Thursday, March 31, 2011

ศักยภาพการแข่งขันด้านไอซีทีของประเทศไทย

ศักยภาพการแข่งขันด้านไอซีที เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินศักยภาพการแข่งขันโดยรวม โดยเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก มีหลายค่ายที่ทำการศึกษาในทำนองนี้ทุกปี เพื่อแสดงแนวโน้มการพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละประเทศ ผลการประเมินทำให้เราได้รับรู้พัฒนาการของประเทศ เปรียบเทียบกับประเทศอื่น รายงานผลการศึกษาของ World Economic Forum (WEF): Global Competitiveness ซึ่งเป็นหนึ่งในหลาย ๆ รายงานที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญ สำหรับ ปี 2010-2011 ได้จัดลำดับความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่ที่ 38 จากจำนวน 133 ประเทศ ตกลงมาจากปีก่อน 2 ขั้น คือจากลำดับที่ 36 เป็น 38 แสดงว่าความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ซึ่งผู้ใหญ่ในรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ให้ความสำคัญ และพยายามหามาตรการแก้ไข

WEF กำหนดแนวทางการจัดลำดับเป็นสามขั้น ขั้นพื้นฐานเรียกว่า Factor Driven ขั้นกลางคือ Efficiency Driven และขั้นสูงคือ Innovation Driven เนื่องจากในจำนวน 133 ประเทศ ความแตกต่างในด้านพัฒนาการห่างกันมากระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้ว กับประเทศที่กำลังพัฒนา WEF จึงได้วางแนวทางว่า ศักยภาพของการแข่งขันในภาพรวม ต้องเริ่มต้นจากการพัฒนาศักยภาพพื้นฐานก่อน แล้วจึงค่อย ๆ พัฒนาไปสู่ระดับกลาง และระดับสูง โดยกำหนดให้ศักยภาพการแข่งขันขั้นพื้นฐาน ถูกประเมินด้วยเรื่องศักยภาพของสถาบันหลัก ๆ ของประเทศ เช่นกระบวนการบริหารราชการแผ่นดิน และการบริการประชาชนของภาครัฐ ระบบภาษี การจัดการเรื่องทุจริตคอรัปชั่น การบริหารจัดการด้านงบประมาณ ศักยภาพในการบริการด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษาพื้นฐาน ด้านอาชญากรรม ไปจนถึงความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ จะเห็นว่า ประเทศที่ยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มระดับพื้นฐานนั้น มักจะมีระบบเศรษฐกิจที่เติบโตจากภาคเกษตรกรรม และการขายแรงงานที่มีค่าแรงต่ำ ประเทศที่จะพัฒนาศักยภาพการแข่งขันสู่ระดับกลาง ต้องมีคะแนนผ่านระดับพื้นฐานก่อน และเมื่อพัฒนาต่อเนื่องจนได้คะแนนในกลุ่มตัวชี้วัดระดับกลางได้ดี ก็จะนำไปสู่การพัฒนาถึงขั้นระดับสูงได้

ตัวชี้วัดในระดับกลาง ที่เรียกว่า Efficiency Driven เป็นการวัดคุณภาพของการศึกษา โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา วัดความสามารถของประเทศในด้านการตลาด และความสามารถในการบริหารจัดการแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ ความสามารถในการพัฒนาตลาดทุน รวมทั้งความสามารถในการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิผล การประเมินศักยภาพการแข่งขันของปีนี้ ไทยถูกจัดให้อยู่ในระดับกลาง คือระดับ Efficiency Driven เช่นเดียวกันกับประเทศมาเลเซีย แต่ไทยอยู่ในลำดับต่ำกว่า มาเลเซียอยู่ลำดับที่ 26 ประเทศสิงคโปร์ได้เข้าไปอยู่ในระดับสูง คือระดับ Innovation Driven  ด้วยคะแนนเป็นลำดับ 3 ของโลก รองจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และประเทศสวีเดน ในระดับ Innovation Driven นั้น WEF วัดด้วยตัวชี้วัดที่เป็นความสามารถการทำธุรกิจด้วยระบบที่สลับสับซ้อน อาศัยความรู้และประสบการณ์ระดับสูง มีเครือข่ายที่กว้างขวาง และวัดที่ความสามารถในการสร้างนวัตกรรมด้วย

