Tuesday, November 29, 2011

การพัฒนา eCommerce ของไทยภายใต้กรอบนโยบายไอซีที ICT2020 ตอนที่ 2

        ตอนที่แล้วได้พูดเรื่องไอซีทียุคใหม่ ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนรูปแบบของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หลัก ๆ คือ Mobile Computing, Social Media, และ Cloud Computing ประเด็นสำคัญ ไอซีทียุคใหม่ ทำให้คนเราเชื่อมโยงกัน (Connect) มีส่วนร่วม (Participate) และทำงานร่วมกัน (Collaborate) อย่างกว้างขวาง เทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม SMEs ที่มีทรัพยากรจำกัด และถ้าได้นำแนวคิด PULL ของ John Hagel III และคณะ มาประยุกต์ เกิดเป็นรูปแบบใหม่ของ  eCommerce บนพื้นฐานการรวมพลังกันและรวมทรัพยากรในกลุ่ม SMEs  ทำให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืนและมั่นคงได้ ถ้าท่านได้ติดตามเรื่อง Service Science ที่ผมได้นำเสนอครั้งก่อน ๆ ในเวทีนี้ จะเห็นว่า แนวคิดของ PULL และ Service Science ถึงแม้จะไม่เป็นเนื้อเดียวกัน แต่ก็ส่งเสริมกันและกันได้เป็นอย่างดี

