขันจาก Efficiency Driven สู่ Innovation Driven การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะประสิทธิภาพด้านการผลิต อย่างที่ไทยประสบความสำเร็จจนได้เป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานระดับโลกนั้น เป็นการเพิ่มผลิตภาพจากแรงงาน และกระบวนการการผลิตสินค้า ซึ่ง WEF ตั้งข้อสังเกตว่า Efficiency Driven strategy จะไม่สามารถเพิ่มผลิตภาพให้ประเทศได้ตลอดไป เมื่อถึงจุดหนึ่ง ต้นทุนการผลิตจะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศที่กำลังพัฒนาได้อีกต่อไป เห็นได้ชัดว่าไทยกำลังเข้าสู่สภาพอิ่มตัวของยุทธศาสตร์ Efficiency Driven และต้องเตรียมยกระดับเข้าแข่งขันที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องอาศัยความรู้ ประสบการณ์ ทักษะการสร้างสรรค์ การออกแบบกระบวนการทำงานที่ซับซ้อน แต่มีประสิทธิผล รวมทั้งทักษะการใช้ไอซีทีอย่างมีประสิทธิภาพ ยุทธศสตร์การพัฒนาทุนมนุษย์จึงมีความจำเป็น
ยุทธศาสตร์การพัฒนาทุนมนุษย์ภายในกรอบนโยบายไอซีที 2020 ระยะเวลาสิบปีนี้ ต้องทำได้ทั้งในระดับ Economy of scale และ Economy of scope เนื่องจากภายใต้สภาวการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ ด้านเช่นทุกวันนี้ ความรู้ในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ มีโอกาสเสื่อมคุณค่า หรือล้าสมัยเร็วขึ้น การเรียนเสริม หรือการเรียนเพิ่ม (Retraining) จึงมีความจำเป็นในกลุ่มบุคลากรที่ใช้ความรู้ (Knowledge workers) ไม่เฉพาะกลุ่มวิชาสาขาไอซีที แต่รวมทั้งวิชาสาขาอาชีพอื่น ๆ ด้วย จำนวนคนที่ต้องเข้ารับการฝึกอบรมจึงไม่ใช่จำนวนพันหรือหมื่น แต่เป็นจำนวนล้าน และเป็นการฝึกอบรมที่เป็นความรู้ที่หลากหลาย การส่งเสริมให้คนสนใจพัฒนาตัวเองในวงกว้างเช่นนี้ จำเป็นต้องมีมาตรการทำให้เกิดการอบรมที่มีคุณภาพ มีค่าใช้จ่ายต่ำ และสามารถเรียนด้วยความสะดวก คือเรียนตามอัธยาศัย ไม่ต้องลางานเรียนเป็นระยะเวลานาน ๆ หนทางเดียวที่จะให้ได้วิธีการเรียนที่มีคุณลักษณะที่กล่าว คือหนทางใช้ไอซีทีเพื่อสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่อย่างมีการจัดการที่ดี และให้ครูอาจารย์ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญทุกแขนงเข้ามีส่วนร่วมในการพัฒนาเนื้อหาวิชา และกระบวนการเรียนการสอนที่ทำให้เกิด Economy of scale และ Economy of scope ได้ รัฐบาลอาจกำหนดเป็นมาตรการสองมาตรการ คือ 1) ส่งเสริมให้พัฒนาเวทีเพื่อใช้สำหรับการเรียนการสอนที่สร้างขึ้นจากเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และ 2) ส่งเสริมให้ผู้ที่มีความรู้ ร่วมพัฒนากระบวนการเรียนการสอน (Pedagogy) และเนื้อหาเพื่อการเรียนการสอน (Learning contents) ที่เหมาะสมและมีคุณภาพ
  1. ส่งเสริมให้พัฒนาเวทีเพื่อการเรียนการสอนในลักษณะเป็น Ecosystem for Learning ระบบนิเวศ (Ecosystem) ในที่นี้ หมายถึงระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ที่เชื่อมโยงกันผ่านอินเทอร์เน็ต ประกอบด้วยระบบอีเลิร์นนิ่งหลาย ๆ รูปแบบ จากหลาย ๆ สถาบัน ทั้งหมดเชื่อมโยงกัน เพื่อให้ผู้สอนและผู้เรียนปฎิสัมพันธ์กัน เพื่อแบ่งปันความรู้ระหว่างกัน เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนลักษณะ Collaborative Learning ระบบการเรียนการสอนยุคใหม่ต้องให้ความเป็นอิสระแก่ผู้เรียน ในการเลือกเวลาและสถานที่เรียน