Wednesday, June 22, 2011

ทำไมรัฐบาลคณะใหม่ต้องมีนโยบายไอซีทีทั้งระยะสั้นและยาว

หลังจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องนโยบายไอซีทีกับตัวแทนพรรคการเมืองใหญ่สองพรรค จัดโดยสมาคมนักข่าว ฯ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา หนังสือหลายฉบับได้ตีพิมพ์ประเด็นเกี่ยวกับที่ผมเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่มีนโยบายไอซีที 2 ชุด คือชุดสั้น และชุดยาว แต่ไม่ได้เสนอเหตุผลว่าที่มาที่ไป ว่าทำไมต้องมีนโยบายสองชุด เลยถือโอกาสเรียนชี้แจงในที่นี้ ท่านที่อยู่ในแวดวงของเทคโนโลยีที่เห็นด้วย จะได้ช่วยกันสนับสนุนผลักดันให้เกิดผลได้ในที่สุด
ข้อเสนอของผมตั้งอยู่บนพื้นฐานของกรอบการประเมิน Global Competitiveness ของ World Economic Forum ซึ่งแบ่งความสามารถการแข่งขันของประเทศออกเป็น 3 ระดับ คือ
  1. Factor-driven economies หมายถึงศักยภาพของประเทศขั้นพื้นฐาน เช่นมีกฎหมาย มีระบบงบประมาณใช้จ่ายของประเทศ มีโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม มีระบบการศึกษา และการบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ฯลฯ
  2. Efficiency-driven economies หมายถึงศักยภาพด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษา มีระบบแรงงานที่มีประสิทธิภาพ มีระบบการตลาดที่มีประสิทธิภาพ มีตลาดการเงินที่น่าเชื่อถือ มีสมรรถนะด้านเทคโนโลยี ฯลฯ
  3. Innovation-driven หมายถึงศักยภาพด้านการสร้างนวัตกรรม และมีระบบธุรกิจที่สับซ้อน
ในปี 2010-2011 ประเทศไทยถูกจัดให้มีศักยภาพการแข่งขันระดับ 2 คือระดับ Efficiency-driven ซึ่งหมายความถึงว่า ไทยยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่สร้างเศรษฐกิจจากแรงงานราคาถูก ส่งเสริมให้ต่างชาติลงทุนด้านอุตสาหกรรมเพื่อใช้แรงงานของตนเอง และอยู่ในระหว่างที่จะพัฒนาเข้าสู่ขั้นที่ 3 แต่ยังไปไม่ถึง ที่สำคัญคือ ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่พึ่งเทคโนโลยีของต่างประเทศในการสร้างเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดีของประชาชน แต่ยังไม่สามารถสร้างสรรค์เทคโนโลยีของตนเอง ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ไม่สามารถผลักดันประเทศไทยพัฒนาไปสู่ระดับสูง คือระดับ Innovation-driven อย่างประเทศสิงคโปร์ ตามความเห็นของ WEF ประเทศที่อยู่ในระดับ Efficiency-driven นานเกินไป จะเริ่มประสบปัญหาด้านผลิตภาพ (Productivity) เพราะในด้านหนึ่ง จะเริ่มแข่งขันด้านค่าแรงที่มีคุณภาพกับประเทศเศรษฐกิจใหม่ไม่ได้ แต่อีกด้านหนึ่ง เรายังไม่สามารถสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากเทคโนโลยีระดับสูงของตัวเอง โดยลำพังอาศัยเทคโนโลยีของประเทศอื่น เราจะไม่มีโอกาสพัฒนาศักยภาพด้านการแข่งขันที่เกินกว่าที่เราเป็นอยู่ในขณะนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลชุดใหม่จะต้องหาทางให้ประเทศไทยก้าวพันออกจากระดับ Efficiency-driven สู่ระดับ Innovation-driven ให้ได้ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรม และสร้างรูปแบบธุรกิจที่มีความสับซ้อนมากขึ้น

การพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวออกจากระดับ Efficiency-driven สู่ Innovation-driven ต้องมีนโนบายไอซีทีระยะยาว ด้วยเหตุผลหลักสองประการคือ
  1. ไอซีทีเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของการพัฒนาทุกสิ่งอย่าง เป็นเทคโนโลยีที่จะเสริมสร้างพลัง (Empower) ให้แก่ทุก ๆ ส่วนของระบบเศรษฐกิจ การมีนโยบายที่ดี ไม่ใช่เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไอซีที แต่เป็นการขับเคลื่อนทุกระบบของประเทศ คือระบบเศรษฐกิจ ภาคสังคม การศึกษา การเมือง และธุรกิจ จึงจำเป็นที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องวางรากฐานระยะปานกลางและระยาว 4-8 ปี เพื่อใช้เป็นกรอบของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่เหมาะกับการทำธุรกิจในศตวรรษที่ 21 ภายใต้เทคโนโลยีของศตวรรษที่ 21 (อ่านบทความเรื่อง    ”กระแสการเปลี่ยนแปลงสู่การทำธุรกิจในศตวรรษที่ 21”)
  2. การพัฒนาประเทศให้เข้าสู่สถานภาพเป็น Innovation-driven ต้องใช้เวลา เพราะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงในทุกภาคส่วน ซึ่งทำไม่ได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ
ในระหว่างที่ประเทศไทยยังอยู่ในระหว่างเตรียมตัวผลักดันเปลี่ยนสถานภาพของตัวเองนั้น เรายังต้องดำเนินระบบเศรษฐกิจของเราในสภาพปัจจุบัน คือขยายฐานภาคการผลิตให้แข่งขันได้ และทำทุกวิธีทางที่จะเพิ่มผลิตภาพในด้านแรงงานเพื่อแข่งขันได้ ในสภาวการณ์ที่ประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วกำลังขยายการ Outsource สู่ประเทศที่สามมากขึ้น ประเทศไทยก็ยังมีความจำเป็นต้องมีนโยบายเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันได้จนกว่าเราจะพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ระดับ Innovation-driven ซึ่งเป็นเหตุผลที่เราจำเป็นต้องมีนโยบายไอซีทีฉบับสั้น คือ 1-4 ปี เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคเศรษฐกิจสามารถพัฒนาและดำเนินการอย่างมีผลิตภาพในสภาพปัจจุบันต่อไปได้อย่างมั่นคงอีกระยะหนึ่ง

กระแสการเปลี่ยนแปลงสู่การทำธุรกิจในศตวรรษที่ 21

การลดความเลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี หรือช่องว่างทางดิจิตอล หรือ Digital Divide แต่เดิมเราให้ความสำคัญด้านความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการโทรคมนาคมพื้นฐาน และอินเทอร์เน็ต สำหรับกลุ่มคนด้อยโอกาส หรือผู้อยู่ในชนบทที่ห่างไกลความเจริญ ปัญหาของความไม่เท่าเทียมกันแก้ได้ด้วยวิธีทางเศรษฐศาสตร์และทางการเมือง อาจตรากฎหมาย หรือแม้แต่การมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่อง การทบทวนเรื่องพันธะการให้บริการอย่างทั่วถึง (Universal Service Obligation, USO) หรือนโยบายอื่นที่คล้ายกัน แต่ในทุกวันนี้ มีความรู้สึกว่าจุดอันตรายของ Digital Divide ไม่ใช่มาจากความเลื่อมล้ำทางดิจิตอลในบริบทที่กล่าวข้างต้น แต่กลายเป็นความไม่เข้าใจดิจิตอลในกลุ่มผู้บริหารที่มีอำนาจกำหนดนโยบายของประเทศ ขององค์กร และของสถาบัน เนื่องจากบุคคลกลุ่มนี้ มีบทบาทในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม การศึกษา และการเมือง และในศตวรรตที่ 21 นี้ การพัฒนาทุกเรื่อง ต้องอาศัยพื้นฐานของความเข้าใจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที

Umair Haque นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง เคยเขียนไว้ใน Harvard Business School เรื่อง “User’s Guide to 21st Century Economics” ว่า ผลจากภาวะทดถอยทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2009 ทำให้เราต้องคิดทบทวนการทำธุรกิจใหม่ที่เหมาะกับศตวรรษที่ 21 เหตุการณ์ทางเศรษฐกิจโลกของปี 2009 เปรียบเสมือนรอยขาดบนผืนผ้า ที่เราต้องใช้เวลาปะชุนและซ่อมแซมไม่น้อยกว่าครึ่งทศวรรษจากนี้ไป และกล่าวว่าแนวคิดการทำธุรกิจของศตวรรษที่ 20 ไม่เหมาะกับสภาพเศรษฐกิจในยุคของศวตรรษที่ 21 อย่างแน่นอน ผู้บริหารทุกระดับต้องเริ่มให้ความสำคัญกับการสร้างองค์กรที่เหมาะกับศตวรรษที่ 21 ที่จะช่วยสร้างความได้เปรียบ จากกฏกติกาด้านบริหารชุดใหม่ ท่านยังบอกว่า เราต้องเริ่มนับถอยหลังแล้ว และไม่มีเวลาเหลือมากแล้ว องค์กรที่ยังไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ไม่เพียงแต่จะพบว่าธุรกิจไม่มีโอกาสเติบโตได้เหมือนเมื่อก่อน แต่ยังอาจถึงขั้นสูญสลายได้ ที่เป็นเช่นนี้ Dr. Umair Haque บอกว่า เรากำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เป็นปรากฎการณ์ของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการออม การบริโภค และการลงทุน ควบคู่กับการพัฒนาไอซีที ปรากฎการณ์ของปี 2009 ไม่ใช่เป็นการปรับตัวของเศรษฐกิจโลก แต่เป็นการจากไปของธุรกิจแบบเดิม ๆ และเป็นการปฎิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ที่จะอยู่กับเราไปอีกนาน เศรษฐกิจในยุคเดิมถูกสร้างอยู่บนฐานของการบริโภคที่เกินความจำเป็น (Overconsumption) การผลิตที่มีต้นทุนต่ำกว่าความเป็นจริง การแข่งขันระหว่างธุรกิจขนาดเดียวกัน และบนข้อสมมุติฐานว่าระบบเศรษฐกิจมหภาคมีเสถียรภาพ ข่าวร้ายคือ ทั้งหมดที่กล่าวได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว ความเป็นจริงคือ อุตสาหกรรมของศตวรรษที่ 20 กำลังจะหมดยุคไป ธุรกิจไม่ว่าจะขนาดใด ต่างมีโอกาสล้มหายตายจากไปได้ เว้นเสียแต่ว่า จะมีการปรับตัวทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ นักการตลาดชั้นนำของวันใหม่กำลังเร่งกำหนดกฎเกณฑ์ของธุรกิจใหม่ ที่จะตัดสินความเป็นความตายของธุรกิจได้ Dr. Haque ได้ชี้ทางว่า กฎกติกาของธุรกิจชุดใหม่จะถูกสร้างขึ้นจากแนวคิดดังต่อไปนี้