สำหรับศักยภาพด้านไอซีที WEF กำหนดว่า ประเทศที่จะมีศักยภาพด้านไอซีทีในขั้นสูง ต้องมีคะแนนไม่ต่ำกว่า 5.0 จากคะแนะเต็ม 7.0 ประเทศไทยถูกประเมินให้มีคะแนนเพียง 3.6 เป็นอันดับที่ 68  ขณะที่มาเลเซียมีคะแนน 4.2 เป็นอันดับที่ 40 และสิงคโปร์ 5.3 และมีศักยภาพด้านไอซีทีในลำดับที่ 11 จากจำนวน 133 ประเทศ ตัวชี้วัดของศักยภาพไอซีที ประกอบด้วย ความสามารถในการปรับใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ความสามารถในการดูดซับและนำเทคโนโลยีชั้นสูงไปใช้ในองค์กร ความสามารถในการดึงดูดการลงทุนด้านเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และการดูดซับเทคโนโลยีจากต่างประเทศ การพัฒนาศักยภาพการใช้อินเทอร์เน็ตของประเทศ รวมทั้งการพัฒนาบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตด้วย

เมื่อพิจารณาจากตัวชี้วัดที่ไทยได้คะแนนต่ำนั้น พบว่า เรายังไม่สามารถปรับใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และดูดซับนำเทคโนโลยีระดับสูงไปใช้ในองค์กรดีเท่าประเทศหลาย ๆ ประเทศ ผลการประเมินของ WEF สอดคล้องกับผลการประกวด Thailand ICT Excellence Awards 2010 ของ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA)  เมื่อเร็ว ๆ นี้ การประกวดผลงานระบบไอซีทีดังกล่าว พบว่าทั้งประเทศมีองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชนส่งผลงานเข้าประกวด เพียงประมาณ 50 โครงการ ถึงแม้จะมีจำนวนมากกว่าปีที่แล้วกว่าหนึ่งเท่าตัวก็ตาม ก็ยังนับว่าน้อยอย่างไม่น่าเชื่อ ข้อมูลอีกชุดหนึ่งที่ยืนยันในจุดอ่อนของไทยที่กล่าว คือผลการสำรวจการใช้ไอซีทีของประเทศไทย ที่จัดทำโดยกระทรวงไอซีที ร่วมกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสมาคมที่เกี่ยวกับไอซีทีหลายสมาคม พบว่า อัตราส่วนการลงทุนและใช้จ่ายด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และการบริการไอซีที สวนทางกับประเทศที่พัฒนาแล้ว กล่าวคือ ไทยได้ลงทุนในฮาร์ดแวร์ มากกว่าซอฟต์แวร์ และบริการ ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาจะลงทุนมากด้านบริการ ซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ตามลำดับ การลงทุนฮาร์ดแวร์นั้น ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถดูดซับเทคโนโลยีเพื่อก่อเกิดประโยชน์ได้โดยลำพัง การลงทุนซอฟต์แวร์ กับการบริการต่างหาก ที่เป็นการลงทุนเกี่ยวกับความรู้ จะสามารถส่งผลให้เกิดการเสริมสร้างศักยภาพของประเทศได้

TMG หรือ Telecommunications Management Group ได้ให้คำอธิบายความหมายของศักยภาพด้านไอซีทีในเชิงแข่งขันว่า เป็นเรื่องความสามารถของประเทศที่จะใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้เกิดประสิทธิผลในการเข้าร่วมแข่งขันในระบบเศรษฐกิจระดับโลก หรือพูดอีกนัยหนึ่ง ความมีศักยภาพด้านไอซีทีในเชิงแข่งขัน หมายถึงความสามารถในการใช้ประโยชน์สูงสุดจากไอซีที เพื่อบังเกิดผลสัมฤทธิ์จากพาณิชยการที่อาศัยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น ความอ่อนแอในด้านการปรับใช้เทคโนโลยีระดับสูง ไม่เพียงแต่ทำให้เราด้อยศักยภาพในด้านการแข่งขันภายในภาคธุรกิจไอซีที แต่ยังทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งระบบอ่อนแอตามไปด้วย ศักยภาพด้านไอซีทีเพื่อการแข่งขัน จึงเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างศักยภาพเพื่อการแข่งขันโดยรวม WEF ได้ชี้จุดอ่อนของไทยให้เราเห็น และเราก็พอเข้าใจว่า เราต้องปรับปรุงส่วนใดบ้าง ปีที่แล้ว เราลดลำดับความสามารถในการแข่งขันลงสองขั้น ขออย่าให้เราต้องถอยหลังมากกว่านี้อีกเลย ในขณะที่ประเทศที่ตามเรามาติด ๆ กำลังเร่งพัฒนาอย่าเอาจริงเอาจัง ไม่เพียงแต่เราต้องพยายามปรับขั้นของศักยภาพการแข่งขันจากระดับ Efficiency Driven สู่ระดับสูงสุดที่ Innovation Driven เรายังต้องพยายามรักษาลำดับไม่ให้คนที่ล้าหลังกว่าเรา มาเซงเราไปอีกเหมือนปีที่ผ่านมา