โดยทั้งหมดนี้เน้นผลการเรียน และคุณภาพการเรียนเป็นหลัก เครือข่ายคอมพิวเตอร์ยังให้ผู้เรียนมีโอกาสเข้าถึงแหล่งความรู้และข้อมูลมหาศาลทั่วโลก ช่วยเสริมให้ผู้เรียนมีความรู้แตกฉานยิ่งขึ้นได้ ระบบการเรียนการสอนยุคใหม่ต้องเน้นให้ผู้เรียนเรียนด้วยตนเองมากขึ้น เรียนกับเพื่อนร่วมเรียนมากขึ้น ผสมเทคโนโลยีกับการเรียนในชั้นเรียน  ให้สามารถรับความช่วยเหลือและแนะนำจากอาจารย์ ในแบบพบหน้ากัน และปฎิสัมพันธ์กันผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การเรียนยุคใหม่ นอกจากได้ความรู้แล้ว ผู้เรียนยังต้องฝึกปฎิบัติทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการสื่อสาร และ Soft skill อื่นที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ การพัฒนาระบบการเรียนการสอนบนโครงสร้างพื้นฐานของเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ผสมผสาน นำส่วนดีของ E-Learning และจุดเด่นของการสอนแบบบรรยายในชั้นเรียนอย่างมีบริหารจัดการ (Managed Blended Learning) จะสามารถลดค่าใช้จ่าย แต่ให้ผลการเรียนที่มีคุณภาพได้ และสามารถบริการได้เป็นจำนวนมากด้วย
  2. ส่งเสริมการพัฒนากระบวนการสอนและสร้างเนื้อหาการเรียนสาขาวิชาต่าง ๆ ประเทศไทยมีผู้มีความรู้ในระดับผู้ชำนาญการ และเป็นครูอาจารย์จำนวนมาก ผู้มีวิชาเหล่านี้เป็นทรัพยากรสำคัญที่จะร่วมกันสร้างเนื้อหาวิชาและออกแบบกระบวนการเรียนการสอนแนวใหม่ได้ ถ้ามีการส่งเสริมและสร้างสิ่งมีจูงใจได้อย่างถูกวิธี ในยุคที่ไอซีทีได้ก้าวหน้าเป็นอย่างมากเช่นนี้ การใช้ไอซีทีเพื่อการสร้างกระบวนการเรียนการสอน และเนื้อหาสาระในรูปแบบ E-Learning เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก แต่จะให้ได้คุณภาพ ต้องมีมาตรการจูงใจ และมีเวทีให้ผู้มีวิชาเหล่านี้ นำผลงานไปใช้ได้อย่างกว้างขวางและสะดวก ระบบนิเวศเพื่อการเรียนการสอนที่กล่าวในข้อ 1 จะตอบโจทย์ด้านการเผยแพร่ผลงานและนำผลงานไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ แต่ด้านพัฒนาแรงจูงใจนั้น จะเกิดขึ้นได้ถ้ามีผู้เรียนจำนวนมาก ทำให้คุ้มค่าที่ผู้มีวิชาจะลงทุนลงแรงพัฒนาบทเรียนที่มีคุณภาพ ภายใต้ระบบนิเวศเพื่อการเรียนการสอนนี้ ผู้มีวิชาสามารถนำบทเรียนที่สร้างขึ้น มานำเสนอให้ผู้เรียนแข่งขันกันกับผู้มีวิชาอื่น ผู้เรียนมีอิสระที่จะเลือกเรียนจากบทเรียนของอาจารย์คนใด สุดแล้วแต่คุณภาพของบทเรียน ทำให้เกิดการแข่งขัน การแข่งขันส่งเสริมการพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น ถ้าตลาดวิชาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตมีขนาดใหญ่เป็นจำนวนล้าน ๆ คน โอกาสทางตลาดจะผลักดันให้ผู้มีวิชาหันมาสนใจพัฒนาบทเรียนด้วยเงินทุนของตนเอง โดยรัฐไม่ต้องสนับสนุน กลไกการตลาดจะทำให้เกิดบทเรียนและเนื้อหาดี ๆ ขึ้นได้ รัฐบาลมุ่งส่งเสริมเพียงสองเรื่อง คือส่งเสริมให้มีระบบนิเวศเพื่อการเรียนการสอน และส่งเสริมให้เกิดตลาดการเรียนตลอดชีวิตที่มีขนาดใหญ่ ส่วนที่เหลือ ปล่อยให้ขับเคลื่อนด้วยกลไกการตลาดของมันเอง