  1. นักการตลาดต้องตระหนักว่า ในสถาวะการณ์ที่การบริโภคเริ่มทดถอย อันเนื่องมาจากความผันผวนของเหตุการณ์ในทุกเรื่อง ทำให้แนววิธีการตลาดของศตวรรษที่ 20 ล้าสมัย ในความคิดเดิม การตลาด เป็นการกระตุ้นให้เกิดความต้องการ (Pusher) จะโดยวิธีโฆษณาชวนเชื่อ หรือวิธีจูงใจอื่น ๆ แต่ความเป็นจริงคือ ทุกโรงงานต่างผลิตยาสีฟัน และแปลงสีฟันได้ดีเหมือนกัน และถูกเหมือนกัน ไม่มีความแตกต่างใด ๆ ที่มีนัยสำคัญ จากนี้ไป นักการตลาดต้องสามารถสร้างคุณค่าที่แท้จริง (Real value) ผู้บริโภคของศตวรรษใหม่จะไม่ซื้อเพราะถูกชักจูงให้เชื่อ แต่จะซื้อบนพื้นฐานของคุณค่าของสินค้าและบริการ
  2. การจัดจำหน่ายสินค้าและบริการผ่านช่องการตลาดจำนวนมาก ๆ อย่างอดีตจะไม่บังเกิดผลอีก เนื่องจากห่วงโซ่คุณค่าเริ่มเปลี่ยน จากการที่ผู้บริโภคมีบทบาทมากขึ้นภายในโซ่คุณค่า ช่องทางขายทางเดียว คือจากผู้จำหน่ายไปสู่ผู้บริโภคจะไม่ก่อเกิดผลเหมือนอดีต แต่ช่องทางจำหน่ายแบบสองทาง (Two-way channels) จะเป็นรูปแบบใหม่ ช่องทางหนึ่งเป็นช่องทางของสินค้าและบริการ และอีกช่องทางหนึ่งเป็นทางไหลของข้อมูลข่าวสารระหว่างธุรกกิจ ผู้บริโภค และชุมชน เป็นการสร้างวัฒนธรรมของการร่วมสร้างคุณค่า (Co-creation of value)
  3. การผลิตเพื่อให้ได้ Economies of scale กลายเป็นอดีตไป ผู้บริโภคจะเรียกร้อง Customization และ Personalization เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่การบริโภค Mass products จะลดน้อยลง จะโดยการบีบรัดในเชิงเศรษฐกิจ หรือเป็นเพราะรสนิยมที่เปลี่ยนไป และผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ก็ตาม แต่ความเป็นจริงคือ ผู้ผลิตรายใด ที่สามารถปรับเปลี่ยนจาก Economies of scale มาเป็น Economies of scope ได้จะเป็นผู้ชนะ
  4. แนวคิดการทำยุทธศาสตร์จะเปลี่ยนไป ในยุคเก่า เป้าหมายของกลยุทธ์คือฆ่าขู่แข่งเมื่อมีโอกาส ซึ่งเป็นเกมส์ที่ต้องมีผู้แพ้ผู้ชนะ แต่มาในศตวรรษที่ 21 เริ่มยอมรับมากขึ้นว่า ยุทธศาสตร์แบบแพ้แบบชนะนั้น สุดท้ายจะไม่มีผู้ชนะที่ยั่งยืน ความยั่งยืนเกิดขึ้นได้ เมื่อมีแต่ผู้ชนะ สมรรถนะของการทำงานร่วมกัน (Collaborative competency) ช่วยสร้างผู้ชนะที่ยั่งยืนได้
  5. นวัตกรรมเป็นเรื่องสำคัญในทุกยุคทุกสมัย แต่ในศตวรรษที่ 20 นวัตกรรมส่วนใหญ่เป็นเรื่องการปรับปรุงกระบวนการทำงาน การสร้างสินค้าใหม่ หรือบริการใหม่ นักธุรกิจรุ่นใหม่จะพบว่า การสร้างนวัตกรรมในบริบทที่กล่าวข้างต้น ไม่สามารถจะเอาตัวรอดได้ในศตวรรษที่ 21 เพราะอายุสินค้าและบริการสั้นลง คู่แข่งขันมีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากการรวมตัวของเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และพัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ความอยู่รอดในยุคใหม่ เกิดจากความสามารถสร้างนวัตกรรมระดับสูงขึ้น ประกอบด้วยทักษะการสร้างนวัตกรรมด้านรูปแบบธุรกิจ (Business Model) นวัตกรรมด้านยุทธศาสตร์ และการบริหาร