        John Hagel III และคณะ เสนอว่า PULL เป็นเรื่องของสมรรถนะที่จะนำทรัพยากร ซึ่งรวมทั้งบุคลากรที่มีทักษะและความรู้ จากภายนอกมาร่วมกันสร้างคุณค่า เป็นเรื่องการดึง (Pull) ทรัพยากรของผู้อื่นมาทำประโยชน์ให้ตัวเอง และเสนอว่า เราสามารถกำหนดมาตรการ PULL เป็นสามระดับ จากระดับพื้นฐาน Access ไปสู่ Attract และสุดท้าย Achieve
  1. ความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากร (Access) หมายถึงบริษัทหนึ่งมีโอกาสเรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการของอีกบริษัทหนึ่ง หรือมีข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์และความสามารถของคนที่อยู่นอกองค์กร บริษัทสามารถเข้าถึง (Access) และติดต่อนำทรัพยากรมาใช้ประโยชน์ได้ ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าบริษัทนอกจากมีเว็บไซท์นำเสนอสินค้าและบริการ ยังเพิ่มการนำเสนอข้อมูลอื่นที่มีประโยชน์ เช่นนำเสนอจุดเด่นจุดแข็ง สมรรถนะและความชำนาญพิเศษขององค์กรและบุคลากร พันธมิตรทางธุรกิจก็สามารถติดต่อเพื่อขอร่วมธุรกรรมด้วย เป็นการขยายโอกาส และเพิ่มรายได้ในลักษณะส่งเสริมซึ่งกันและกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ แทนที่ธุรกิจจะมีสินค้าเพียงหนึ่งอย่าง กลายเป็นเสมือนว่า ตัวเองมีสินค้านับพัน ๆ รายการที่จะเสนอขายให้ลูกค้าได้ โดยตัวเองไม่ต้องมีภาระในการจัดหา และจัดการกับความรู้ที่จำเป็นต่อการบริการลูกค้า เครือข่ายอินเทอร์เน็ต และสื่อสังคมที่ก้าวหน้า สามารถเปลี่ยนรูปแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จากแบบเดิม ที่ต่างคนต่างอยู่ และตั้งหน้าแข่งขันกัน มาเป็นแบบ Collaborative eCommerce  เครือข่ายที่เชื่อมโยงระบบ eCommerce ของธุรกิจแต่ละราย ให้กลายเป็น Value Network ที่ผู้เกี่ยวข้องได้ประโยชน์จากที่ต่างฝ่ายต่างมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรของอีกฝ่ายหนึ่ง
  2.  การดึงดูดใจผู้ที่มีทรัพยากรให้ร่วมทำประโยชน์ (Attract attention) การเข้าถึง (Access) ทรัพยากรจากภายนอกที่กล่าวในข้อ 1 มักจะเริ่มจากที่รู้ว่ากำลังมองหาอะไร เช่นธุรกิจสอนคนดำน้ำ อาจต้องการเชื่อมโยงกับพันธมิตรที่ขายอุปกรณ์ดำน้ำ เพราะในบางโอกาสนักเรียนต้องการหาซื้ออุปกรณ์ดำน้ำด้วย ในลักษณะเช่นนี้ ธุรกิจได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นบ้าง แต่อยู่ในวงจำกัด แต่ถ้าต้องการขยายโอกาสใช้ทรัพยากรจากภายนอกในวงกว้าง เราต้องทำตัวเองให้อยู่ในความสนใจของพันธมิตรจำนวนมาก โอกาสที่พันธมิตรจะเสนอตัวมาหาเรา โดยที่เราไม่ได้ริเริ่ม ทำให้เกิดโอกาสอย่างไม่คาดฝัน John Hagel III และคณะ เรียกโอกาสที่ไม่คาดฝันว่า “Serendipity”  ดังนั้น ธุรกิจจะต้องหามาตรการที่ทำให้ผู้อื่นสนใจเรา หรือ Attract attention นั่นเอง ในยุคนี้ เราจะสร้างความสนใจจากภายนอกได้ไม่ยาก โดยอาศัยเครือข่ายสังคม เช่น Facebook หรือ LinkedIn หรือ Twitter แต่ก่อนอื่นเราต้องสร้างผลงานให้คนอื่นประทับใจก่อน เช่นธุรกิจสอนคนดำน้ำ อาจเข้าสังคม Facebook และให้สังคมรับรู้ว่าเรามีความชำนาญและประสบการณ์อะไร ด้วยการเขียนเรื่องราว ให้ความรู้เกี่ยวกับวิชาดำน้ำ แลกเปลี่ยนความเห็น และเผยแพร่ความรู้อย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถสร้างความสนใจโดยไม่ยาก สิ่งที่ตามมา อาจมีหน่วยงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ติดต่อให้งานสอนมนุษย์กบเป็นจำนวนพัน ๆ คน หรือมีบริษัทที่ผลิตอุปกรณ์ดำน้ำมีชื่อเสียงทั่วโลก เสนอเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ โอกาสทางธุรกิจเช่นนี้ เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของ PULL ระดับที่สอง
  3. การบรรลุผลจากทรัพยากรอย่างไม่มีที่สิ้นสุด (Achieve) ความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่ทั่วไป และเกิดขึ้นทุกวัน คนมีความรู้มีอยู่ทั่วโลก ประเด็นอยู่ที่ว่า เราจะหาโอกาสได้ความรู้จากคนเหล่านี้มาสร้างประโยชน์ให้แก่ธุรกิจได้อย่างไร วิธีที่พบว่าได้ผล คือหาโอกาสเข้ามีส่วนร่วม และทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นให้มาก ๆ ถ้าเราสามารถเข้าสังคมกับกลุ่มคนที่มีความรู้ และให้เขาสนใจเราตามข้อ 2 ได้ ก็เป็นเรื่องไม่ยากที่จะขยายผลไปสู่การ PULL ระดับสาม ในระดับนี้ นอกจากให้คนสนใจเรา เรายังต้องหาโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วม (Participate) และทำงานร่วมกับคนอื่น (Collaborate) ทั้งด้วยวิธีผ่าน Social Network หรือเข้าไปร่วมงานโดยตัวบุคคล เช่นถ้าอยู่ในสายเทคโนโลยี อาจหาโอกาสไปร่วมกับชุมชนที่ Silicon Valley หรือถ้าเป็นสายเฟชั่น ก็อาจไปร่วมชุมชนที่นครนิวยอร์ค ผลที่คาดหวังได้ คือให้ตัวเรา หรือองค์กรมีโอกาสเรียนรู้ และดูดซับประสบการณ์จากคนอื่น เพื่อพัฒนาทักษะของเราอย่างต่อเนื่อง หรือ Achieve higher performance เป็นการ PULL ทรัพยากรจากคนอื่นเพื่อบรรลุศักยภาพได้อย่างต่อเนื่องนั่นเอง
เทคโนโลยีไอซีทียุคใหม่ แตกต่างจากยุคก่อนมากตามที่รู้กัน การกำหนดแนวทางและรูปแบบการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีจึงต้องมีความเหมาะสม ตามที่ Carlota Perez ได้แนะนำไว้ในเรื่อง The Three Phases of Changes พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ยุคแรก เป็นกระบวนการทำธุรกรรมออนไลน์ที่เหมาะกับเทคโนโลยียุคก่อน แต่คงไม่เหมาะที่เราจะยังทำธุรกรรมแบบเดิมกับเทคโนโลยียุคใหม่ แนวคิดของ PULL ที่เน้นเรื่อง Connect, Participate, และ Collaborate จึงเป็นหลักพื้นฐานของการพัฒนา eCommerce ยุคใหม่ ที่อาจเรียกว่า Social eCommerce หรือ Collaborative Commerce หรือชื่ออื่น ๆ แต่ที่สำคัญ เป็นการทำธุรกิจร่วมกันโดยอาศัย Value Network ที่เชื่อมโยงระบบบริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของพันธมิตรนับพัน ๆ ราย หรือหมื่น ๆ รายเข้าด้วยกัน เพื่อร่วมกันสร้างคุณค่า ตามที่ Richard Normann และ Rafael Ramirez เรียกว่า Value Constellation