การพัฒนาทุนมนุษย์จำนวนมากตามกรอบนโยบาย ICT2020 ต้องไม่ลงทุนเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยของศตวรรษที่ 21 เพื่อใช้กับเรียนการสอนตามแนวคิดการถ่ายทอดความรู้แบบเดิมของศตวรรษที่ 20  การพัฒนากระบวนการจัดการการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ ส่งเสริมให้พัฒนากระบวนการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ และเลือกเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสม น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ได้ดีกว่า และคุ้มค่ากว่า เทคโนโลยีมีบทบาทเพียงเป็นแค่ตัวเสริม แต่ตัวเอกที่สำคัญเป็นอาจารย์ผู้สอน ทำหน้าที่ออกแบบและพัฒนากระบวนการเรียนการสอน ตลอดจนกำกับการเรียนการสอนอย่างเอาใจใส่ มาตรการข้อที่  1 การพัฒนาระบบนิเวศเพื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมจะช่วย Scale ได้ คือให้บริการผู้เรียนจำนวนมาก ๆ ได้ ทำให้เกิด Economy of scale สำหรับมาตรการข้อที่ 2 ถ้ามาวิธีสร้างแรงจูงใจให้ผู้มีวิชาเข้ามาร่วมพัฒนาสื่อการเรียน กระบวนการเรียนการสอน และเนื้อหาวิชาที่ทันสมัยและมีคุณภาพ จำนวนมาก ทำให้เกิด Economy of scope ได้ เมื่อรัฐบาลสามารถทำให้มาตรการทั้งสองบรรลุผล จึงจะกล่าวได้ว่านโยบายพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อการแข่งขันด้วยมาตรการ Innovation Driven ได้ประสบผลสัมฤทธิ์แล้ว

การพัฒนา eCommerce ของไทยภายใต้กรอบนโยบายไอซีที ICT2020 ตอนที่ 3

ตอนที่แล้วได้นำเสนอเรื่องการส่งเสริมธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ภายใต้กรอบนโยบายไอซีที ICT2020 และได้กล่าวถึงเป้าหมายของนโยบายว่า ต้องการเห็นธุรกิจที่ทำผ่าน eCommerce ของไทย มีมูลค่าไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของ GDP ใน 5 ปีแรก และไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ในปีที่ 10 โดยให้ความสำคัญว่า คนไทยในภาพรวม ต้องเรียนรู้การนำไอซีทีมาประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาธุรกิจ และสร้างนวัตกรรมด้านการทำธุรกิจได้อย่างมีผลิตภาพ ในตอนนี้ เราจะกล่าวถึงวิธีการที่จะทำให้กรอบนโยบายนี้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้

ก่อนอื่น เราต้องตระหนักว่าไอซีทีกำลังทำให้กระบวนการการค้าการขายโดยรวมเปลี่ยนไป พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยน การแข่งขันเปลี่ยน และที่สำคัญ กิจกรรมต่าง ๆ ภายในห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) มีแนวโน้มจะเปลี่ยนรูปแบบจาก Push เป็น Pull ตามที่ได้นำเสอนในตอนก่อน ๆ กล่าวโดยสรุป ภายใต้อิทธิพลของไอซีที ลูกค้าและคู่ค้าจะเรียกร้องการบริการที่ให้ผลรวดเร็วขึ้น โดยลูกค้าและคู่ค้าจะเพิ่มบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่สร้างคุณค่า (Value co-creation) และให้ความนิยมการบริการด้วยตนเอง (Self service)  ผู้บริโภคต้องการทางเลือกที่หลากหลาย ทั้งทางเลือกด้านราคาและคุณภาพ ผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่จะสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการจากเพื่อน ๆ ในชุมชน จนเกิดความมั่นใจ ก่อนจะตัดสินใจทำรายการ มากกว่ารับฟังจากโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างที่เป็นมาในอดีต และที่สำคัญ ผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อผลลัพธ์ที่พึงได้จากการซื้อ มากกว่าเพียงแค่การถือครองกรรมสิทธิ์ คือให้ความสำคัญต่อ Solution มากกว่า Ownership นั่นเอง เป็นเหตุให้ธุรกิจต้องหันมาให้ความสนใจในตัวผู้บริโภคอย่างจริงจัง ด้วยการพัฒนาข้อเสนอในรูปแบบบริการมากขึ้น ทั้งด้านการสนับสนุนบริการหลังการขาย และการส่งมอบสินค้าที่สร้างความประทับใจให้ลูกค้าได้มากที่สุด