เมื่อเราเริ่มเข้าใจและเชื่อในสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์พยายามชี้แนะให้เราตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในโลก เราจะเริ่มเข้าใจว่า ทำไมนักวิชาการจึงได้ให้ความสำคัญกับวิทยาการ และศาสตร์กลุ่มใหม่ ๆ เช่น Service Science, Social Business, Service-value network, Service Value Chain, Dual Supply Chain และอื่น ๆ วิศวกรซอฟต์แวร์ก็คงจะเริ่มเข้าใจว่า ทำไมเทคโนโลยีสื่อสังคม บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต สถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์เชิงบริการ Open APIs, Social analytic, Cloud computing และอื่น ๆ มีบทบาทสำคัญอย่างไร ทั้งหมดที่กล่าวจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้บริหารในทุกภาคส่วน เพื่อการปรับปรุงองค์กรของตนเอง แต่ว่า ผู้บริหารจะไม่ตระหนักจึงความสำคัญในสิ่งที่กล่าวเลย ถ้าไม่รู้ว่าไอซีทีคืออะไร และสำคัญอย่างไร ดังนั้น ภาวะคุกคามที่สำคัญจึงเป็นเรื่องของ Digital Divide ในส่วนของผู้บริหาร ความไม่เข้าใจอิทธิพลของไอซีที ทำให้เชื่อว่ารูปแบบของธุรกิจยุคศตวรรษที่  20 ยังคงใช้ได้ดี และใช้ได้อีกนานแสนนาน Dr. Umair Haque ได้กล่าวกำชับว่า เวลาของนักธุรกิจมีน้อยมากแล้ว อย่างน้อย ณ เวลานี้ ต้องเริ่มคิดที่จะปฎิบัติการเปลี่ยนแปลง หรือหาแนวทางปรับเปลี่ยยน อย่างน้อย 2-3 เรื่อง ใน 5 เรื่องที่กล่าวข้างต้น มิฉะนั้น ไม่ต้องถามว่าจะสร้างศักยภาพการแข่งขันได้ไหม แต่ควรถามว่าธุรกิจมีโอกาสรอดอีกนานแค่ไหน

Saturday, June 18, 2011

วิเคราะห์ ASEAN ICT Master Plan

แผนแม่บทไอซีทีของอาเซียน 2015 (บทแปลภาษาไทย)

วันนี้ขอพูดเรื่องแผนแม่บทไอซีทีของอาเซียน 2015 สักหน่อย เป็นแผน 5 ปี
แผนแม่บทไอซีทีของอาเซียน 2015 มี 6 ยุทธศาสตร์ ผมจะวิเคราะห์ประเด็นหลัก ๆ ที่น่าสนใจ (ข้อความที่ปรากฎอยู่ในวงเล็บ เป็นข้อสังเกตของผมเอง)
  1. อาเซียนเน้นเรื่องการเชื่อมโครงสร้างพื้นฐานด้านบรอดแบนด์ระหว่างประชาคมอาเซียน โดยมาตรการทำให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความมั่นคง ปลอดภัย และมีค่าใช้จ่ายไม่แพง ตั้งใจทำให้เกิดเป็น ASEAN Broadband Corridor เพื่อสนับสนุนด้านการค้าข้ามพรมแดน (ถ้าประเทศสมาชิกหลัก ๆ เช่นสิงคโปร์ มาเลเซีย หรือแม้แต่เวียตนามเอง สามารถให้บริการบรอดแบนด์ที่มีคุณภาพได้ภายในช่วง 5 ปีข้างหน้า แต่ถ้าประเทศไทยยังมัวเล่นละครกันอยู่ต่อไป พวกเราคงพลาดโอกาสอย่างน่าเสียดาย) ในส่วนของยุทธศาสตร์นี้ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ 4 ของแผนแม่บท ยังมีเรื่องของ MRA (Mutual Recognition Agreement) หรือคนไทยเรียกว่า ข้อตกลงยอมรับร่วมวิชาชีพ เข้าใจว่า Telsom คงจะผลักดันให้วิชาชีพไอซีทีเป็นสาขาเพิ่มจาก 7 สาขาแรกที่ประกาศไปแล้ว ดังนั้น การเคลื่อนไหวแรงงานด้านไอซีทีอย่างเสรีภายในประชาคมอาเซียก็จะเป็นประเด็นที่พวกเราต้องให้ความสำคัญ เพราะถ้าเราไม่มีการเตรียมตัว และบริหารจัดการไม่ดี เราอาจมีปัญหาด้าน Knowledge worker สายไอที แต่ปัญหาจะตรงกันข้ามกับแรงงานต่างด้าว หมายความว่า ผู้เชี่ยวชาญฝีมือดีของไทยรุ่นใหม่จะเคลื่อนย้ายไปต่างประเทศ และแรงงานแบบ Low skill จะทะลักเข้ามาเมืองไทย เกิดปัญหาสองต่อ คือ Low-end ICT workers จะล้นตลาด ในขนาดที่ High-end ICT workers จะขาดอย่างรุนแรง ทำให้ค่าแรงระดับ High-end จะเพิ่มสูงขึ้น จนเสียเปรียบการแข่งขันได้)