ในตอนที่สาม ผมจะมานำเสนอว่า ภายใต้กรอบนโยบายไอซีที ICT2020 ที่ได้เขียนเป็นเป้าหมายว่า ต้องการส่งเสริมให้ธุรกิจไทยสามารถใช้ไอซีทีเพื่อทำธุรกิจผ่าน eCommerce ได้มูลค่าไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของ GDP ในปีที่ 5 ของแผน และไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ในปีที่ 10 นั้น ว่าจะต้องมีการเตรียมตัวกันอย่างไร

Monday, November 28, 2011

การพัฒนา eCommerce ของไทยภายใต้กรอบนโยบายไอซีที ICT2020 ตอนที่ 1

       จากนี้ไป การทำธุรกิจคงมีลักษณะเป็นออนไลน์ไม่รูปใดก็รูปหนึ่งมากขึ้น จะเรียกว่า Social eCommerce หรือ Pre-Commerce หรืออะไรก็แล้วแต่ ธุรกิจทุกชนิดจะเชื่อมโยงกับตลาดและผู้บริโภคมากขึ้นและกว้างขวางขึ้น อาศัยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของไอซีที ความอยู่รอดของธุรกิจจากนี้ไป ไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับขนาดของธุรกิจ หรือปริมาณของทรัพยากรที่มี แต่จะขึ้นอยู่กับความสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ และแสวงโอกาสได้อย่างชาญฉลาด จำได้ว่า Carlota Perez อาจารย์สอนเทคโนโลยีและเศรษฐศาสตร์แถว Venezuela เคยบอกว่า ในแต่ละยุคสมัย เทคโนโลยีที่มนุษย์คิดค้นขึ้น จะเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านสามช่วง (Three Phases of Changes) ช่วงแรก เป็นการคิดค้นและสร้างนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่นคิดค้นและสร้างคอมพิวเตอร์ จากนั้น จะผ่านเข้าสู่ช่วงที่สอง เป็นช่วงที่มีผู้คิดลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้เทคโนโลยี เช่นให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ต ทำให้ใช้คอมพิวเตอร์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพได้ ถึงช่วงที่สาม พวกเรา ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ จะคิดหาทางนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย เช่น นำเทคโนโลยีมาทำธุรกรรม  eCommerce ซึ่งก็เป็นสิ่งที่พวกเราได้สัมผัสกันมากว่าสิบห้าปีแล้ว

       พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ยุคแรก เป็นการทำธุรกิจออนไลน์บนพื้นฐานของแนวคิด หรือ Mindset แบบเดิม ที่ John Hagel III, Brown และ Davison เขียนในเรื่อง The Power of PULL ว่า เป็นการทำธุรกิจแบบ PUSH ธุรกิจเชื่อว่าเขารู้ความต้องการของผู้บริโภคดี จึงได้พยากรณ์ความต้องการล่วงหน้า วางแผนการผลิต แล้วทำการผลิตจำนวนมาก ๆ เพื่อให้ต้นทุนต่ำ (Economies of scales) จากนั้น จะวางแผนการตลาด เพื่อ “Push” สินค้าที่ผลิตได้ให้ผู้บริโภค มองผู้บริโภคเป็นลูกค้าแบบ Passive คือไม่มีบทบาทใด ๆ ในกระบวนการห่วงโซ่อุปทาน ผู้ผลิตเพียงแค่ทำโฆษณาชวนเชื่อ ลูกค้าก็จะซื้อ ผู้ผลิตจะคิดแทนผู้บริโภคทุกเรื่อง นอกจากนี้ ผู้ผลิตยังเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทั้งหมด ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต และการจัดจำหน่าย รวมทั้งการบริการหลังการขาย โดยกำหนดบทบาทผู้ที่เข้าร่วมในห่วงโซ่คุณค่าเบ็ดเสร็จ ด้วยแนวคิดนี้ ธุรกิจจะทำกิจกรรมภายในวงจำกัดมาก ถึงแม้จะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่เพียงใด ทรัพยากรที่เกี่ยวข้องก็ยังอยู่ในวงจำกัด John Hagel III และคณะบอกว่า ด้วยอิทธิพลของไอซีที ธุรกิจจะเริ่มเข้าสู่ยุค PULL ซึ่งตรงกันข้ามกับแนวคิดเดิมเกือบทุกเรื่อง เริ่มด้วยผู้บริโภคกลายเป็นลูกค้า Active ที่จะมีส่วนร่วมเกือบทุกเรื่องภายในห่วงโซ่คุณค่า ผู้บริโภคจะเป็นผู้กำหนดความต้องการที่แท้จริง ด้วยข้อมูลและความรู้ที่รับฟังจากเพื่อน ๆ ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถครอบงำความคิดของผู้บริโภคได้อีกต่อไป เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคที่กำลังเปลี่ยนไป เราต้องกลับมาวิเคราะห์แนวคิดการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี (The Three Phases of Changes) ของ Carlota Perez ในยุคปัจจุบันดังนี้