เพื่อบรรลุผลในกลยุทธ์ที่กล่าวข้างต้น ธุรกิจ ไม่คำนึงว่าจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ จำเป็นต้องปรับตัวเองให้ทำธุรกิจเป็นเครือข่ายมากขึ้น ใช้ไอซีทีเพื่อการทำธุรกรรมทุก ๆ ด้านมากขึ้น (More virtual) และปรับปรุงโครงสร้างภายในให้ทำงานอย่างบูรณาการ และคล่องตัว (More horizontal) ธุรกิจต้องเสริมสร้างทักษะด้านการทำงานร่วมกับผู้อื่น และปรับตัวให้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายสร้างคุณค่า (Value network หรือ Value constellation) เพื่อจะได้บริหารทรัพยกรที่มีจำกัด ให้ได้ประโยชน์สูงสุด โดยมุ่งสู่การสร้างความสามารถเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ที่นับวันจะบริหารและจัดการยากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ระบบธุรกิจของไทยต้องให้ความสำคัญต่อไอซีทีอย่างจริงจัง ประกอบด้วยระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีประมวลผลเชิงพกพา (Mobile computing) ระบบประมวลผลในรูปทำงานเป็นชุมชน หรือสังคม (Social computing) และเทคโนโลยีเสมือนที่มาในรูปบริการแบบคลาวด์คอมพิวติ่ง (Cloud computing) ที่ช่วยให้ธุรกิจหลุดพ้นจากเงื่อนไขการลงทุนด้านไอซีที ทั้งด้านจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ และการจ้างผู้ชำนาญการ ธุรกิจไทยต้องมีมาตรการที่จะปรับเพิ่มการทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ในรูปของ eCommerce หรือ eBusiness หรือ Social Business มากขึ้น ในลักษณะต่อไปนี้
  1. ใช้ไอซีทีเพื่อให้ธุรกิจเชื่อมโยงกับโลกภายนอก ทั้งกลุ่มพันธมิตร และกลุ่มลูกค้า เพื่อให้บุคคลภายนอกสามารถรับรู้ว่า เรามีอะไรดีและเป็นประโยชน์ต่อเขา ทั้งด้านสินค้า บริการ และทักษะความรู้ ในทำนองเดียวกัน ธุรกิจจะได้รับรู้ และเข้าถึงทรัพยากร รวมทั้งข้อมูลและองค์ความรู้จากภายนอก ที่จำเป็นต่อการพัฒนาธุรกิจด้วยต้นทุนที่ต่ำได้ ทั้งหมดรวมกันเรียกว่า Accessibility ทั้งขาเข้าและขาออก ด้วยเทคโนโลยีเครือข่ายสังคมทุกวันนี้ กลยุทธ์เชื่อมโยงผ่านเครือข่ายในวงกว้าง เป็นการสร้างการรับรู้ หรือ Visibility มีนัยสำคัญมากต่อการขยายฐานของธุรกิจ การนำสินค้าพื้นบ้านของไทย เช่นผ้าไหมไทยไปปรากฎบน eBay พร้อมด้วยการสนันสนุนด้านข้อมูลความรู้เกี่ยวกับผ้าไหม และกระบวนการผลิตผ้าไหม ทำให้คนทั่วโลกมีโอกาสได้รับรู้ถึงความน่าสนใจของผ้าไหมไทย ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตลาดของสินค้าแต่ละตัว อย่างกว้างขวางด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำมาก ธุรกิจพื้นบ้านขนาดเล็กก็อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ไม่ด้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่
  2. การทำให้ธุรกิจไทยเกิด Accessibility ในวงกว้างได้ จำเป็นต้องมีมาตรการที่จะดึงดูด หรือสร้างความสนใจจากประชาคมทั่วโลก เราต้องสร้างทักษะที่จะใช้ไอซีทีเพื่อการสร้างความดึงดูด หรือ Attraction จากตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศในวงกว้าง วิธีที่ทำได้ผลและประหยัด คือการเข้าร่วมสังคมผ่านเครือข่ายสังคม (Social Networks) แต่ต้องทำแบบ active ไม่ใช่ passive และต้องพยายามทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ให้สังคมได้เห็นคุณค่า การให้จะสามารถสร้างความดึงดูดได้ การให้ มาในรูปของการให้ความรู้ การถ่ายทอดประสบการณ์ การเสอนแนะ การให้สามารถช่วยสร้างโอกาสนอกเหนือความคาดหมายได้ การโฆษณาเป็นวิธีดึงดูดความสนใจแบบ Push ในกรณีนี้ เราตั้งใจผลักความคิดไปยังกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจัดกัดมาก แต่การให้ผ่านเครือข่ายสังคม ไม่ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน คนทุกคนในโลกนี้ มีโอกาสเข้าถึงสิ่งที่เราให้ได้ โดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ เป็นรูปแบบของ Pull ผลที่เกิดจาก Unexpected opportunity ย่อมจะมากกว่า Expected opportunity ผลที่ได้จากโอกาสที่ไม่ได้คาดหวัง ย่อมจะมากกว่าที่จะได้จากโอกาสที่คาดเดาได้
  3. เมื่อเรามีวิธีทำให้คนทั้งโลกรู้จักเรา และรู้ว่าเรามีอะไรดีตามข้อ 1 ด้วยวิธีสร้างสิ่งจูงใจให้เขาเหล่านั้นเข้ามารู้จักเราตามข้อ 2 กลยุทธ์ขั้นต่อไป คือทำอย่างไรจึงจะสามารถทำให้บังเกิดผลได้สูงสุด การทำให้โอกาสเป็นผลได้ จำเป็นต้องอาศัยทรัพยากร ความรู้ และทักษะหลาย ๆ ด้าน ซึ่งเราอาจไม่พร้อม หรือไม่มี การสร้างความพร้อมต้องใช้เวลา เป็นเหตุให้ไม่สามารถสนองความต้องการของตลาดได้อย่างทันการณ์ อย่างลืมว่า ในสังคมยุคใหม่นี้ ลูกค้าจะเลือกซื้อสินค้าและใช้บริการที่รวดเร็วและมีคุณภาพ ความชักช้าและไม่มีคุณภาพไม่ใช่ทางเลือกอย่างแน่นอน การบรรลุผล (Achieve performance) จากนี้ไป ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นที่มีทรัพยากร เป็นปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จ ลำพังคนคนเดียว ทำงานให้เกิดผลได้จำกัดมาก แต่ถ้าทำงานร่วมกับผู้อื่น ผลสัมฤทธิ์ไม่มีขอบเขต การทำงานร่วมกัน และแบ่งผลประโยชน์อย่างยุติธรรม จึงเป็นวิธีที่จะนำเราไปสู่ผลสำฤทธิ์ได้ (Achieve higher performance) ไอซีทีกลายเป็นเวทีที่ยอมรับกันว่า จะช่วยให้การทำงานร่วมกัน (Collaboration) เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

โครงสร้างของเศรษฐกิจไทย เดาว่าคงเป็นไปตาม Pareto Principle หรือกฎ 80-20 กล่าวคือ 80% ของ GDP เกิดจาก 20% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมด ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเป็นถึง 80% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมด ให้ผลเพียงร้อยละ 20 ของ GDP ถ้ารัฐบาลต้องการส่งเสริมให้เกิดผลทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ตามที่กำหนดไว้ในกรอบนโยบาย ICT2020 คงต้องเน้นการสนับสนุนที่กลุ่ม SMEs เพราะเชื่อว่ากลุ่มบริษัทขนาดใหญ่คงช่วยตัวเองได้ และพร้อมที่จะพัฒนาสู่การแข่งขันด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ด้วยตนเอง สำหรับกลุ่ม SMEs ที่ขาดทั้งทักษะ ความรู้ และทรัพยากรอื่น ๆ ต้องได้รับความช่วยเหลือในหลายด้าน มีสามภาคของธุรกิจที่รัฐบาลควรจะเข้ามาส่งเสริมเป็นโครงการนำร่อง ได้แก่ภาคบริการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมอาหาร และ OTOP มาตรการที่ควรส่งเสริม นอกจากการให้ความรู้ และสร้างความชำนาญในการใช้ไอซีทีตามแนวทางที่กล่าวข้างต้น ยังต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที ในรูปเครือข่ายสังคมเพื่อธุรกิจ เพื่อเป็นเวทีของกลุ่มธุรกิจ SMEs ที่จะใช้สำหรับพัฒนาธุรกิจแบบอีคอมเมิร์ซ เพื่อบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในกรอบนโยบาย ICT2020