  2. ยุทธศาสตร์ต่อไป คือยุทธศาสตร์ที่ 6 (ผมไม่บรรยายเรียงตามเบอร์ของยุทธศาสตร์ แต่จะเรียบเรียงตามเนื้อหา) เป็นยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า Digital Divide คือการแก้ปัญหาความเลื่อมล้ำการเข้าถึงไอซีที ซึ่งแตกต่างกับที่เราเคยรู้มา เมื่อยุค 10-20 ปีก่อน เป็นความพยายามให้ผู้ที่ด้อยโอกาส และประชาชนตามชนบทให้มีโอกาสเข้าถึงการบริการโทรคมนาคมพื้นฐาน แล้วต่อมาพยายามให้เข้าถึงอินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีดิจิตอลอื่น ๆ แต่งวดนี้ เจตนาต้องการให้ประชาชนอาเซียนส่วนใหญ่ สามารถมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใช้เข้าร่วมในสังคมเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และเครือข่ายสังคมให้มากที่สุด โดยจะทำให้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องมีราคาถูก ค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตมีราคาถูก เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์ในกล่าวมาในข้อแรกได้ รองคิดดู ภายใน 5-10 ปีข้างหน้า ประชาชนอาเซียนกว่า 800 ล้านคน หรือประมาณ 8.8% ของประชาชนทั้งโลก จะเชื่อมต่อกันเป็นตลาดเดียว ผู้ที่จะได้ประโยชน์ คือประเทศที่ได้เตรียมความพร้อมในทุกด้าน การศึกษา การตลาด การพัฒนาทุนมนุษย์ การสร้างทักษะและศักยภาพพร้อมที่จะแข่งขัน รวมทั้งพร้อมด้วยภาษากลางของอาเซียน คือภาษาอังกฤษ)
  3. ยุทธศาสตร์ที่น่าสนใจ คือยุทธศาสตร์ข้อที่ 1 ซึ่งได้แก่ Economic Transformation คงเข้าใจนะครับ ว่า ถ้ายุทธศาสตร์ข้อที่ 4 และ 6 ที่กล่าวข้างต้นทำได้สำเร็จ การปฎิรูปเศรษฐกิจภายในอาเซียน ต้องมาจากอิทธิพลไอซีทีอย่างแน่นอน (ประเทศใดที่พร้อมเรื่องไอซีที ก็จะได้เปรียบกว่า เราก็รู้อยู่ว่า การปฎิรูปธุรกิจภายใต้อิทธิพลไอซีที ก็คือเรื่องของ Service Economy ผู้ใดมีทักษะในด้านนวัตกรรมบริการ ก็จะได้เปรียบในเชิงแข่งขันในเวทีอาเซียนทุกรูปแบบ ยุทธศาสตร์ทั้ง 3 ข้อ ที่ได้กล่าวมาคงจะเห็นชัดเจนว่า จะเตรียมตัวรองรับการทำธุรกรรมแบบ Social Business ที่เน้นความร่วมมือกันเป็น Service Value Network เป็น eBusiness ของศตวรรษที่ 21 ที่ชุมชนมีส่วนร่วม เป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ที่มีประชาชนเป็น co-creators of value เมื่อเป็นเช่นนี้ Goods-based Value chain ของ Michael Porter จะถูกปรับเปลี่ยนเป็น Service-based Value Chain ข้อต่อไป คือยุทธศาสตร์ที่ 2 ที่จะกล่าวต่อไป ยืนยันข้อสังเกตนี้ได้)