ในช่วงที่ 1 นวัตกรรมใหม่ของเทคโนโลยี ประกอบด้วย Mobile Computing, Social Media และ Cloud Computing ซึ่งถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมของเทคโนโลยีที่มีอิทธิพลต่อการทำธุรกิจจากนี้ไป ช่วงที่ 2 เป็นช่วงที่เริ่มมีผู้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตทั้งระบบมีสายและไร้สาย  และการบริการแบบ Cloud computing และในช่วงที่สาม หรือ Phase 3 นั้น เรากำลังหาหนทางใช้เทคโนโลยีไอซีทีใหม่ ๆ ที่กล่าวข้างต้นให้ได้ประสิทธิผลสูงสุด เทคโนโลยีไอซีทียุคใหม่ส่งเสริมให้คนในสังคมเชื่อมโยงกัน (Connect) มีส่วนร่วม (Participate) และ ทำงานร่วมกัน (Collaborate) ลักษณะเช่นนี้ มีผลต่อการพัฒนาการธุรกิจออนไลน์ คือการทำให้ eCommerce แนวใหม่ที่อาศัยแนวคิดของ PULL

John Hagel III และคณะ ให้ตัวอย่างความแตกต่างระหว่าง PUSH กับ PULL ดังนี้
  1. PUSH มองว่าทรัพยากรของธุรกิจมีจำกัด จึงต้องมีมาตรการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิผล ถ้าต้องการมีทรัพยากรมาก เราต้องทำให้ขนาดขององค์กรโตขึ้น บริษัทยิ่งใหญ่ ยิ่งจะมีทรัพยากรมาก ยิ่งทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน
  2.  PULL มองว่าทรัพยากรมีอยู่รอบด้าน ไม่จำกัด จึงต้องหาทางบริหารจัดการเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรจากภายนอก เพื่อสร้างคุณค่าให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น องค์กรจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ไม่ได้เป็นอุปสรรค์ของการแข่งขัน แต่เราต้องสร้างสมรรถนะเพื่อการทำงานร่วมกัน และใช้ทรัพยากรจากภายนอกให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  3. ตัวอย่างของ PUSH อาจดูได้จากการให้บริการของห้องสมุด ห้องสมุดจะคิดแทนเราในการจัดหาหนังสือ เป็นการ PUSH หนังสือที่เขาคิดว่าเราต้องการ ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะสามารถตอบโจทย์ของผู้รับบริการได้เสมอ ในทางตรงกันข้าม การบริการ Google Search เป็นตัวอย่างบริการแบบ PULL เพราะมีความรู้ไม่จำกัดใน World Wide Web เพียงแค่สืบค้นจาก Google เราก็ได้บทความ หนังสือและความรู้ที่ต้องการ เป็นการ PULL ทรัพยากรที่มีอยู่ทั่วไป ที่มีไม่จำกัด

PULL จึงหมายถึงความสามารถที่จะดึงทรัพยากรที่ต้องการจากที่ต่าง ๆ เพื่อรองรับและสนับสนุนการทำกิจกรรม ตามสถานการณ์และโอกาส John Hagel III และคณะ กล่าวว่า การ PULL ทรัพยากรที่มีหลากหลายจากรอบด้านนั้น ทำได้สามระดับ จากระดับพื้นฐานที่สุดคือ ความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากร (Access) ระดับที่สอง เป็นการดึงดูดใจผู้ที่มีทรัพยากรให้ร่วมทำประโยชน์ (Attract) และระดับที่สาม เป็นการบรรลุผลจากทรัพยากรอย่างไม่มีที่สิ้นสุด (Achieve) ธุรกิจยุคใหม่ ภายใต้เทคโนโลยีไอซีที สามารถพัฒนาสมรรถนะในการ PULL จากระดับที่หนึ่งไปจนถึงระดับที่สาม อย่างเป็นขั้นเป็นตอน เป็นแนวคิดที่นำเอาทรัพยากรจากภายนอกมาเสริมให้เกิดคุณค่า แบบร่วมมือกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ใช้ทรัพยากรของกันและกัน เพื่อร่วมเสริมความแข็งแกร่งและความมั่นคงของธุรกิจ

OTOP เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก แต่มีความโด่ดเด่นเฉพาะตัว ลำพังตัวเอง ด้วยข้อจำกัดของทรัพยากรทุก ๆ ด้าน ไม่อาจแข่งขันกับใครได้ นอกจากต้องพึ่งพ่อค้าคนกลาง แต่ด้วยแนวคิดของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบ PULL น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจขนาดเล็กได้ eCommerce แบบที่ร่วมมือกัน สนับสนุนซึ่งกันและกัน และนำทรัพยากรที่มีจำกัดของตัวเองมาเสริมกับทรัพยากรที่จำกัดของพันธมิตร เมื่อรวมกันมาก ๆ ตามแนวคิดแบบ PULL จะสามารถสร้างธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ได้ ซึ่งน่าจะเป็นมาตรการที่ดี รองรับยุทธศาสตร์ด้านสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่ SMEs ด้วยไอซีที ภายใต้กรอบนโยบายไอซีที ICT2020 ของกระทรวงไอซีที

          เราจะกลับมาพูดถึงแนวคิด PULL ของ John Hagel III และคณะ และวิเคราะห์ว่า จะสามารถเปลี่ยนโฉมของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ให้เป็นรูปแบบใหม่ได้หรือไม่อย่างไรในตอนต่อไปครับ

Tuesday, November 1, 2011

การร่างแผนแม่บทไอซีทีฉบับใหม่ ภายใต้กรอบนโยบายไอซีที 2020 (ตอนที่ 6 พัฒนาบุคลากกรซอฟต์แวร์)

เมื่อตอนที่ 5 ได้เขียนถึง การใช้ไอซีทีในยุคจากนี้ไป นอกจากจะคำนึงการสร้างเสริมประสิทธิภาพภายในองค์กรแล้ว ยังต้องสามารถให้บริการแก่คนกลุ่มใหญ่ที่อยู่ขอบนอกของธุรกิจ (Edge of the Business) ซึ่งหมายถึงกลุ่มลูกค้า พันธมิตร พนักงานขององค์กร และชุมชนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต จึงจำเป็นที่องค์กรต้องเตรียมโครงการ Retrain พนักงานให้มีความรู้ใหม่ ๆ เพื่อช่วยนำองค์กรสู่การแข่งขันในศตวรรษใหม่นี้ได้ ด้วยแนวคิดการทำธุรกรรมใหม่ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนก่อน ๆ มีเพื่อน ๆ ถามว่า ลักษณะการใช้ไอซีทีที่กล่าว นักพัฒนาซอฟต์แวร์จะต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นหรือไม่ แนวทางการออกแบบระบบซอฟต์แวร์ และแนวคิดการออกแบบซอฟต์แวร์จะเปลี่ยนแปลงมากมายหรือไม่อย่างไร จึงขอถือโอกาสนี้ เขียนเรื่องที่เป็นเทคโนโลยีซอฟต์แวร์และกระบวนการทางซอฟต์แวร์ ซึ่งเกี่ยวโยงกับแผนแม่บทไอซีทีฉบับใหม่ของกระทรวงไอซีที ว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาทุนมนุษย์ยุคใหม่

ระบบซอฟต์แวร์ที่เน้นการใช้ไอซีทีเพื่อสร้างประสิทธิภาพการทำงานภายในองค์กร จัดเป็นกลุ่มที่เรียกว่าระบบซอฟต์แวร์องค์กร (Enterprise software) เช่นระบบบริหารทรัพยากรองค์กร (Enterprise Resource Planning, ERP) รวมทั้งแต่ งานบริหารการผลิต บริหารการตลาด การขาย ระบบทำบัญชี ฯลฯ ระบบงานเหล่านี้เน้นการประมวลผลข้อมูลของกลุ่มรายการเกี่ยวกับการซื้อ การขาย การชำระเงิน และการรับเงิน ข้อมูลของธุรกิจจึงเป็นผลลัพธ์สำคัญที่นำไปสู่การประมวลผลด้านบัญชีบริหาร (Managerial Accounting) เพื่อสนับสนุนการบริหาร และการควบคุมธุรกิจในภาพรวม ระบบซอฟต์แวร์เหล่านี้ถูกสร้างขึ้นภายใต้เงื่อนไขและกระบวนการทำงาน และกฎระเบียบขององค์กร ที่ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย แต่มีความสลับซับซ้อนมาก นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงการบูรณาการระหว่างงานต่างชนิด และต่างหน่วยงาน เพื่อให้การปฎิบัติธุรกิจขององค์กรภายในห่วงโซ่อุปทานโดยรวมมีความราบรื่น และให้การควบคุมและการบริหารองค์กรมีเอกภาพ ในระยะหลัง งานลักษณะนี้ นิยมใช้เทคโนโลยีสถาปัตยกรรมเชิงบริการ (Service Oriented Architecture, SOA) เพื่อความประหยัด และความคล่องตัวต่อการปรับเปลี่ยนระบบงานเมื่อจำเป็น การเชื่อมโยงระบบซอฟต์แวร์เพื่อทำงานแบบบูรณาการนี้ อาศัยเทคนิคเรียกว่า Vertical Integration คือการเชื่อมโยงในระดับระบบงาน หรือเชื่อมโยงระหว่างชิ้นส่วนซอฟต์แวร์ของระบบงาน นักพัฒนาซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่ จะคุ้นเคยกับเทคนิคตามที่กล่าว
เมื่อธุรกิจเปลี่ยนมาเน้นบริการลูกค้ามากขึ้น ให้ความสำคัญกับลูกค้า และตัวบุคคลมากขึ้น การพัฒนาระบบซอฟต์แวร์เพื่อปฎิสัมพันธ์กับตัวบุคคล เพื่อให้ลูกค้าและพนักงานมีส่วนร่วมในการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้น เหล่านี้ต้องเน้นความสามารถบริการลูกค้าอย่างประทับใจ แต่การบริการลูกค้า และการปฎิสัมพันธ์กับคนนั้น มีความไม่แน่นอนสูง และเป็นกระบวนการที่ไม่คงที่ กล่าวคือ คนสองคนทำงานเรื่องเดียวกัน อาจใช้วิธีที่ต่างกันได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ เทคนิคที่ใช้สร้างระบบซอฟต์แวร์ โดยเฉพาะวิธีบูรณาการระบบบริการที่ต่างกันนั้น ย่อมไม่เหมาะที่จะใช้เทคนิคเดียวกับระบบซอฟต์แวร์องค์กร (Enterprise software) ที่ได้กล่าวมาแล้ว  แทนที่จะใช้เทคนิคบูรณาการแบบ Vertical Integration ที่มองระบบซอฟต์แวร์เป็น Stacks เราจะใช้เทคนิคการบูรณาในลักษณะเป็น Ecosystem (ท่านที่ไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่าง Stacks และ Ecosystem ขอแนะนำให้อ่านบทความของ JP Rangaswami)