  4. ยุทธศาสตร์ที่ 2 น่าสนใจครับ เพราะเน้นเรื่องการเสริมสร้างพลังให้ประชาชน (People Empowerment) และมีส่วนร่วมกับประชาชน (People Engagement) (พวกเราก็รู้กันอยู่ว่า เครือข่ายสังคมส่งเสริมให้มีการร่วมมือกัน-Collaboration มีส่วนร่วมกัน-Participation และแลกเปลี่ยนแบ่งปันคุณค่าระหว่างกัน-Share-value ซึ่งทั้งสามข้อนี้เป็นพื้นฐานของแนวคิดของ Service Science ยุทธศาสตร์ข้อที่ 2 นี้ ส่งเสริมให้เกิดมีวัฒนธรรมใหม่ที่จะร่วมกันปฎิรูปเศรษฐกิจทั้งระบบโดยอาศัยไอซีทีและโครงสร้างบรอนแบนด์ความเร็วสูง สำหรับประเทศไทย เราขะถือโอกาสนี้ ขยายตลาด OTOP ไปทั่วถึงประชาชนทั้ง 800 ล้านคนได้ไหม ด้วยหลักคิดของ Service Science, Service Management และ Service Engineering)
  5. ยุทธศาสตร์ที่ 3 เป็นเรื่องเกี่ยวกับ Human Capital Development (ขณะนี้ เป็นช่วงจังหวะที่ทั่วทั้งโลกกำลังกำหนด Attributes ของบัณฑิตรุ่นใหม่ของศตวรรษที่ 21 เพราะรู้ว่ากระบวนการเรียนการสอนของยุคศวตรรษที่ 20 ไม่เหมาะกับเยาวชนรุ่นใหม่ จึงพร้อมใจกันให้ความสนใจเรื่องของ NQF (National Quality Framework) การเรียนการสอนที่ต้องปฎิวัติกันใหม่หมด หลายคนเชื่อว่า จะเป็นแนวทางของ Blended Learning ที่ผสมผสานระหว่าง Traditional Face-to-face learning กับ Social Learning กับ Distributed Learning กับอื่น ๆ ที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานของเทคโนโลยี Web 2.0 และ Web 3.0) หัวใจของยุทธศาสตร์ที่ 3 นี้ เป็นการส่งเสริมให้เกิดมีเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้ทั่วทั้งอาเซียน อาศัยยุทธศาสตร์ข้อ  2,4 และ 6 มีการเสนอมาตรการของการส่งเสริมให้มี Center of Excellence ในสาขาต่าง ๆ และสร้างเป็น CoE network ของอาเซียน มีแผนการตั้งกองทุนการศึกษาเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา High skill ในวงกว้าง (เป็นโอกาสที่ดีสำหรับสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทย ที่จะรีบเร่งวางแผนกลยุทธ์ที่จะเข้ามารับคลืนลูกใหม่ลูกนี้ แต่ต้องปรับแนวคิดและยอมรับแนวคิดของ Pedagogy ที่เหมาะกับการเรียนรู้ของเยาวชนยุคศตวรรษที่ 21)
  6. ยุทธศาสตร์ที่ 5 เป็นเรื่องการส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรม และ R&D (ถ้าจะเพิ่มผลิตภาพ-Productivity ของอาเซียนทั้งแผง เพื่อแข่งขันกับภูมิภาคอื่นได้ การเพิ่งพาอาศัยเทคโนโลยีตะวันตกเพียงอย่างเดียวคงไม่เกิดผล การขายแรงงานเพื่อ Outsource การผลิตก็คงไม่สามารถเพิ่มผลิตภาพได้เช่นกัน มีทางเดียวคือต้องทำให้ประชาชนอาเซียนมีความสามารถในด้านนวัตกรรม และวิจัยพัฒนา โดยเฉพาะนวัตกรรมด้านกระบวนการบริการ ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญของการปฎิรูปเศรษฐกิจภายใต้ไอซีที)
พอมองเห็นภาพไหมครับ ว่าหลังปี 2015 การรวมตัวของอาเซียนในส่วน AEC (ASEAN Economic Committee) จะน่าสนใจเพียงใด ที่สำคัญ มันเป็นทั้งโอกาส และภาวะคุกคาม เป็นโอกาสสำหรับประเทศที่ได้เตรียมความพร้อม เป็นภาวะคุกคามสำหรับประเทศที่ยังไม่พร้อม ยังมองไม่ออกว่า ประเทศไทยจะอยู่ส่วนพร้อม หรือส่วนไม่พร้อม คงต้องรอดูหลังการเลือกตั้งครับ