แนวคิดการสร้างซอฟต์แวร์แบบองค์กร (Enterprise software) กับซอฟต์แวร์สำหรับปัจเจกบุคคลระดับรากหญ้า หรือขอบนอกของธุรกิจ (Edge of the Business) แตกต่างกันมาก แทนที่จะเป็น SOA เราจะใช้ WOA แทนที่จะเป็น SOAP based Web Service เราจะใช้ RESTful Web Service แทนที่จะสร้างระบบซอฟต์แวร์สมบูรณ์แบบที่มีคุณภาพสูงและสลับซับซ้อน เราจะสร้างซอฟต์แวร์ที่พอทำงานได้แบบเรียบง่าย (Good enough) และเป็น Situational application แทนที่จะมี Interface ที่ดูสวยงามและครบถ้วนสมบูรณ์บนจอภาพขนาดใหญ่ เราจะสร้าง Interface ที่เรียบง่าย และทำงานผ่านจอภาพของสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตพีซี ที่เน้นการใช้ง่ายและสะดวกเป็นหลักใหญ่ แทนที่จะเป็นระบบที่ติดต่อสื่อสารกับระบบ Back office ผ่านระบบ Firewall ที่เน้นความปลอดภัยเป็นหลัก เราจะออกแบบให้ติดต่อสื่อสารผ่านระบบ Wireless Internet เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว จึงเห็นได้ว่า ซอฟต์แวร์ทั้งสองประเภท คือระบบซอฟต์แวร์ระดับองค์กร กับระบบซอฟต์แวร์สำหรับ Edge มีลักษณะและคุณสมบัติแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จึงจำเป็นที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์จะต้องเรียนรู้วิชาใหม่ ๆ รวมตั้งแต่แนวคิดการออกแบบระบบซอฟต์แวร์ การใช้เครื่องมือพัฒนาซอฟต์แวร์ การเลือกใช้ protocol เพื่อการเชื่อมโยง และเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

นี่เป็นเหตุผลที่ผมได้กล่าวตั้งแต่ตอนที่ 1 ว่า ก่อนที่จะกำหนดมาตรการเพื่อการพัฒนาทุนมนุษย์ภายใต้กรอบนโยบายไอซีที ICT2020 เราต้องเข้าใจก่อนมา แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงภายใต้อิทธิพลจากไอซีที ที่กระทบต่อการทำธุรกิจยุคใหม่นั้น เป็นลักษณะใด ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่ยอมรับทิศทางการเปลี่ยนแปลงตามลักษณะที่กล่าวข้างต้น สำหรับท่านที่เห็นด้วยกับแนวคิดใหม่ของการทำธุรกิจนั้น จะเห็นว่าความต้องการใช้ซอฟต์แวร์สำหรับ Edge มีมหาศาลมาก เพราะเราไม่ได้สร้างซอฟต์แวร์สำหรับองค์กรเป็นร้อย หรือพัน หรือหมื่นราย แต่เรากำลังสร้างซอฟต์แวร์สำหรับคนเป็นพัน ๆ ล้านคน ขอแนะนำให้ท่านอ่านบทความของ Michael Fauscetts เรื่อง The Next Generation Enterprise Platform  เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติม โดยสรุป เทคโนโลยีกลุ่ม SOA กับกลุ่มมาตรฐาน Web Service ที่สลับซับซ้อน แต่มีความสมบูรณ์แบบมาก เมื่อใช้ร่วมกับเทคนิคบูรณาการแบบ Vertical Integration  เหมาะสำหรับงานระดับองค์กร ที่เป็นการประมวลผลเชิงรายการ ภายใต้กระบวนการและกฏระเบียบที่ค่อนข้างอยู่ตัว มีการเปลี่ยนแปลงไม่บ่อยมาก แต่สำหรับซอฟต์แวร์สำหรับใช้ระดับบุคคล ที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อนตรงไปตรงมา เน้นการเชื่อมโยงและทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย การเลือกใช้เทคโนโลยีในกลุ่ม Web Oriented Architecture (WOA) ซึ่งรวมซอฟต์แวร์ในกลุ่ม Web 2.0, RESTful Web Service, JSON ฯลฯ จะเหมาะสมกว่า

ผมเพิ่งโพสเรื่อง “ไอซีทีกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำลด” เมื่อวันก่อน การเร่งพัฒนาซอฟต์แวร์กลุ่ม Edge Computing ซึ่งอาศัย Open Source Software เป็นส่วนใหญ่ มีนัยสำคัญช่วยสนับสนุนการพัฒนาผลิตภาพของภาพเศรษฐกิจ ซึ่งน่าจะเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยฟื้นฟูธุรกิจหลังน้ำลดแล้วได้

ไอซีทีกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำลด

อุทกภัยที่กำลังเกิดกับประเทศไทยครั้งนี้ ร้ายแรงที่สุดเท่าที่พวกเราจำความได้ คงต้องใช้เวลานานก่อนที่จะฟื้นฟูได้ในทุก ๆ ด้าน และต้องทำกันอย่างเร่งด่วน หลายคนเชื่อว่ารัฐบาลคงจะจัดอันดับความสำคัญ เยี่ยวยาแก่ผู้ประกอบการรายใหญ่ก่อน โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่เผชิญกับภัยพิบัติ รวมทั้งดูแลนักลงทุนต่างชาติ เพื่อนำความมั่นใจการลงทุนกลับมา อย่างน้อยก็เป็นมาตรการลดความเสี่ยงที่ธุรกิจต่างชาติจะย้ายฐานไปประเทศอื่น

ที่น่าห่วง คือกลุ่มธุรกิจ SMEs เพราะเกรงว่ารัฐจะเข้าดูแลไม่ทั่วถึง และทันการณ์ จนถึงบัดนี้ ยังไม่มีรายงานว่า ความเสียหายในกลุ่ม SMEs มีจำนวนมากน้อยเพียงใด ที่กระจัดกระจายภายในเขตอุทกภัยตามจังหวัดต่าง ๆ ยากที่รัฐจะสามารถเข้าไปทำหน้าที่เยี่ยวยาอย่างทั่วถึงได้ อีกประการหนึ่ง การพัฒนาผลิตภาพของชาติก็คงต้องสดุดด้วย และส่งผลกระทบในทางลบต่อประสิทธิผลของประเทศโดยรวมในระยะปานกลาง ที่เห็นแน่ชัด คือ เยาวชนในระดับอาชีวะและอุดมศึกษาที่จะเป็นเรี่ยวแรงสำคัญของขาติในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า จำนวนหนึ่งจะขาดเงินทุนสนับสนุนการศึกษาแบบฉับพลัน เนื่องจากรายได้ประจำของทั้งตัวเองและครอบครัวได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้ จึงหวังว่ารัฐบาลจะเร่งสร้างมาตรการให้เงินกู้เพื่อการศึกษาพิเศษแก่กลุ่มเยาวชนที่กล่าว ก่อนที่ความเสียหายจะบานปลายจากเป็นปัญหาระยะสั้นไปเป็นปัญหาระยะยาว

ในช่วงของการฟื้นฟู ซึ่งไม่มีรู้จะต้องใช้เวลานานเพียงใด เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ถูกมองว่ามีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะการช่วยแก้ปัญหาด้านผลิตภาพให้แก่กลุ่มธุรกิจ SMEs ผมขอถือโอกาสนี้เสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในภาครัฐ พิจารณากลยุทธ์สำหรับการฟื้นฟูระยะปานกลางที่จะเห็นผลในระยะ 2-3 ปี เพราะเชื่อว่ารัฐบาลคงมีแผนระยะสั้น ที่จะช่วยแก้ไขสถานการณ์โดยเร่งด่วน กลยุทธ์ที่จะนำเสนอนี้มีหกมาตรการภายใต้สองกลยุทธ์ ดังนี้

กลยุทธ์ที่ 1 : ส่งเสริมให้มีระบบ Supply Chain ที่ทันสมัย เนื่องจากห่วงโซ่อุปทาน เมื่อทำถูกวิธี จะช่วยเร่งเพิ่มผลิตภาพ และลดค่าใช้จ่ายในส่วนของสูญเสียจากการปฎิบัติที่มองไม่เห็น เป็นการช่วย SMEs ให้สามารถบริหารทรัพยการอันจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  1.  มาตรการที่ 1 ให้ผู้ชำนาญจัดทำระบบ Supply Chain Management สมัยใหม่ที่อาศัย ICT ที่    เหมาะสมกับธุรกิจประเภทต่าง ๆ เป็นการออกแบบกระบวนการทำธุรกรรมที่มีประสิทธิภาพ
  2. มาตรการที่ 2 สนับสนุนให้มีระบบ Supply Chain Management ที่ใช้ ICT ประกอบด้วยระบบซอฟต์แวร์ที่จำเป็นเพื่อบริหารงานหลัก ๆ ของ SMEs เช่น Customer Relationship Management, Customer Service Management, Order Fulfillment, Manufacturing flow management, ฯลฯ จัดให้บริการระบบซอฟต์แวร์เหล่านี้ในรูปแบบบริการผ่าน Cloud Computing เพื่อให้ SMEs ไม่ต้องลงทุนโดยไม่จำเป็น
  3. มาตรการที่ 3 รัฐบาลจะใช้ข้อมูลจากการใช้ระบบห่วงโซ่อุปทาน พิจารณาให้ความช่วยเหลืออย่างตรงประเด่น ข้อมูลชุดนี้จะช่วยบ่งบอกถึงความขาดแคลนทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการฟื้นฟูธุรกิจโดยเร็ว เช่น วัตถุดิบ เครื่องมือ ฐานข้อมูล องค์ความรู้ และเงินทุนหมุนเวียน
กลยุทธ์ที่ 2 การฟื้นฟูด้านผลิตภาพของ SMEs ประกอบด้วยมาตรการ
  1. มาตรการที่ 1 ให้มีระบบเพิ่มความรู้และฝึกทักษะที่เหมาะกับยุคสมัย ให้แก่พนักงานของธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะกลุ่มวิชาบริหารห่วงโซ่อุปทาน และกลุ่มวิชาไอซีที ด้านใช้เทคโนโลยีเว็บและสื่อสังคมเพื่อพัฒนาธุรกิจ มาตรการนี้ ต้องอาศัยระบบการเรียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และต้องมีนักวิชาการร่วมทำบทเรียนและออกแบบกระบวนการเรียนการสอนสมัยใหม่ และมีคุณภาพ ที่เน้นผลสัมฤทธิ์ ต้องสามารถบริการการเรียนการสอนแก่คนจำนวนมากเป็นแสน ๆ คนในเวลาอันสั้น ด้วยบทเรียนที่หลากหลาย มาตรการนี้ จำเป็นต้องออกแบบระบบการเรียนการสอน รวมทั้งออกแบบวิธีที่จะได้มาซึ่งองค์ความรู้ด้วยแนวคิดใหม่ ๆ ที่เหมาะสม
  2. มาตรการที่ 2 รัฐบาลต้องเร่งโครงการให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต ทั้งระบบสาย และไร้สาย ตามนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อจะได้มีโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมรองรับมาตรการอื่น ๆ ตามกลยุทธ์เร่งด่วนดังกล่าว
  3. มาตรการที่ 3 รัฐบาลต้องส่งเสริมให้มีการพัฒนา Open Source Software ในรูป Business application ที่ครอบคลุมงานต่าง ๆ ของธุรกิจ SMEs เพื่อประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย ที่จะให้ธุรกิจได้มาซึ่งระบบซอฟต์แวร์ที่จำเป็นต่อการฟื้นฟูธุรกิจของตนเอง

ผมทำข้อเสนอนี้ในลักษณะโยนหินถามทาง คือต้องการที่จะจุดประกายให้ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ได้ช่วยกันระดมสมองว่า การร่วมช่วยแก้ปัญหาฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของไทยครานี้ Realistically ควรจะเป็นรูปแบบใดจึงจะเหมาะสม และได้ผลรวดเร็ว เพราะเรากำลังทำแข่งกันเวลา ต้องยอมรับว่า อุทกภัยงวดนี้ สร้างความเสียหายให้กับคนไทยมากมายเหลือคณานับ พวกเราในภาคไอซีทีต้องรีบช่วยกันคิดและทำ หลายท่านคงคิดแบบเดียวกัน ว่าไอซีทีน่าจะมีบทบาทที่จะช่วยฟื้นฟูประเทศครานี้ แต่จะทำอย่างไร